สาหร่ายพวงองุ่น พืชน้ำเค็ม เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ราคา 500 บาท/กก.

“สาหร่ายพวงองุ่น” เป็นพืชน้ำเค็มอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม ในกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องจากอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูง มีส่วนประกอบของเกลือแร่และวิตามินหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิตามินบี1 บี2 วิตามินอี และมีเบต้าแคโรทีน อีกทั้งยังอุดมไปด้วยไอโอดีน ฟอสฟอรัส สังกะสี แคลเซียม และกรดอะมิโนจำเป็นเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับไข่และโปรตีนถั่วเหลือง จัดเป็น 1 ใน 5 อาหารแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพ แต่ทว่าเกษตรกรผู้ปลูกยังมีไม่มาก ทำให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ได้มีการจัดอบรมเเละส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูก “สาหร่ายพวงองุ่น” เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร

สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายที่แพร่กระจายในเขตร้อนแถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งประเทศหลัก ๆ ที่พบสาหร่ายชนิดนี้ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น ไทย และปาปัวนิวกินี นอกจากนี้ยังพบการแพร่กระจายตามชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ โมซัมบิก มาดากัสการ์ แทนซาเนีย เคนยา มอริเชียสและโซมาเลีย สำหรับประเทศไทยนั้นพบมากตามชายฝั่งทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก แต่ในปัจจุบันได้มีการแพร่ขยายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยตอนบน

กรมประมง ได้มีการริเริ่มเลี้ยงสาหร่ายชนิดนี้ตั้งแต่ปี 2536 โดยสถานีวิจัยประมงชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี ในขณะนั้นรับพันธุ์มาจากอาจารย์กาญจนา ลิ่วมโนมนต์ คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับมาเพื่อปรับปรุงสภาพน้ำทางชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ต่อมาในปี 2557 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ได้รับมอบหมายให้พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงเพื่อการขยายผลเชิงพาณิชย์ ศูนย์จึงนำองค์ความรู้ที่สะสมมามากกว่า 10 ปี พัฒนารูปแบบการผลิตสาหร่ายพวงองุ่นแบบครบวงจร จนในปัจจุบันสามารถเลี้ยงให้มีปริมาณมากและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สม่ำเสมอ คุณภาพดี สะอาด พร้อมที่จะขยายผลเชิงพาณิชย์ สู่เกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงสร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป

คุณอนันต์ ศรีนวล หรือคุณเอ็ม เจ้าของฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นคุณเอ็ม เลขที่ 118 หมู่ 1 ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี (โทร. 08-9379-4473) ให้ข้อมูลกับทางเกษตรกรก้าวหน้าว่า เริ่มการทำฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นมาได้ 2 ปีแล้ว เดิมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กรมประมง ในศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี ตอนนั้นผู้อำนวยการศูนย์ ท่านได้สาหร่ายพันธุ์ตัวใหม่ที่พึ่งนำเข้ามา ซึ่งจริง ๆ สาหร่ายพวงองุ่นมีมานานแล้ว แต่พันธุ์ที่ได้มาคือเป็นพันธุ์ที่ท่านนำไปขยายพันธุ์ให้ลี้ยงแบบเชิงพาณิชย์ได้ ท่านเลยชวนให้มาทำฟาร์มตัวอย่าง ตรงนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มทำฟาร์ม

Advertisement

“เริ่มแรกก็ทำฟาร์มควบคู่ไปกับการทำงานประจำ จนสุดท้ายก็ลาออกมาทำฟาร์มเป็นหลัก สาเหตุที่ทำให้ลาออกมาทำฟาร์มแบบเต็มตัว เนื่องจากว่าสาหร่ายตัวนี้เป็นสาหร่ายที่ต้องการการดูแลสูง ต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ การที่จะทำงานไปด้วยและทำฟาร์มไปด้วยจะทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะดูแลได้ ต้องคอยดูแลทั้งวัน เปลี่ยนน้ำ ดูสีของตัวสาหร่าย ดูสภาพอากาศ ถ้าทำงานที่กรมด้วยก็จะดูแลได้ไม่ดีพอ”

