คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 ลมร้อนวูบเดียว

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.

ทำให้ข้อมูลจากเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) ชัดเจนขึ้นมาระดับหนึ่ง

คือพบบุคคลและนิติบุคคลที่มีความเกี่ยวพันกับไทย 780 รายชื่อ แบ่งเป็น

บุคคลไทย 411 ราย

Advertisement

คนต่างชาติ 262 ราย

และนิติบุคคล 46 บริษัท

ขณะที่คนไทยที่ปรากฏใน “ปานามา เปเปอร์ส” ด้วยการตั้งบริษัทนอกอาณาเขต หรือบริษัทออฟชอร์ (offshore company) ผ่านบริษัท “มอสแซค ฟอนเซกา” สาขาในไทย มี 16 รายชื่อ

Advertisement

โดย 16 รายนั้น พ.ต.อ.สีหนาทย้ำว่า ในเบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติใดๆ

แต่กำลังดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจของ ปปง. คือมูลฐานการฟอกเงิน

ส่วนประเด็นการเลี่ยงภาษี จะเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร ซึ่งได้ประสานงานกันแล้ว

พิจารณาตามนี้ กรณี เดอะ ปานามา เปเปอร์ส สำหรับไทยคงดำเนินไปตามขั้นตอน “ปกติ”

จึงทำให้เกิดคำถามว่า กรณี เดอะ ปานามา เปเปอร์ส ที่โด่งดังไปทั่วโลก

จะเป็นแค่ลมร้อนกำลังแรง พัดมาวูบเดียวแล้วก็หายไป ใช่หรือไม่

เพราะประการแรก การจะเรียกร้องให้ ปปง.เปิดข้อมูลคนไทยทั้ง 16 คนออกมาคงยาก

ด้วยเหตุผลอาจทำให้ทั้ง 16 คนเสียหาย

เพราะการไปเปิดบริษัทออฟชอร์ อาจจะมาจากเหตุผลที่เราเคยได้ยินมา

เช่น ไปเปิดเพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง ลดต้นทุนการทำธุรกรรมการเงิน

อย่างที่ทำกันทั่วโลก ไม่ถือว่ามี “ความผิด”

ฟังขึ้นหรือไม่ ก็ลองพิจารณากัน

ประกอบกับในเมืองไทยที่ผ่านมา การเอาเป็นเอาตายกับฝ่ายที่ไปตั้งบริษัทออฟชอร์นั้น มักจะเป็นพวกถูกป้ายแขวนคอว่าเป็น “พวกทุนสามานย์” เสียมากกว่า

โดยเฉพาะ “นักการเมืองเลว-เลว” ทั้งหลาย

แต่พอเป็นฟากเศรษฐี นักธุรกิจ หรือองค์กรธุรกิจที่มีภาพคนดีแขวนคออย่างที่หลุดออกมา ก็มักมีการย้ำกันแล้วย้ำกันอีกว่า ต้องให้ความเป็นธรรม

ด้วยเขาอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะทำผิดกฎหมาย

เป็นเพียงอีกรูปแบบของ “การบริหารจัดการธุรกิจ” เท่านั้น

ทั้งที่ก็มีเสียงเตือนออกมาจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นทั่วโลกว่า แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้บุคคลและนิติบุคคลแห่ไปจดทะเบียน บริษัทออฟชอร์ มาจากการเห็นว่านั่นเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการใช้เป็นทางหลีกเลี่ยงภาษี

หรือมากไปกว่านั้น คือใช้เป็นที่ฟอกเงิน ต้มตุ๋น

หรืออาจร้ายยิ่งกว่า คือเป็นที่ซุกซ่อนเงินจากการคอร์รัปชั่น

ดังนั้นในบางสังคม จึงมีข้อห้ามไม่ให้บุคคลที่มีตำแหน่งสาธารณะหรือธุรกิจชั้นนำของประเทศไปมีบริษัทในลักษณะที่ปิดลับดังกล่าว

เพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมไม่โปร่งใสที่ขัดกับหลักธรรมาภิบาล

ข้อมูลจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ระบุว่า ในสหรัฐถึงขนาดมีกฎหมายชื่อ FATCA ที่กำหนดให้คนอเมริกัน ไม่ว่าไปทำมาหากินอยู่ที่ประเทศไหนบนโลกใบนี้ ต้องรายงานให้รัฐบาลทราบถึงรายได้ของตนและต้องเสียภาษี โดยที่สถาบันการเงินในประเทศต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือรายงาน รวมทั้งไทยด้วย

กรณีบริษัทออฟชอร์จึงเป็นเรื่องเทา-เทา

เรื่องเทา-เทาที่เกี่ยวพันกับนักธุรกิจ เจ้าสัวชั้นนำของประเทศ ที่มากมายด้วยอภิสิทธิ์ แต่ยังหาทาง “ลดภาษี” อีก

จึงท้าทายรัฐบาลอำนาจเต็มมือและประกาศเสียงดังฟังชัดว่ามาปราบทุจริต ถึงขนาดมีคนเอาใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงออกมาตอบสนอง จะมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีนี้

จะปล่อยให้เป็นลมร้อนวูบมาแล้วก็หายไป พร้อมข้อมูลที่มีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง 16 คนเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image