จอดป้ายประชาชื่น : ปรับด่วน

เข้าเว็บไซต์ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบข้อมูลหลากหลายน่าสนใจ โดยเฉพาะนโยบายสำคัญจำนวน 15 เรื่อง ประกอบด้วย การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เกษตรแปลงใหญ่ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง พัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ ธนาคารสินค้าเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ จัดระเบียบการประมงให้เป็นมาตรฐาน ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนสินค้าเกษตร พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร การช่วยเหลือด้านหนี้สิน และแผนผลิตข้าวครบวงจร

แต่ละนโยบายพบมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน ระบุชัดหน่วยงานใดรับผิดชอบ ถือเป็นคลังข้อมูลที่สำคัญของเกษตรกรไทย

ในทางปฏิบัติน่าสนใจว่ากระทรวงเกษตรฯมีการปูพื้นความรู้ข้าราชการมากแค่ไหน เพื่อเป็นช่องทางให้ความรู้เกษตรกรที่สนใจแต่ขาดความรู้และมีความเชื่อตามภาษาชาวบ้านว่าเจ้าหน้าที่รัฐคือช่องทางการลื่นไหลและข้อมูลแน่นมากที่สุด

ล่าสุดผู้เขียนมีโอกาสเจอเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายหนึ่ง เพราะกลับไปเยี่ยมบ้านต่างจังหวัดซึ่งประกอบอาชีพทำนา โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เขียนเพื่อเก็บข้อมูลตัวเลขรายได้เกษตรกร เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลรายได้ชาวนาของประเทศ

Advertisement

หลังการสัมภาษณ์จบลง ผู้เขียนถือโอกาสสอบถามถึงนโยบายกระทรวงเกษตรฯเกี่ยวกับการผลิตข้าวอินทรีย์ (ซึ่งครอบครัวกำลังเริ่มต้นผลิต โดยเริ่มจากการผลิตข้าวปลอดสารพิษ) ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวว่า “ตอนนี้ตลาดข้าวอินทรีย์ล้นแล้ว ปลูกข้าวแบบใส่สารเคมีปกติเถอะ ราคาดีกว่า”

พอสอบถามเรื่องช่องทางตลาดก็ได้รับการปฏิเสธว่า “ไม่ทราบ พี่ไม่ได้ดู”

เมื่อผู้เขียนแจ้งว่าอยากเป็นชาวนายุคใหม่ ปลูกข้าวอินทรีย์ กระทรวงมีอะไรแนะนำหรือไม่ คำตอบพีคกว่าเดิม “เป็นชาวนาลำบาก ทางที่ดีลงเงินให้ครอบครัวทำอย่างเดียวดีกว่า” เจอคำตอบนี้ บทสนทนาจึงจบลง…

Advertisement

ไม่รู้สึกโทษเจ้าหน้าที่คนนี้ แต่อยากฝากไปถึงผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯให้พิจารณาหลักคิดของเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชายุคปัจจุบัน เพราะเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการกระทรวงคือกลไกในการเดินหน้านโยบายต่างๆ ถ้าไม่ปรับตอนนี้ภาคเกษตรไทยคงย่ำกับที่

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image