ทั่วโลกระส่ำ สหรัฐ-จีน เปิดฉากสงครามค้า พณ.ถกด่วนเอกชนหามาตรการรับมือ

เมื่อพูดถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ระอุขึ้นเรื่อยๆ ต้องเท้าความก่อนว่าทั้งสองประเทศเป็นมหาอำนาจทั้งคู่และมีมูลค่าการค้ามหาศาล โดยเฉพาะสินค้านวัตกรรม-ไอที ซึ่งเริ่มแรกที่มีการตอบโต้กันไปมาในช่วงเดือนเมษายน 2561 ตอนนั้นยังเป็นสถานการณ์ที่กำลังเจรจากันอยู่ แต่ใครๆ ก็หวั่นว่าสุดท้ายมันจะกลายเป็นสงครามการค้าหรือเทรดวอร์หรือไม่ ตามเกมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เดินหน้านโยบายอเมริกาเฟิร์สต์ ประกาศเก็บภาษีกับทุกประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า

๐สหรัฐขาดดุลการค้าหนักรอบ10ปี
สำหรับประเทศอื่นๆ หรืออย่างที่ทางสหภาพยุโรป (อียู) ตอบโต้สหรัฐโดยการเรียกเก็บภาษีนำเข้า อาจจะไม่ได้สร้างความกังวลให้กับตลาดมากนัก เนื่องจากมีการเรียกเก็บภาษีน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับวงเงินภาษีนำเข้าที่สหรัฐเตรียมถล่มจีนในระดับแสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยปัญหาการขาดดุลการค้า โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนประมาณ 3.7-3.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเฉพาะเดือนมกราคม 2561 สำนักข่าวเอพีรายงานตัวเลขขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 3.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมมูลค่าการขาดดุลการค้าทั้งหมดเฉพาะเดือนมกราคม 2561 เพียงเดือนเดียว สหรัฐขาดดุลไป 56.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551

๐จับตาเก็บภาษีระยะแรก6ก.ค.
ยิ่งตอนนี้สถานการณ์ยิ่งเข้มงวดขึ้น เนื่องจากวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ จะเป็นวันดีเดย์ที่การเก็บภาษีระยะแรกมีผลบังคับใช้ โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน รวม 1,102 รายการ มูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น ระยะที่ 1 สหรัฐจะเก็บภาษี 25% ในกลุ่มสินค้านำเข้าจากจีน 818 รายการ เช่น ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ มูลค่ารวม 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และในระยะที่ 2 สหรัฐจะเก็บภาษี 25% ในกลุ่มสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีก 284 รายการ เช่น อุปกรณ์และสารกึ่งตัวนำ พลาสติก เหล็กโครงสร้าง มอเตอร์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยวันที่มีผลบังคับใช้ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

๐จีนโต้กลับเรียกภาษี5หมื่นล้านเหรียญ
ขณะที่จีนเองก็ตอบโต้กลับ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐรวม 659 รายการ มูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในระยะแรกจีนจะเก็บภาษี 25% ในกลุ่มสินค้านำเข้าจากสหรัฐ 545 รายการ เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช อาหารทะเล เนื้อวัว เนื้อหมู รถออฟโรด มูลค่ารวม 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 กรกฎาคมเช่นเดียวกัน ส่วนระยะที่ 2 จีนจะเก็บภาษี 25% สินค้านำเข้าจากสหรัฐอีก 114 รายการ ในกลุ่มสินค้าพลังงาน เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยวันที่มีผลบังคับใช้ระบุว่าอาจจะมีผลทันทีหลังสหรัฐบังคับใช้ภาษีระยะที่ 2
เพราะฉะนั้นหลังจีนประกาศเก็บภาษีนำเข้า 25% ทางสหรัฐก็ไม่อยู่เฉย ประกาศว่าเมื่อจีนออกมา โต้ตอบŽ จะพิจารณาขยายวงเงินเก็บภาษีอีก 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐก็เป็นได้ แม้จะมีหมายเหตุไว้ว่า รายการสินค้าสามารถขอยกเว้นได้เป็นรายสินค้าก็ตาม จึงต้องรอดูว่าสุดท้ายสหรัฐจะเก็บภาษีแค่ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเก็บภาษี 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐกันแน่ เพราะอย่างไรเสียจีนก็คงจะเทกแอ๊กชั่นกลับอย่างแน่นอน จึงต้องจับตาว่าจะมีประกาศใหม่จากทั้ง 2 ประเทศหรือไม่ จะเพิ่มอัตราการเก็บภาษียิ่งไปกว่านี้หรือไม่