12718209_571079553069578_8660635807195083589_n

สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายทะเลสีเขียว มีลักษณะเป็นเม็ดกลม เล็กรวมกันเป็นช่อคล้ายพวงองุ่น ซึ่งสาหร่ายชนิดนี้มีส่วนคล้ายลำต้นที่เรียกว่า ทัลลัส เป็นท่อติดต่อกันตลอด ประกอบด้วยส่วนที่คืบคลานไปตามพื้นและแตกแขนงได้ มีส่วนคล้ายรากเป็นฝอยทำหน้าที่ยึดเกาะ มีส่วนของแขนงตั้งตรงสูง 1-10 เซนติเมตร ที่จะประกอบด้วยรามูลัสทำหน้าที่คล้ายใบล้อมรอบแต่ละรามูลัส มีก้านสั้น ๆ และส่วนปลายมีลักษณะเป็นเม็ดกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 มิลลิเมตร เบียดแน่นรอบแขนงทำให้มีลักษณะคล้ายช่อองุ่น สามารถปลูกได้หลายพื้นที่ ซึ่งคุณเอ็มเองก็มีลูกค้าในหลายจังหวัดที่ทดลองนำไปปลูก ก็ปลูกขึ้น แต่จะขึ้นเฉพาะช่วงหน้าหนาว พอหลุดหน้าหนาวไปแล้วที่อื่นก็จะปลูกไม่ขึ้นนอกจากเพชรบุรี อาจจะเป็นที่สภาพน้ำ และอากาศของที่นี้น่าจะเหมาะกับการปลูกสาหร่ายพวงองุ่นมากกว่าที่อื่น หากจะให้ดีก็ควรปลูกในพื้นที่ติดชายฝั่ง เนื่องจากเป็นสาหร่ายน้ำเค็ม จึงต้องใช้น้ำเค็มในการเลี้ยง ถ้าใช้เกลือทะเลแทนน้ำเค็มมันก็ใช้ได้ แต่จะได้แค่รักษาสภาพ สาหร่ายจะไม่โต เพราะสารอาหารไม่เพียงพอ

Advertisement

“การเลี้ยงสาหร่ายเราสามารถเลือกที่จะปลูกได้ 2 แบบ แบบโปรยพื้นบ่อ กับแบบแขวนแผง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของแต่ละคน อย่างที่ฟาร์มจะปลูกแบบโปรยพื้นบ่อ คือการใช้ทรายรองพื้นบ่อ แล้วปล่อยสาหร่ายลงบ่อได้เลย โชคดีที่ทรายที่นี้เป็นทรายร่วน จึงไม่มีปัญหาเรื่องความสกปรก ปล่อยลงบ่อได้เลย หากเป็นพื้นที่ทรายโคลน หรือทรายสกปก ก็จะแนะนำให้ใช้วิธีปลูกแบบแขวนแผง เพราะสาหร่ายจะได้ไม่สัมผัสกับทรายโดยตรง ระยะเวลาเติบโตของสาหร่ายก็อยู่ที่ประมาณ 45 วัน การดูแลจะยุ่งยากหน่อย คนที่จะปลูกได้ ต้องมีพื้นฐานทางด้านการประมงเพราะต้องคอยดูสีน้ำ ค่าความเค็ม ค่า ph รวมถึงต้องคอยดูแลอุณหภูมิ ถ้าเป็นเกษตรกรที่ไม่เคยมีความรู้จะปลูกยาก เพราะต้องตรวจสอบตลอด ตรวจทุกวัน จะมีความซับซ้อนมาก”

คุณเอ็มบอกว่าการพัฒนาฟาร์มจะทำแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ทำไปเรื่อย ๆ เนื่องจากสาหร่ายตัวนี้ต้องมีพื้นที่มากถึงจะปลูกได้ดี และพัฒนาได้เร็ว เพราะต้องปลูกแบบเรียงไปเรื่อย ๆ ไม่ให้ซ้ำกัน อีกอย่าง 1 บ่อจะต้องปลูกสาหร่าย 1 ปีแล้วพักบ่อ 1 ปี เนื่องจากสาหร่ายจะดูดซึมแร่ธาตุจากดินหมด หากฝื้นปลูกต่อไป ก็จะได้สาหร่ายที่ไม่มีคุณภาพ จึงต้องทำการพักบ่อ โดยการปล่อยให้บ่อตากแดดทิ้งไว แล้วคอยปล่อยน้ำเข้าน้ำออก เพื่อให้ดินกักธาตุอาหารสะสมไว้ปลูกรุ่นต่อไปได้ ซึ่งสาหร่ายตัวนี้จะบอบบางมาก หากอุณหภูมิหรือค่าอะไรบางอย่างผิดพลาดไป จะทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจะเปลี่ยนเป็นสีแดง การเปลี่ยนเป็นสีแดงคือจะเป็นสีที่เขาโตเต็มวัย ซึ่งจะหมายถึงสาหร่ายแก่จัด ส่วนสีเขียวที่นิยมรับประทานกันนั้นจะเป็นสาหร่ายที่ยังอ่อนอยู่ จริง ๆ สีแดงก็สามารถรับประทานได้แต่คนจะไม่นิยม เพราะสีไม่สวย ดูไม่น่ารับประทานเหมือนสีเขียว ฉะนั้นหากสาหร่ายกลายเป็นสีแดง ก็จะไม่สามารถขายได้ ต้องเททิ้งอย่างเดียว

“ปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกสาหร่ายพวงองุ่น คือระดับความเค็ม ซึ่งความเค็มที่เหมาะสมที่สุดอยู่ระหว่าง 27-33 ส่วนในพันส่วน ส่วนระดับความลึกของบ่อ อยู่ที่จำนวนสาหร่ายและขนาดบ่อ ซึ่งควรให้มีระดับความลึกของน้ำขึ้นอยู่ในระดับที่แสงส่องถึงสาหร่าย หากกรณีปลูกแบบแผง ควรปรับระดับความลึกของแผงให้ต่ำกว่าผิวน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล หากเป็นฤดูร้อนที่มีแสงแดดจัดควรเพิ่มระดับความลึกของแผงสาหร่าย โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส ควรมีค่าความเป็นด่าว ในช่วง 120-140 มิลลิกรัม/ลิตร ถ้าความด่างต่ำจะส่งผลให้สาหร่ายขาดธาตุอาหารและค่าความขุ่นใส ที่อยู่ในช่วง 30-60 เซนติเมตร ความขุ่นที่เกิดจากตะกอนมีผลต่อสาหร่าย โดยตะกอนจะเข้าไปเกาะที่สาหร่ายส่งผลต่อการสังเคราะห์แสง นอกจากนี้ยังบดบังแสงที่ส่องลงไปในน้ำ ทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายลดลง ซึ่งแอมโมเนียก็ไม่ควรต่ำกว่า 0.05 มิลลิกรัม/ลิตร และให้ค่าฟอสเฟตไม่น้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัม/ลิตร โดยค่า pH อยู่ในช่วง 6.3-8.9 จึงจะเหมาะสม”

ส่วนในเรื่องของการเตรียมบ่อและน้ำหากปลูกสาหร่ายในบ่อดิน เป็นบ่อที่ขุดสร้างขึ้นโดยใช้ดินเป็นคันบ่อและพื้นก้นบ่อ ใช้ในการปลูกสาหร่ายทะเลขนาดไม่น้อยกว่า 400 ตารางเมตรหรือหากบ่อคอนกรีต เป็นบ่อที่สร้างขึ้นด้วยอิฐ หรือเหล็กเป็นโคร่งร่าง ฉาบหรือหล่อด้วยซีเมนต์ ส่วนการเตรียมน้ำ น้ำที่ใช้ปลูกสาหร่ายพวงองุ่น ควรเป็นน้ำทะเลธรรมชาติที่สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนจำพวกโลหะหนัก และมีคุณภาพน้ำอยู่ในช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่นเติมน้ำความเค็ม 27-33 ส่วนในพันส่วน ประมาณ 40 เซนติเมตรก่อนนำแผงสาหร่ายลงปลูก

“การเลี้ยงที่ฟาร์มจะปลูกบ่อธรรมดา รองพื้นทรายและเอาสาหร่ายลงได้เลย สาหร่ายจะโตเอง เพียงแต่ต้องดูแลปัจจัยเรื่องน้ำอากาศให้ดี และจะต้องจำให้ได้ว่าบ่อนี้ลงสาหร่ายไว้วันที่เท่าไหร่ ตัดได้วันไหน ซึ่งจะใช้วิธีการวางเป็นแนวตัดสลับกัน เพื่อให้มีสาหร่ายที่ส่งขายได้ต่อเนื่อง พอครบทุก 45 วัน จึงจะเวียนกลับมาตัดแถวเดิมอีกครั้ง จะลงปลูกไม่พร้อมกัน เพราะถ้าสาหร่ายมันแก่พร้อมกัน ตลาดจะหาไม่ทัน ก็ต้องปลูกล็อคหนึ่งเว้น 1 วัน เว้น 5 วัน แบบนี้ จึงจะเก็บได้เรื่อย ๆ ตามออร์เดอร์ ซึ่งสาหร่ายตัวนี้ถือว่ายังใหม่มาก จึงต้องใช้เทคนิคของฟาร์มเอง ผสมกับการดูแลที่ทางประมงให้ข้อมูลมา”

การนำสาหร่ายลงไปปลูกในบ่อ โดยใส่น้ำลงในบ่อให้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นทำการรวบรวมสาหร่ายต้นอ่อน มาแผ่กระจายให้ทั่วพื้นบ่อ ไม่ให้ทับกัน เพื่อจะให้หาอาหารได้เพียงพอ เมื่อปลูกได้ 1 สัปดาห์ จะทำการเพิ่มน้ำให้อยู่ในระดับที่แสงส่องถึง ขึ้นอยู่กับความโปร่งแสงของน้ำ และรักษาระดับความลึกของน้ำประมาณ 60-100 เซนติเมตร ส่วนเรื่องการตรวจสอบความเจริญเติบโตโดยทั่วไปหากสาหร่ายปรับตัวได้ จะเห็นยอดอ่อนภายในเวลา 3-7 วัน โดยระหว่างนี้มีการสุ่มชั่งน้ำหนักและวัดความยาว ทุกสัปดาห์ เมื่อครบ 45 วัน ก็จะถึงเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิต

