จอดป้ายประชาชื่น : ขอมาก็จัดให้

ภายหลังจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ยืนยันในที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 4/2561 ในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับกระทรวงคมนาคม  เพื่อใช้ในกิจการระบบราง ตามที่ร้องขอมา

กรณีนี้ถือได้ว่า เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ปริมาณมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 400 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับการใช้ในกิจการระบบราง ในระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อสั่งการเดินรถ โดยใช้คลื่นความถี่จำนวนทั้งสิ้น 650 กิโลเฮิรตซ์ (1000 กิโลเฮิรตซ์ = 1 เมกะเฮิรตซ์) นับเป็นปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในการใช้กับระบบรางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง และระบบรถไฟชินคันเซ็น โดยพบว่า ในแต่ละวันมีผู้โดยสารที่ใช้บริการ JR pass        (ตั๋วรถไฟแบบเหมาจ่าย สำหรับการเดินทางรวมกับรถไฟทุกระบบ ทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง      และชินคันเซ็น) จำนวนทั้งสิ้น 17.5 ล้านคน จึงกล่าวได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นใช้จำนวนคลื่นความถี่ในปริมาณน้อย แต่มีประสิทธิภาพการใช้งานสูง

ย้อนกลับมามองในบ้านเรา หากมีการบริหารจัดการช่องสัญญาณที่ดีพอ การจัดสรรคลื่นความถี่ให้กระทรวงคมนาคมไปแล้วนั้น จะสามารถรองรับการใช้งานกับระบบรถไฟได้ทุกเส้นทาง รวมถึงสามารถครอบคลุมเส้นทางการเดินรถไฟไทย-จีน ขณะที่ในอนาคตจะสามารถนำมาใช้งานกับระบบรถไฟเส้นทางอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการขยายเส้นทางได้ ทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางเดียว และระบบรถไฟฟ้าในเมือง ซึ่งล้วนแล้วสามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ได้จัดสรรไปแล้วทั้งสิ้น

“คลื่นความถี่” ถือเป็นทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่า จึงอยากทิ้งท้ายไว้เป็นการบ้านของรัฐบาล ให้มีจัดสรรคลื่นความถี่ให้เหมาะสมกับกิจการแต่ละประเภท ทั้งคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม และคลื่นความถี่ในกิจการคมนาคม เป็นต้น รวมถึงการผลักดันให้มีการใช้งานคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งสามารถก่อให้เกิดเป็นรายได้เข้ารัฐได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

Advertisement

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image