ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 5 ‘ตามรอยโจร’ (ชมผังบรรจุสมบัติ)

ข่าวลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะในหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อ พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นที่ฮือฮาไปทั่วประเทศ

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชโบราณสถาน อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีกครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”
สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง
เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

เครื่องทองกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วมกันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้

รายงานการเปิดกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ

โดย นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร

ผมได้เดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันที่ 28 กันยายน 2500 เวลา 17.00 น. ถึงอยุธยาเวลา 19.00 น. ตั้งใจว่าจะไปหาผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน แต่ได้ทราบว่าผู้ว่าฯออกตรวจท้องที่ จึงไปพบผู้กำกับการตำรวจหารือว่าจะลงตรวจกรุที่ผู้ร้ายขุดในวันรุ่งขึ้นหรือประการใด ผู้กำกับการตำรวจขอร้องให้ลงตรวจในคืนวันนั้น เพราะได้ทราบจากปากคำของผู้ต้องหาที่จับมาได้ว่าในกรุยังมีของอีกมาก ถึงอย่างไรก็ต้องไปนั่งเฝ้าอารักขากันอยู่แล้ว ควรลงมือทำงานเสียเลย งานจะได้เสร็จไปเสียตอนหนึ่ง เพราะมีงานสืบสวนจับกุมเหลืออยู่อีกมาก

Advertisement

ฉะนั้นในคืนวันที่ 28 กันยายน 2500 เวลา 21.00 น. จึงไปทำการตรวจกรุกัน โดยผมกับเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรอยุธยา 2 คน ลงกรุเก็บสิ่งของ ผู้กำกับการตำรวจพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรับของอยู่ปากกรุ และในการดำเนินงานคราวนี้เราได้วางกติกากันไว้ด้วยว่า ผู้ที่ลงไปในกรุทุกคนแม้แต่ตัวผมเอง เมื่อขึ้นมาจากกรุจะต้องให้ตำรวจตรวจค้นร่างกายก่อนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่าจะไม่ได้ยักยอกสิ่งของอย่างใดไว้

ตามรอย ‘โจรขุดกรุ’

ที่ที่ผู้ร้ายขุดลงไปนั้น อยู่ตรงศูนย์กลางในห้ององค์พระปรางค์ ตรงกรุพอดี ผู้ร้ายเปิดขนศิลาแลงลงไปลึกประมาณ 3.60 เมตร ตรงปากหลุมกว้างประมาณ 2.50 เมตร แล้วหลุมค่อยๆ เล็กสอบจนถึงก้นหลุมเหลือกว้างประมาณ 0.70 เมตร ก็ถึงห้องกรุ ห้องที่ 1 ขนาดห้องกว้าง 1.40 เมตร ทรงสี่เหลี่ยมสูง 1.50 เมตร ผู้ร้ายเจาะพื้นห้องกรุห้องที่ 1 ต่อลงไปเบื้องล่างอีกเป็นห้องกรุที่ 2 ทรงสี่เหลี่ยมขนาดห้องกว้าง 1.40 เมตร สูง 2.75 เมตร
ห้องนี้เป็นห้องเก็บเครื่องทองคำที่ผู้ร้ายขนไปมากมายนั้น มีซุ้มลึกเข้าไปในผนังประมาณ 37 ซม. ทั้ง 4 ด้าน ตามผนังและในซุ้มเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนาด้วยสีชาดเต็มทั้งผนังและภายในซุ้มที่เพดานห้องกรุก็มีเขียนลวดลายเต็มเพดาน ภายในซุ้มทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตกมีโต๊ะสำริดสูง 42 ซม. กว้างประมาณ 33-44 ซม. ยาวประมาณ 71-72 ซม. วางอยู่ซุ้มละ 1 ตัว คงจะเป็นที่วางสิ่งของ ส่วนซุ้มด้านทิศใต้ไม่มีโต๊ะ

 

จิตรกรรมในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
จิตรกรรมในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

“เมื่อผมลงไปถึงห้องนี้ ได้เห็นแหวน เครื่องทองคำชิ้นเล็กๆ พลอยและทับทิม คลุกเคล้าอยู่กับฝุ่นทรายพื้นห้องแพรวพราวไปหมด”

 

ตะลึง! เพชรนิลจินดาเคล้าฝุ่นทรายเต็มพื้น

ถัดซุ้มทั้งสี่ออกมา มีหินปูทำเป็นพื้นห้องเต็มทั้งห้อง หินที่ปูพื้นห้องหนา 17 ซม. การดำเนินงานลงเก็บของในกรุครั้งนี้ ได้ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่อสายและดวงโคมลงไป เมื่อผมลงไปถึงห้องนี้ ได้เห็นแหวน เครื่องทองคำชิ้นเล็กๆ พลอยและทับทิม คลุกเคล้าอยู่กับฝุ่นทรายพื้นห้องแพรวพราวไปหมด

ผมและเจ้าหน้าที่เลือกเก็บสิ่งของอยู่จนถึง 01.00 น. ของวันที่ 29 ส่งขึ้นมาให้ผู้กำกับการตำรวจประมาณ 1 กระป๋องตักน้ำหูหิ้ว ของก็ยังไม่หมด จำต้องหยุดไว้ชั่วคราวเพื่อพักผ่อน ผู้กำกับการตำรวจนำสิ่งของไปใส่กรงเหล็กรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในคืนวันนั้น แล้ววางกำลังเจ้าหน้าที่ คือ ตำรวจ 4 นาย พร้อมอาวุธปืน และเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากร 2 คนอยู่เฝ้ากรุ เรื่องห้องกรุนี้จากปากคำของผู้ต้องหาว่ากรุห้องที่ 1 มีพระพุทธรูปทองคำบรรจุอยู่ 3-4 องค์ นัยว่าองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักประมาณ 1 ศอกแล้วก็ไม่มีอะไรอีก ผู้ร้ายเกือบจะเลิกขุดค้นอยู่แล้ว เผอิญคนหนึ่งไปกระทุ้งพื้นห้อง เสียงก้องดังเป็นโพรงอยู่ข้างล่าง จึงได้ขุดพื้นห้องไปพบห้องที่ 2 ที่บรรจุทองคำและเพชรนิลจินดา

เครื่องทองกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

แผนผังกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
แผนผังกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ

"โต๊ะสัมฤทธิ์" ซึ่งปรากฏในบันทึกของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2500 ใช้วางสมบัติ เพชรนิลจินดา
“โต๊ะสัมฤทธิ์” ซึ่งปรากฏในรายงานการเปิดกรุของนายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2500 คาดว่าใช้วางสมบัติ เพชรนิลจินดา ของมีค่าต่างๆ ก่อนถูกโจรกรรมไป ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการพิเศษ ‘เครื่องทองอยุธยา มรดกของโลก มรดกของแผ่นดิน’ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 ธันวาคม 2559

 

ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558

ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image