12932949_571079519736248_1074514931527820384_n

“ระหว่างการปลูกจะมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยการสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยงอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้สาหร่ายได้รับแร่ธาตุสารอาหาร กระตุ้นการเจริญเติบโต ทำให้น้ำหมุนเวียน สาหร่ายสามารถดูดซับอาหารได้ดีขึ้นหรือติดตั้งท่อน้ำเข้าออกแบบมีลิ้นปิดเปิดตามระดับน้ำธรรมชาติ ซึ่งความถี่ในการสูบน้ำเข้า จะขึ้นอยู่กับอายุการเลี้ยงและความหนาแน่นของสาหร่าย เพื่อเพิ่มสารอาหารตามธรรมชาติ ในฤดูฝนหรือช่วงอากาศร้อนจัด ควรติดตั้งเครื่องตีน้ำรอบช้า หรือระบบยกน้ำเพื่อเพิ่มการหมุนเวียนน้ำและป้องกันการแบ่งชั้นของน้ำและติดตั้งท่อระบายน้ำผิวบนออก”

คุณเอ็มบอกว่าที่ฟาร์มจะขายสาหร่ายอยู่ 2 แบบ คือ แบบเด็ดคัดยอดและแบบติดก้าน ซึ่งแบบเด็ดคัดยอดที่ขายทั่วไปพร้อมรับประทานตามตลาด ซึ่งจะแย่งขายเป็นแบ่งเกรด มีทั้งหมด 2 เกรด คือ เกรดเอขายในราคากิโลกรัมละ 500 บาท และเกรดบีราคากิโลกรัมละ 350 บาท จะเป็นการขายส่งให้แม่ค้าคนกลางแถวกรุงเทพฯ ส่วนแบบติดก้านจะขายที่ราคากิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งลงไปขายในภาคใต้ หรือแถบจังหวัดที่ติดทะเล เนื่องจากต้องมีน้ำทะเลเพื่อพักสาหร่ายด้วย ซึ่งแบบนี้คนใต้จะนิยมรับประทาน สาหร่ายแบบตัดก้านจะขายถูกกว่าเนื่องจากไม่ต้องเอามาทำความสะอาดก่อน ส่งให้ลูกค้าได้เลยทันที ถ้าลูกค้ารับไป ก็จะนำไปพักไว้ในน้ำทะเล จากนั้นก็เอามาคัดทำความสะอาดเอง แต่เรื่องของรสชาติของทั้ง 2 แบบรสชาติจะเหมือนกัน เพียงแต่หากพร้อมรับประทานลูกค้ามักจะเลือกแบบตัดยอด ซึ่งตัวที่ขายดีของทางฟาร์มจะเป็นแบบติดก้าน เพราะเริ่มทำแบบติดก้านมาตั้งแต่เริ่มทำฟาร์ม ลูกค้าประจำจึงเยอะกว่า ส่วนแบบเด็ดคัดยอดจะเป็นแค่เสริม ซึ่งตอนนี้ก็ขายอยู่ทั่วประเทศ มีตลาดขายปลีกด้วยขายส่งด้วย อย่างพี่สาวก็จะนำไปออกงานจัดบูทเองบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นจำหน่ายแบบส่งมากกว่า

“สาหร่ายที่ผ่านการคัดแยกแล้ว จะถูกนำไปพักทำความสะอาดในถังสกิมเมอร์ที่บรรจุน้ำเค็มสะอาด 300 ลิตร อัตรา 5 กิโลกรัม/ถัง เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนที่มากับสาหร่าย แล้วค่อยย้ายไปทำความสะอาดครั้งสุดท้าย ก่อนบรรจุลงในถังพักที่ติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำและมีระบบอัลตราไวโอเลตและโอนโซนเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อนส่งขาย ส่วนในเรื่องของพันธุ์สาหร่าย ตอนนี้ทางฟาร์มไม่ได้ขายพันธุ์แล้ว เนื่องจากการเลี้ยงค่อนข้างยุ่งยาก ถ้าเกษตรกรสนใจหรืออยากจะปลูก ต้องติดต่อฟาร์มทะเลตัวอย่างของกรมประมง ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี ซึ่งจะมีการเปิดอบรมเกี่ยวกับการเลี้ยงและการแปรรูปให้ก่อน เพราะว่าหากจะปลูกจริง ๆ ต้องมีความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ ทำไปให้คนกินมันจะยุ่ง หากทำไม่ถูกวิธี” คุณเอ็มกล่าวในที่สุด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image