เกือบ 200 ปียังไม่มีคำตอบ? ลับลมคมใน’นิราศพระประธม’หลากเงื่อนปม รัก ชัง วิวาทะ

เป็นที่รู้กันว่าวันที่ 26 มิถุนายน คือวันคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ ครูกวีที่ไม่ได้มีอาชีพกวี เพราะที่แท้เป็นอาลักษณ์ในราชสำนักรัตนโกสินทร์ หลากประเด็นของกวีเอกผู้เป็นบุคคลสำคัญของโลกท่านนี้ได้รับการ “ปฏิรูป” องค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ด้วยการเผยแพร่และผลิตซ้ำจนเป็นที่ยอมรับกันว่าไม่ได้เป็นเมืองแกลง จังหวัดระยอง หากแต่เป็น “ผู้ดีวังหลัง” บางกอกน้อย หาใช่ไพร่ไร้เคหา ทว่าได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากเจ้านายตราบ

ชั่วลมหายใจสุดท้าย นอกจากนี้ นักวิชาการหลายท่านไม่เชื่อว่าสุนทรภู่เป็น “ขี้เมา” อย่างที่บอกเล่ากันมาเนิ่นนาน ด้วยดัชนีชี้วัดจากจำนวนผลงานซึ่งต้องใช้คำว่า “มหาศาล” ชนิดไม่มีเวลากินเหล้าเมาหยำเป

แม้เรื่องราวชีวิตจะถูกคลี่คลาย ทว่ายังมีอีกหลายเงื่อนปมใน “บันทึกการเดินทาง” ของกวีเอกผู้นี้ที่ยังมีลับลมคมในชนิดยังคลายกันไม่ออก หนึ่งในนั้นคือปริศนาที่ปรากฏใน “นิราศพระประธม” ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ประธานศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ

สาธุสะ พระประธม บรมธาตุ จงทรงศาสนาอยู่ไม่รู้สูญ ตามรอยนิราศพระประธมของสุนทรภู่ จัดพิมพ์โดยศูนย์สยามทรรศน์ศึกษาฯ ร่วมกับกองวิเทศสัมพันธ์ ม.มหิดล

Advertisement
(ซ้าย) สาธุสะ พระประถมบรมธาตุ จงศาสนาอยู่ไม่รู้จบ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร มอบต้นฉบับที่สอบชำระโดยงบประมาณสนับสนุนจาก บ.มติชน จำกัด (มหาชน) แก่ศูนย์สยามทรรศน์ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล (ขวา) ภาพถ่ายเก่าพระปฐมเจดีย์และพื้นที่โดยรอบ จุดมุ่งหมายการเดินทางของสุนทรภู่ในนิราศพระประธม


ชำเลือง ชำแหละ ชำระ เมื่อสุนทรภู่บุกพระปฐมเจดีย์

นิราศพระประธม เล่าเรื่องราวการเดินทางของสุนทรภู่เมื่อครั้งไปสักการะพระปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรี ซึ่งก็คือจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน สันนิษฐานกันทั่วไปว่าแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2385 หลังสุนทรภู่ลาสิกขา ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เชื่อว่าสุนทรภู่คงสึกราวข้างขึ้นเดือน 8 ก่อนเข้าพรรษาในปีนั้น แล้วถวายตัวพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในตอนนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี

ต่อมา ในเดือน 12 ปีขาล พ.ศ.2385 สุนทรภู่จึงเดินทางไปยังพระปฐมเจดีย์พร้อมลูกชาย 2 คน คาดว่าลงเรือแถวท่าพระราชวังเดิม

Advertisement

ดูเหมือนข้อมูลทุกอย่างไม่มีอะไรน่าสงสัย ทว่า ผศ.ดร.อภิลักษณ์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปีที่แต่งนิราศว่าอาจไม่ตรงกับข้อมูลที่เชื่อกันในปัจจุบัน โดยอาจแต่งขึ้นก่อนหรือระหว่าง พ.ศ.2372-2374 ต่างหาก โดยนำหลักฐานจากต้นฉบับสมุดไทยถึง 4 ฉบับมาสอบทานอย่างละเอียด โดยเจ้าตัวพบว่ามีความแตกต่างกันทั้งถ้อยคำและคำกลอน ที่น่าสนใจคือ มีอยู่ฉบับหนึ่งซึ่งมีข้อความระบุว่า บุคคลชื่อ “หนู” เป็นบุตร “ตาบ” กู้ยืมเงิน “คุณแข” เมื่อจุลศักราช 1193 ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2374 ก่อนข้อสันนิษฐานเดิมคือ พ.ศ.2385 ถึงราว 10 ปี อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ให้ตัวเลขไว้กว้างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2372-2374 เนื่องจากข้อความในต้นฉบับมีความไม่สอดคล้องกันบางประการในเรื่องปีนักษัตร

ประเด็นที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี้ เกี่ยวพันถึงชีวประวัติสุนทรภู่ในเรื่องออกจากวังหลังไปอยู่ “วังหลวง” และช่วงที่พลาดจากการเป็นขุนนางวังหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีรายละเอียดมากมายในหนังสือ สาธุสะ พระประธม บรมธาตุฯ

ต้นฉบับสมุดไทยนิราศพระประธม เลขที่ 16 เก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติ

สงครามความรัก? ลับลมคมใน สถานที่สูญหายจากนิราศพระประธม

อีกหนึ่งประเด็นที่ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ไม่ปล่อยข้าม คือสถานที่ในนิราศพระประธมที่ “ไม่ถูกเอ่ยถึง” โดยตั้งคำถามว่า ในช่วงชีวิตของสุนทรภู่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เมื่อพลาดจากการเป็นขุนนางวังหลวงแล้วนั้น ทำไมจึงไม่กลับวังหลัง?

