วิกฤตแพร่ระบาด‘โควิด-19’ ผลักอัตราเร่ง‘ช้อปออนไลน์’

หมายเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้ารุนแรงไม่แพ้ผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน ขณะเดียวกันยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค หันมาใช้บริการออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนี้เป็นความเห็นของหน่วยงานผู้คุมกฎเกณฑ์และผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์
ต่อทิศทางที่กำลังเกิดขึ้นไประยะต่อไป


ฐากร ตัณฑสิทธิ์
เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง
กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

จากรายงานแอพพลิเคชั่นพฤติมาตรของสำนักงาน กสทช. โดยสำรวจผู้ใช้งาน 2,554 ราย ในจำนวนดาวน์โหลด 7,824 ราย ระหว่างเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 พบว่า ประชาชนมีการใช้งาน 4 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไลน์ และยูทูบ ขณะที่ การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน 3 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ ลาซาด้า ช้อปปี้ และแกร็บ ทุกแอพพลิเคชั่นมียอดการใช้งานในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมกราคมเกิน 80% โดยผลสำรวจเป็นการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานต่อคน ต่อวัน และต่อเมกะไบต์

สำหรับเดือนมกราคม พบว่า ผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นพฤติมาตรมียอดการใช้งานเฟซบุ๊ก อยู่ที่ 352.05 เมกะไบต์ ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 682.29 เมกะไบต์ เพิ่มขึ้น 93.80% ส่วน ทวิตเตอร์ ในเดือนมกราคม มียอดการใช้งานอยู่ที่ 21.47 เมกะไบต์ ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 78.68 เมกะไบต์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 266% ด้าน ไลน์ ในเดือนมกราคมมีผู้ใช้งาน 23.95 เมกะไบต์ ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 60.96 เมกะไบต์ เพิ่มขึ้น 154.26% ส่วน ยูทูบ ในเดือนมกราคม อยู่ที่ 401.28 เมกะไบต์ ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 731.11 เมกะไบต์ เพิ่มขึ้น 82.19%

Advertisement

ส่วนลาซาด้ามียอดใช้งานในเดือนมกราคม อยู่ที่ 3.78 เมกะไบต์ ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 8.37 เมกะไบต์ เพิ่ม 121.52% ส่วนช้อปปี้ มียอดการใช้งานเดือนมกราคม อยู่ที่ 7.17 เมกะไบต์ ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 41.48 เมกะไบต์ เพิ่มขึ้น 478.59% และแกร็บ มียอดการใช้งานในเดือนมกราคมอยู่ที่ 1.24 เมกะไบต์ ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 2.16 เมกะไบต์ เพิ่มขึ้น 74.36%

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นพฤติมาตร มีการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังตัว โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ออกจากบ้านน้อยลง และใช้การติดต่อสื่อสาร การรับชมข้อมูลข่าวสาร ความรู้และความบันเทิงผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่บนออนไลน์มากขึ้น

ทั้งนี้ จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5G เมื่อกุมภาพันธ์ 2563 เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) จำเป็นต้องเปิดให้บริการเร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า เพราะตามแนวโน้มที่เห็นจากสถิติดังกล่าว พบว่าความต้องการการบริโภคดาต้าแบนด์วิธจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจากภาพรวมในเดือนมกราคม พบว่า ผู้บริโภค 1 คนใช้งานดาต้าต่อวันอยู่ที่ 136.6 เมกะไบต์ ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 88.19% อยู่ที่ 257.06 เมกะไบต์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมาจากยอดการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนทั้งสิ้น

Advertisement

นอกจากนี้ การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังทำให้ ความต้องการบริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นอีกด้วย จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่ามูลค่าตลาดโลจิสติกส์มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตสูงถึง 10-20% ต่อปี แยกเป็น 2 รูปแบบ คือการขนส่งระหว่างธุรกิจ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ และการขนส่งโดยตรงถึงผู้บริโภค เช่น ไปรษณีย์ไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส, ลาล่ามูฟ, แฟลชเอ็กซ์เพรส และดีเอชแอล เป็นต้น นำมาสู่การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ดุเดือดไม่แพ้กัน

สอดคล้องกับการเติบโตของอีเพย์เมนต์ (การจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) ที่ภาพรวมเติบโตขึ้นร้อยละ 35.7% โดยบริการที่เติบโต สูงสุด คือ บริการโอนเงินและการชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ (อินเตอร์เน็ต โมบายแบงกิ้ง) ธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 3 ปี 2561 มีจำนวน 1,464 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 92 ล้านล้านบาท ปริมาณการใช้งานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงร้อยละ 35.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเช่นกัน

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด
นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไท

ภาพรวมในปี 2563 จะได้เห็นการแข่งขัน และการนำเสนอบริการใหม่ๆ ของดิจิทัล แพลตฟอร์ม อย่างชัดเจน และดุเดือดขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งส่วนตัวคาดว่าวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นในระดับอาเซียน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

สำหรับเทรนด์ธุรกิจในปี 2563 นั้นมั่นใจว่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจะมีมูลค่าเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะโอกาสของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่มาก ทั้งขายในเว็บไซต์ตัวเอง ขายในมาร์เก็ตเพลส และขายผ่านโซเชียลมีเดีย

 

