จอดป้ายประชาชื่น : ‘ทำไมละเลย’ โดย อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

จากเหตุการณ์สาวใหญ่วัย 40 ปี ถูกสายสื่อสารที่หย่อนลงมาบนถนนเหล่านาดี เขตเทศบาลนครขอนแก่น เกี่ยวคอตกจากรถจักรยานยนต์เสียชีวิต วันที่ 25 เมษายน ได้สร้างแรงกระเพื่อมและมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ร้อนถึง ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องออกมาน้อมรับความผิดพลาดครั้งใหญ่ และได้ประสานให้บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB เจ้าของสายรับผิดชอบต่อผู้เสียหาย พร้อมทั้งประกาศนำร่องจัดระเบียบสายสื่อสารรอบเมืองขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมนี้

ยังไม่ทันสิ้นเสียงครหา ล่าสุดวันที่ 11 พฤษภาคม สายสื่อสารหย่อนลงมาบนถนนเลียบคลองวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เกี่ยวคอแม่ลูกอ่อน ทำให้จักรยานยนต์เสียหลักล้ม ศีรษะฟาดพื้นหมดสติ แม้อาการล่าสุดจะพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่อาจเทียบไม่ได้กับความหวาดผวาที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประสบเหตุ และประชาชนทุกคนนับจากนี้

รู้หรือไม่ว่า สายไฟรุงรังที่พบเห็นกันทั่วไป ตัวปัญหาใหญ่ไม่ใช่สายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่เป็นสายสื่อสารโทรคมนาคม และอุปกรณ์สื่อสารของเอกชนและรัฐวิสาหกิจ อาทิ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์บ้าน เคเบิลทีวี กล้องวงจรปิด อุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งสารพัดสายที่ชาวบ้านร้านค้าแอบพาดไว้ และที่น่าตกใจคือ สายเหล่านั้นจำนวนมากเป็นการลักลอบพาดสายอย่างผิดกฎหมาย

Advertisement

เมื่อดูแนวทางการนำสายไฟลงดินเพื่อปรับภูมิทัศน์บ้านเมืองให้สวยงามและปลอดภัยต่อประชาชนก็ไม่ง่ายเพราะต้องใช้งบประมาณเฉลี่ยมากถึงกิโลเมตรละ 65 ล้านบาท และหากลงมือทำทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร อาจต้องใช้เงินมากถึง 3 แสนล้านบาท ยังไม่รวมระบบซ่อมแซมที่ยากและมีค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาสูงกว่าเมื่อเทียบการทำงานบนเสาไฟปกติ

จึงมีคำถามว่าเหตุใด 2 การไฟฟ้าจึงปล่อยให้กาฝากเหล่านี้เข้ามาหาประโยชน์จนสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน พอจะแก้ไขที่ต้นทางก็ยากเย็นใช้งบประมาณมหาศาล กลายเป็นปัญหาสะสมที่ยากจะแก้ไข เป็นความเสี่ยงในชีวิตที่ประชาชนต้องก้มหน้ารับกันต่อไป…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image