Advertisement

๐สงครามการค้าไม่ชัดฉุดตลาดหุ้นร่วง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่สงครามการค้ายังไม่ได้ข้อสรุปและยังคงเป็นมหากาพย์ที่กระทบภาวะเศรษฐกิจโลก ในด้านของการลงทุนเอง สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นร่วงหนัก เพราะนักลงทุนยังคงวิตกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายรักพงศ์ ไชยศุภรากุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองไว้ว่า นักลงทุนยังคงมีความกังวลเรื่องสงครามทางการค้าสหรัฐ-จีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าสุดท้ายสหรัฐจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามที่เคยประกาศไว้ว่าจะเรียกเก็บถึงประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือไม่ ซึ่งในสัปดาห์นี้สังเกตว่าสหรัฐประกาศเก็บภาษีไปแล้วเกือบ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กระทบความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นโลกค่อนข้างมาก จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าสุดท้ายสหรัฐจะพิจารณาวงเงินภาษีใหม่หรือไม่ เพราะคณะกรรมการหรือทีมทำงานของทรัมป์เองก็เริ่มเสียงแตก มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทรัมป์จึงสั่งพิจารณาทบทวนการเก็บภาษีใหม่อีกครั้ง ก่อนจะได้ความชัดเจนในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้

๐ฟันด์โฟลว์ไหลออกกว่า1.75แสนล้านบาท
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ให้ข้อมูลว่า ความกดดันจากสงครามการค้าที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกยืนในแดนลบเกือบทุกประเทศ ประกอบกับทิศทางเม็ดเงินจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่สินทรัพย์สกุลดอลลาร์ ซึ่งการไหลออกของฟันด์โฟลว์มาจากกลไกส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่มีอยู่เป็นต้นทุนเดิม ถูกกระตุ้นให้รุนแรงยิ่งขึ้น จากความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับอีกหลายประเทศ ทำให้การไหลออกของฟันด์โฟลว์มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยแล้ว 1.75 แสนล้านบาท แยกเป็นการขายในช่วงเดือนมิถุนายนกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท ด้วยภาพแรงขายที่แรงขึ้น ขณะที่แรงซื้อเบาลง ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นสัปดาห์ที่แล้วย่อตัวลงมาอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมุมของปัจจัยพื้นฐาน กลับเห็นพัฒนาการเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม และฐานะของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง

๐เอเซียพลัสประเมินสงครามขยายวงกว้าง
สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้า บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า สงครามการค้าจะขยายวงกว้างมากขึ้น รัสเซีย ตุรกี และอินเดีย ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐต่อจากจีน ยุโรป และแคนาดาที่ประกาศไปก่อนหน้า ซึ่งบางประเทศมีผลไปแล้ว บางประเทศอยู่ในระหว่างพิจารณา และจากนี้เชื่อว่าสหรัฐต้องกลับไปทบทวนว่าจะดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อไปหรือไม่ หากยังคงดำเนินนโยบายต่อเชื่อว่าสหรัฐจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ทั้งในฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคที่จะได้รับผล
กระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในที่สุด อย่างไรก็ตามหากเลือกนโยบายผ่อนคลายด้วยการเจรจา น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกได้Ž

Advertisement

๐สงครามไม่จบหวั่นกระทบหุ้นระยะยาว
นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิส จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทย เป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่เพิ่มความร้อนแรงและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และยังหาบทสรุปของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ รวมถึงปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในรอบที่ผ่านมา ที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง โดยคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีก 2 ครั้ง จากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 1 หรือ 2 ครั้ง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ ทำให้เงินในตลาดหุ้นของตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ที่ไปลงทุนในหุ้นหรือในตราสารหนี้เกิดการไหลออก
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนคาดว่าจะไม่ได้จบภายในเร็ววัน ทั้งนี้ไม่ว่าการเจรจาจะเป็นไปในทิศทางใด ก็ยังเป็นสิ่งที่ตลาดมีความกังวลและเฝ้าระวังว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นมีความผันผวนในช่วงนี้ หากสงครามการค้าไม่บานปลายหรืออยู่ในวงจำกัด ตลาดหุ้นจะเกิดการซึมซับสถานการณ์ไปได้เอง และหากสงครามการค้าบานปลายมากขึ้น กรณีนี้ตลาดหุ้นอาจจะได้รับผลกระทบในเชิงลบทั้งในระยะกลางและระยะยาวŽ นายประภาสกล่าว

๐กสิกรเชื่อสถานการณ์คลี่คลาย
ขณะที่นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ย้ำมาโดยตลอดว่า ประเด็นเรื่องสงครามทางการค้า มองในเชิงบวกว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น สุดท้ายน่าจะมีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งนี้ด้วยปัจจัยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) 10 ปี อัตราเงินเฟ้อที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว คาดการณ์ว่าหากดัชนีปรับลดลงก็ไม่น่าจะปรับลดลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นปรับลดลงไปกว่า 4.10% ท่ามกลางแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ทั้งหุ้นกลุ่มพลังงาน วัสดุก่อสร้าง และหุ้นกลุ่มธนาคาร ประกอบกับมีแรงกดดันจากแรงขายนักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ตลอดจนการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก

๐บาทอ่อนค่าสุดรอบ7เดือน
ทั้งนี้ค่าเงินอ่อนค่าทดสอบแนว 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรืออ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือน โดยการอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนต่อเนื่อง จากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุถึงแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ความกังวลต่อความไม่แน่นอนในเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและคู่ค้า ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง และกดดันสกุลเงินเอเชียในภาพรวมด้วยเช่นกัน โดยปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.92 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนในสัปดาห์นี้น่าจะเคลื่อนไหว 32.80-33.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

๐แนวโน้มทองไม่สดใส
ส่วนความเคลื่อนไหวของการลงทุนในทองคำ รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ฉายภาพราคาทองคำในตลาดโลกว่ายังมีแนวโน้มไม่สดใส ขณะที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะมีอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเงินเฟ้อที่ใกล้เป้าหมายของเฟดน่าจะส่งผลให้แนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาทอง

๐พณ.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
สำหรับผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ยังไม่มีผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทยมากนัก แต่คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐจะส่งผลกับความผันผวนทางการค้าโลก ขณะเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนอาจมีผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทำให้ทุกประเทศรวมถึงไทยได้ผลกระทบ อย่างไรก็ตาม สนค.วิเคราะห์มาตรการกีดกันทางการของสหรัฐว่าน่าจะใช้กฎหมายการค้า 3 มาตรา คือ มาตรา 201 การป้องกันการทะลักของสินค้า มาตรา 301 การปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ และมาตรา 232 เกี่ยวกับความมั่นคง

๐เรียกเอกชนถกมาตรการ26มิ.ย.นี้
มาตรา 232 นี้จะกระทบไทยโดยตรง เพราะเราส่งเหล็กและอะลูมิเนียมไปสหรัฐ แม้ว่าขณะนี้ได้มีการเจรจาของยกเว้นเป็นรายบริษัทแล้ว ส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยังไม่มีการประกาศรายละเอียด อย่างไรก็ตามประเมินว่าน่าจะได้ความชัดเจนในเดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้ วันที่ 26 มิถุนายน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมประชุมกับภาคเอกชน ทั้งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ประกอบการเหล็ก อะลูมิเนียม เป็นต้น เพื่อหามาตรการรองรับผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีนŽ น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

๐หอค้าประเมินโอกาสสินค้าจีนถูกลง
ด้านภาคเอกชน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่าสงครามการค้าจะกระทบกับไทยค่อนข้างน้อย เพราะสินค้าในลิสต์ที่ออกมาไม่มีอยู่ในห่วงโซ่ของสินค้าไทย อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นโอกาสมากกว่า ถ้าจีนขายสหรัฐไม่ได้ มาขายไทยจะทำให้ราคาสินค้าถูกลง และอาจจะมีโอกาสจากการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากทั้ง 2 ประเทศมาลงทุนไทยได้ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน โดยเฉพาะในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ที่มีการเติบโตสูงและในช่วงปลายเดือนนี้ทางคณะทำงานชุดเล็กของหอการค้าสหรัฐจะเดินทางมาไทย ทางหอการค้าเตรียมนำเสนอข้อกังวลต่างๆ เพื่อลดทอนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการหารือร่วมกับคณะหอการค้าสหรัฐชุดใหญ่ที่จะเดินทางมาร่วมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในเดือนกันยายนนี้

๐ส.อ.ท.หารือผลกระทบทุกแง่มุม
ส่วนนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.ให้คำตอบว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างสอบถามไปยังสมาชิกถึงผลกระทบจากสงครามการค้าของ 2 ประเทศสำคัญ โดยเฉพาะสินค้ากว่า 1,000 รายการที่สหรัฐเก็บเพิ่มจากจีนนั้น ไทยจะได้ผลบวกหรือลบอย่างไร เพราะหากจีนไม่ส่งออก จะเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกมากขึ้นหรือไม่ หรือหากจีนนำเข้าสินค้าไทยไปเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าส่งสหรัฐ ก็อาจทำให้ไทยส่งออกไปจีนได้น้อยลงเช่นกัน ดังนั้นเรื่องนี้ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้คาดว่าผลการวิเคราะห์ข้อดีและเสียจะเสร็จต้นเดือนกรกฎาคม ไม่ทันวันที่ 26 มิถุนายนที่กระทรวงพาณิชย์นัดหารือ ดังนั้นจะใช้วิธีส่งข้อมูลให้และนัดหารือกับกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสหรัฐอยู่ระหว่างทบทวนการเก็บภาษีใหม่ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต้องเตรียมแผนรับมือไว้ แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศอันดับต้นๆ ที่สหรัฐอยากเล่นงาน ด้วยภาวะที่ปัจจัยต่างประเทศมีความผันผวนเช่นนี้ รอบคอบไว้ก่อนดีกว่า เพื่อประคองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปีนี้ตามที่ ธปท.เพิ่งปรับเป้าใหม่เป็น 4.4% จากเดิมที่ตั้งไว้ 4.1%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image