คมสันต์ ลี
ปธ.เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด
ผู้ให้บริการด้านอีคอมเมิร์ซ

จากสถานการณ์ความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลออกมารณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย และออกประกาศหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อในประเทศไทย จากสถานการณ์ดังกล่าวดันให้ยอดผู้ใช้บริการเข้ารับพัสดุฟรีถึงที่ตั้งแต่ชิ้นแรก 365 วันไม่มีวันหยุด ของแฟลช เอ็กซ์เพรส เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 10% หรือมียอดรับ-ส่งพัสดุเฉลี่ย 6 แสนกว่าชิ้นต่อวัน เมื่อเทียบกับยอดเดือนมกราคม 2563 ที่มียอดรับ-ส่งพัสดุต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนชิ้น

ผลการสำรวจของ บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคาในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคนต่อเดือน เผยถึงประเภทสินค้าที่มีการซื้อขายมากที่สุดในแพลตฟอร์ม ดังนี้ อันดับ 1 ได้แก่ สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม 27% อันดับ 2 สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าและแฟชั่น 17% อันดับ 3 สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ของตกแต่งบ้าน 11% เป็นต้น

 

พัฒนา สุธีระกุลชัย
ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

ขณะนี้ค้าปลีกทั่วไปที่ขายทั้งสินค้าอาหาร และสินค้าไม่ใช่กลุ่มอาหาร คงปรับไม่ต้องปรับตัวอะไร เพราะจากความต้องการซื้อสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันสูงขึ้นหลายเท่าตัวจากความวิตกเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทย ทำให้เกิดการซื้อสินค้าพุ่งเพิ่มอย่างรวดเร็ว ตอนนี้จึงต้องทำอย่างไรให้สินค้าเพิ่มเติมชั้นวางของให้รวดเร็วและเพียงพอตลอดเวลา ที่เคยทำโปรโมชั่นกระตุ้นการซื้อก่อนหน้านี้ ที่วิตกเศรษฐกิจซบเซา ทำให้กำลังซื้อฝืดนั้นกลับมาคึกคักในเวลาอันรวดเร็ว ที่ประเมินว่าตลาดค้าปลีกจะเติบโตเท่าเดิมหรือ 0% ถึงดีสุดบวก 1% นั้นอาจต้องทบทวนใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามว่าหากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ ก็จะเกิดการชะงักของกำลังซื้ออีกครั้งเหมือนหลายเหตุการณ์ในอดีตที่สร้างความตระหนกก็จะเกิดการแห่ซื้อกักตุนสินค้า ที่เราเรียกว่าดีมานด์เทียม นั่นคือมีของเกินจำเป็นแล้ว ก็จะหยุดการซื้อจากนั้น 1-2 เดือน

ที่ว่าออนไลน์มาชิงตลาดชิงลูกค้าค้าปลีกทั่วไปนั้น ก็ไม่ทั้งหมด ก่อนหน้านี้ การสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์และจัดส่งสินค้าเพิ่มขึ้นก็จริง เดิมนั้นการสั่งซื้อจะเป็นสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เสื้อผ้า ของใช้ อุปกรณ์ต่างๆ แต่ขณะนี้เพิ่มการสั่งซื้อในกลุ่มอาหารมากขึ้น ทั้งที่เป็นอาหารปรุงพร้อมรับประทาน และกลุ่มเครื่องปรุงเพื่อประกอบอาหารเริ่มมีมากขึ้น เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เพิ่มรวดเร็ว แต่เมื่อความวิตกต่อการสัมผัสในการปรุงหรือส่งสินค้า ก็ทำให้บางส่วนหันปรุงอาหารเองและออกไปทานนอกบ้านแทน แต่พฤติกรรมปรับจากเดิมไปกันเป็นกลุ่มหลายคนก็เป็นการทานคนเดียวกันมากขึ้น ดูจากในศูนย์อาหารและใช้เวลาในการบริโภคเร็วขึ้น แม้โควิด-19 ทำให้ค้าขายออนไลน์เพิ่มขึ้นแต่ก็พบว่าด้วยปริมาณสินค้าที่จำกัดและบุคลากรก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นได้ทันที ก็เริ่มเห็นปัญหาเรื่องการชะลอตัวของระบบออนไลน์แล้ว

ส่วนตัวเชื่อว่าการค้าปลีกปกติยังอยู่ได้ แต่ที่ลดลงมากคือศูนย์ที่มีพื้นที่ให้เช่าอาจพบว่าความวิตกโควิด-19 จนลดการเดินเข้าห้างเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร พวกแฟชั่น สินค้าฟุ่มเฟือยจะกระทบมากหน่อยเพราะคนไม่มีอารมณ์ และหันใช้เงินกับ กลุ่มสินค้าไม่ใช่กลุ่มของกินของใช้ ที่มีความจำเป็นมากสุดในเวลานี้ เพราะเมื่อโรงเรียนปิดเทอม อาจต้องหยุดทำงานที่บ้าน หรือ เกิดคนในบ้านเป็นกลุ่มเสี่ยง และเชื่อว่าจากข่าวสารให้คนระมัดระวังการดูแลตัวเองมากขึ้น ก็ทำให้อารมณ์วิตกกังวลก็ลดลงและบางส่วนก็เริ่มคลายกังวลและใช้ชีวิตปกติแล้ว

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image