‘อันเดอร์เลชต์ อคาเดมี’ หนึ่งในต้นทาง ‘โกลเด้น เจเนอเรชั่น’ ของทัพ ‘เบลเยียม’

(แถวบน จากซ้าย) แวงซ็องต์ ก็อมปานี, โรเมลู ลูกากู, ดรีส เมอร์เทนส์, มิชชี่ บัตชูอายี่ (แถวล่าง จากซ้าย) มารูยาน เฟลไลนี่, ยูรี่ ทีเลมันส์, อัดนัน ยานาซาย, เลออนเดอร์ เด็นด็องเคอร์

หนึ่งในทีมที่ได้รับการจับตามองว่าจะเป็นตัวสอดแทรกสำคัญตั้งแต่ก่อนศึก ฟุตบอลโลก 2018 จะเปิดฉาก คือทีมชาติ เบลเยียม ทีมอันดับ 3 ของโลก ซึ่งถึงตรงนี้ถือว่าพวกเขายังอยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายเมื่อผ่านเข้าถึงรอบตัดเชือกได้สำเร็จ

ด้วยความที่สมาชิกทีม “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” ชุดนี้ประกอบด้วยนักเตะฝีเท้าระดับท็อป หรือชื่อเสียงคุ้นหูคุ้นตาแฟนบอลในวงกว้างแทบจะทุกตัวทุกตำแหน่ง ทำให้เบลเยียมในยุคปัจจุบันได้รับการยกย่องจากสื่อและแฟนบอลว่าเป็น “โกลเด้น เจเนอเรชั่น” ในลักษณะคล้ายๆ กับทีมชาติสเปนชุดกวาด 3 แชมป์เมเจอร์ จะต่างกันก็ตรงที่ภาพรวมยังไม่สุกงอมพอจะไปถึงแชมป์ใหญ่ๆ เท่านั้น

การที่ทีมชาติหนึ่งๆ จะมีนักเตะชื่อก้อง ฝีเท้าระดับท็อปมากมายขนาดนี้ ต้องยกเครดิตให้ผลงานการสร้างนักฟุตบอลตั้งแต่ระดับเยาวชน โดยเฉพาะบรรดาอคาเดมีของสโมสรท้องถิ่น ซึ่งขุมกำลังสำคัญของเบลเยียมชุดนี้ มีนักเตะอดีตลูกหม้อของอคาเดมีสโมสร อันเดอร์เลชต์ ติดทีมเข้ามาถึง 8 คน หรือกว่า 1 ใน 3 ของทีม

อคาเดมีของสโมสรอันเดอร์เลชต์ (เครดิตภาพ youth.rsca.be)

ไล่มาตั้งแต่ โรเมลู ลูกากู, แวงซ็องต์ ก็อมปานี, ดรีส เมอร์เทนส์, เลออนเดอร์ เด็นด็องเคอร์, ยูรี่ ทีเลมันส์, อัดนัน ยานาซาย, มิชชี่ บัตชูอายี่ และ มารูยาน เฟลไลนี่ ทั้ง 8 คนนี้ทำประตูให้ทีมไปแล้ว 9 ประตู มากกว่าเต็งแชมป์อย่าง บราซิล ที่พวกเขาเขี่ยตกรอบไปเสียอีก

Advertisement

ทีมอันเดอร์เลชต์มีนโยบายการเฟ้นหานักเตะที่เกิดและโตในกรุงบรัสเซลส์เป็นหลัก โดยเปรียบเทียบว่า บรัสเซลส์เป็นเมืองใหญ่เปรียบเหมือนกรุงลอนดอนหรือปารีส ขณะที่อันเดอร์เลชต์เป็นชุมชนหรือถนนหนึ่งในเมืองใหญ่นี้

พวกเขายึดมั่นกับหลักการเฟ้นหาและปลุกปั้นนักเตะเยาวชนฝีเท้าดีภายในท้องถิ่น ยกเว้นกรณีที่จะมีนักเตะต่างเมืองฉายแววโดดเด่นจริงๆ เท่านั้นจึงจะดึงมาร่วมอคาเดมี ประการหนึ่งเพราะไม่อยากพรากเด็กๆ จากครอบครัวตั้งแต่อายุยังไม่มากนั่นเอง

อันเดอร์เลชต์จะเริ่มปั้นนักเตะเยาวชนตั้งแต่ชุดอายุต่ำกว่า 6 ปี เน้นปรับพื้นฐานและยึดเด็กท้องถิ่นเป็นหลักจนถึงอายุ 12 หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ชุดยู-13 จึงเริ่มมองๆ นักเตะต่างเมืองที่มีแววบ้าง และค่อยเริ่มการแบ่งทีมแข่งขัน แล้วจึงพัฒนาขึ้นสู่ช่วงอายุต่างๆ

Advertisement

เนื่องด้วยเบลเยียมเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมสูง การเรียนการสอนฟุตบอลภายในอคาเดมีจึงต้องหลากหลายขึ้นตามไปด้วย

ฌอง คินแดร์มันส์ ผู้อำนวยการอคาเดมีฟุตบอลของอันเดอร์เลชต์ เผยว่า เด็กแต่ละคนมีแบ๊กกราวด์แตกต่างกัน วิธีการรับมือหรือสอนพวกเขาเหล่านั้นก็ต้องต่างกันออกไป