ผศ.ดร.อภิลักษณ์ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเพราะเกิดความขัดแย้งบางอย่างกับเจ้านายวังหลัง โดยเฉพาะ 1 ในเจ้าสามกรม เนื่องจากความผิดตั้งแต่วัยหนุ่มเรื่อยมาก็เป็นได้ โดยอาจมีเพียง เจ้าครอกทองอยู่

ที่เมตตา แต่ก็ไม่สามารถทำให้อยู่ในวังหลังได้อย่างสะดวกใจเหมือนเก่า นอกจากนี้ ยังดูเหมือนจงใจไม่เอ่ยถึงสถานที่และบุคคล คือเจ้านายบางพระองค์อีกด้วย นั่นคือ วัดไชยชิต บางขุนนนท์ ซึ่งกรมหมื่นนเรศร์โยธีทรงอุปถัมภ์ โดยสุนทรภู่เลือกกล่าวเพียงกว้างๆ ว่า ‘บางขุนนนท์’ เท่านั้น นอกจากนี้ วัดโพธิ์บางโอ หรือวัดโพธิ์เสนี ซึ่งกรมหลวงเสนีบริรักษ์ทรงอุปถัมภ์ ก็ไม่ถูกกล่าวถึงเช่นกัน

เจ้าตัวจึงเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานเรื่องความขัดแย้งระหว่างสุนทรภู่และเจ้าสามกรม โดยเชื่อว่าเป็นเพราะสงครามความรัก “คดีแม่จัน” อันเป็นรักสามเส้านั่นเอง

คู่ปรับสุนทรภู่ วิวาทะภิกษุเมืองนครชัยศรี

ในนิราศพระประธมนี้ ยังมีเหตุการณ์เปี่ยมสีสันอย่างการไม่กินเส้นระหว่างสุนทรภู่ ซึ่งเชื่อว่าขณะนั้นอยู่ในสมณเพศ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ระบุไว้ในหนังสือประวัติสุนทรภู่ โดยอ้างอิงปากคำของ พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด) ว่า

“ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์สุนทรภู่ออกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ท่านพระครูปฐมเจดีย์นั้นเองเป็นผู้ที่เป็นจินตกวีอยู่ในถิ่นนั้นเองทั้งชำนาญภาษาบาลีด้วย จึงนึกว่าจะลองเล่นเพลงมคธกับสุนทรภู่ ดูทีว่าหรือจะดีแต่กลกลอนเท่านั้น หรือจะดีทั้งสองอย่าง ถ้าเช่นนั้นท่านพระครูก็จะได้รับความชมเชยบ้างว่า ตนก็เป็นปราชญ์พอใช้เหมือนกัน แต่ความมุ่งหมายมันผิดไปถนัด คือ เมื่อเยี่ยมท่านอาจารย์ ก็กล่าวธรรมปฏิสันถารขึ้นดังนี้ว่า

สุนฺทฺรา อาคเต เม ปุจฺฉา อหํงกิรวจน ฝูงชนา

ปสํงสา ศุภสาร สะท้านดินฯ

ว่าดังนี้แล้วส่งสำเนาเขียนให้ท่านสุนทรภู่ สุนทรภู่เห็นทีจะไม่พอใจ จะเห็นเป็นว่าพระบ้านนอกคอกนามาหาก็ผิดประเพณีเยี่ยมเยือน หรือจะติว่าอวดรู้สู่รู้ปั้นล่ำ ธรรมเนียมคนจะไปมาหาสู่กันก็จะต้องทักทายปราศรัยจนมีโอกาสต่อกันได้แล้ว จึงจะควรพูดควรสนทนาเรื่องปัญหาน้อยใหญ่ทางสมณประเพณี หรือฐานผู้น้อยกับผู้ใหญ่ จึงจะเป็นสิริมงคล จึงเขียนตอบพุ่งลงไปว่า ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ในราชฐาน แล้วส่งให้ท่านพระครู จะได้แสดงกิริยาอย่างไรต่อไปก็เป็นหมดคำกล่าวเพียงเท่านี้”

สำหรับปริศนาว่าผู้ใดคือคู่ปรับของสุนทรภู่นั้น สันนิษฐานกันว่าคือเจ้าอธิการแป้น เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดพระปฐมเจดีย์ในช่วงก่อน พ.ศ.2400-2408

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่นักวิชาการตั้งข้อสังเกต

และพยายามค้นหาคำตอบอย่างละเอียดลออ ในช่วงชีวิตของสุนทรภู่ที่สร้างผลงานอมตะ ยังคงมีประเด็นหลากหลายให้ค้นหาอย่างไม่รู้จบ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image