จอดป้ายประชาชื่น : ความหวัง

กรณี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัดฝุ่นความคิดในการนำยางพารามาทำถนน ภายใต้ โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราของรัฐบาล ตอนนี้ดูเหมือนว่าภาพของโครงการนี้เริ่มชัดขึ้นมาบ้างแล้ว โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า จะใช้ยางพาราประมาณ 1 ล้านตัน เชื่อว่าจะทำให้ราคายางแผ่นดิบรมควันปรับตัวเพิ่มขึ้น 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นหากโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกจังหวัด ราคายางจะดีดตัวขึ้นมาแน่นอน แต่ในทางกลับกันยังมีหลายฝ่ายที่ยังเห็นต่างกับความสำเร็จของโครงการนี้อยู่

อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ราคายางพาราจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ เพราะรัฐบาลผลิตยางได้จำนวนมาก แม้รัฐบาลจะทำถนนไปประมาณ 1 ล้านตัน แต่อีกประมาณ 3 ส่วน 4 ของผลผลิตในประเทศต้องส่งออก และถูกกำหนดราคาโดยตลาดโลก ราคาก็จะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างมีเสถียรภาพ

ท่ามกลางความเห็นต่าง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ตอนนี้มีหลายจังหวัดดำเนินการแล้ว อาทิ สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ ส่วนที่มีเกษตรกรบางกลุ่มกังวลใจว่าล่าช้าและต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับซื้อน้ำยางจากสถาบันเกษตรกรโดยเร็วนั้น การดำเนินการดังกล่าวขึ้นกับความพร้อมของแต่ละ อปท.ทั้งด้านงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้กำหนดให้การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต้องระบุให้คู่สัญญารับซื้อน้ำยางจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หรือสถาบันเกษตรกรที่ กยท.รับรอง โดยจะต้องระบุแหล่งรับซื้อน้ำยาง ปริมาณ วันที่รับซื้อ ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดรายงานเข้ามายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทุกเดือนจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2562 นอกจากนี้ยังได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาชี้แนะเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือทุจริต

Advertisement

น่าติดตามว่าโครงการนี้จะเดินไปถึงเป้าหมายหรือไม่ หากมีแนวทางตรวจสอบรัดกุม ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ โปร่งใส เชื่อว่าประโยชน์จะตกกับชาวสวนยางพาราแน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image