คินแดร์มันส์ยกตัวอย่างก็อมปานี กัปตันทีมชาติเบลเยียมว่า พื้นเพมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างสมถะ คุณพ่อเป็นชาวแอฟริกัน คุณแม่เป็นคนเบลเยียม ฐานะไม่ค่อยสู้ดีนัก ทุกวันจะนั่งรถรางมาฝึกซ้อมที่อคาเดมี แล้วขึ้นรถเมล์กลางคืนกลับบ้าน ความที่โตแบบเรียนรู้ชีวิตและต้องปากกัดตีนถีบอยู่สักหน่อย ได้หล่อหลอมให้ก็อมปานีมีคาแร็กเตอร์ความเป็นผู้นำโดดเด่นมาตั้งแต่เด็ก

คินแดร์มันส์เล่าว่า เวลารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ จะเห็นแววว่าเขามักเป็นหัวโจกหรือจุดรวมใจของพรรคพวก และยิ่งฉายแววชัดเจนในสนามแข่งขัน

ผอ.อคาเดมีอันเดอร์เลชต์เผยว่า แต่เดิมนั้นสถาบันลูกหนังแห่งนี้เน้นเรื่องการเรียนการสอนฟุตบอลเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนในระบบสามัญเท่าที่ควร จนกระทั่ง 10 กว่าปีที่แล้ว พ่อของลูกากู หนึ่งในดาวเด่นของทีมจึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญตรงจุดนี้

โรเมลู ลูกากู สมัยเล่นให้อันเดอร์เลชต์ (แฟ้มภาพ Reuters)

เนื่องจากลูกากูกำลังโดนหลายสโมสรในฝรั่งเศสตามจีบ อาทิ ลีลล์, ลองส์, โอแซร์ และ แซงต์ เอเตียนน์ และสโมสรเหล่านั้นก็มีทั้งอคาเดมีฟุตบอลและโรงเรียนสายสามัญรองรับเต็มรูปแบบ หากอันเดอร์เลชต์หวังจะรั้งตัวเขากับทีมต่อไปก็ต้องให้ความสำคัญในจุดนี้

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “เพอร์เพิล ทาเลนต์ส” ที่อคาเดมีของอันเดอร์เลชต์จะประสานขอความร่วมมือไปยังโรงเรียนในพื้นที่ จัดหาโรงเรียนและที่พักให้กับเด็กๆ ที่มีแววในสังกัดของอคาเดมี จนกลายเป็นระบบระเบียบจนถึงปัจจุบัน

คินแดร์มันส์บอกว่า เขาไม่ชอบเปลี่ยนบุคลากรบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เล่นตำแหน่งโค้ช แต่ขณะเดียวกันก็มอบนโยบายว่าโค้ชทุกคนต้องพัฒนาองค์ความรู้ และปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอนไปตามยุคสมัยให้เข้ากับกีฬาฟุตบอลที่วิวัฒนาการไปเรื่อยๆ

เขาจึงจัดให้โค้ชของอคาเดมีมานั่งวิเคราะห์เกมระดับยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เพื่อดูว่าจะต้องวางแทคติคอย่างไร พัฒนาวิธีการรับมือแผนการเล่นในหลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันก็จัดให้มีครูที่จบสายครุศาสตร์โดยตรง รวมถึงนักจิตวิทยามาอบรมโค้ชเพื่อให้รู้วิธีที่จะรับมือกับเด็กๆ ที่มีแบ๊กกราวด์แตกต่างกันด้วย

อย่างช่วงที่การครองบอลฮิตๆ อคาเดมีก็จะตั้งเป้าให้นักเตะต้องครองบอลให้ได้ราวๆ 70% ในแต่ละเกม แต่เมื่อเห็นจุดบอดว่าการครองบอลอย่างเดียวแต่ไม่สามารถจบสกอร์ได้ไม่มีประโยชน์ ก็เพิ่มโปรแกรมการยิงประตู การสร้างสรรค์โอกาสขึ้นมา เพื่อให้สามารถคุมเกมและเก็บชัยชนะได้ในแต่ละนัด

อคาเดมีของอันเดอร์เลชต์จะเริ่มลงลึกในรายละเอียดของแต่ละตำแหน่งตั้งแต่ชุดยู-15 โดยเน้นที่ระบบการเล่นแบบ 3-4-3 เมื่ออายุเริ่มมากขึ้นจึงสอนให้เด็กๆ พัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ระบบ 4-3-3 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

คินแดร์มันส์บอกว่า ฟุตบอลไม่มีอะไรตายตัว และไม่สามารถยึดติดเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ หลักการของอคาเดมีก็ยืนอยู่บนพื้นฐานตรงนี้ เช่นจะเน้นเรื่องฟุตบอลอย่างเดียว หรือการเรียนในโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ ทุกอย่างต้องบาลานซ์กัน เพราะเป้าหมายหลักไม่ใช่การปั้นนักฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมอย่างเดียว แต่ต้องเป็นนักฟุตบอลที่สมบูรณ์แบบด้วย

และเหนือสิ่งอื่นใดคือ การย้ำเตือนกับเด็กๆ ว่า จะทะนงตัวในความสามารถของตัวเองจนลืมหลักการพื้นฐานไม่ได้ ดังปรากฏเป็นคำขวัญประจำอคาเดมีบนป้ายผ้าขนาดใหญ่ภายในโรงยิมที่ว่า “พรแสวงอยู่เหนือพรสวรรค์!”

ขอเพียงมีความตั้งใจและมุ่งมั่น ย่อมไปถึงเป้าหมายที่หวังได้ในสักวัน

เครดิตภาพ youth.rsca.be
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image