‘บุญรักษ์’ ขยายผลสุ่มตรวจอาหารกลางวันทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.ได้ส่งคณะกรรมการลงไปตรวจเยี่ยมโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน สังกัด สพฐ.ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน จำนวน 5 โรงเรียน ใน 4 จังหวัด ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี โรงเรียนวัดหงส์ปทุมาวาส จ. ปทุมธานี โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จ.นนทบุรี โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จ.นครปฐม และโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.สมุทรสงคราม เพื่อติดตามเรื่องการบริหารงบประมาณ คุณภาพอาหาร โภชนาการ สุขอนามัย การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน

“สำหรับภาพรวมในเรื่องการจัดสรรงบฯ พบว่าเทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้โรงเรียนตามจำนวนนักเรียนที่แจ้งไป ส่วนรูปแบบและวิธีการจัดสรรแตกต่างกัน เช่น จัดสรรให้ภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง หรือแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด งวดละ 50 วัน เป็นต้น และมีบางโรงเรียนได้รับงบจากท้องถิ่นล่าช้า แต่ทางโรงเรียนจึงได้นำงบค่าอาหารกลางวันที่เหลือจ่ายจากปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักเรียนมีอาหารกลางวันรับประทานอย่างทั่วถึง” นายบุญรักษ์ กล่าว

นายบุญรักษ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องคุณภาพอาหาร โภชนาการ สุขอนามัย พบว่าโรงเรียนดำเนินการตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน(กพด.) บางโรงเรียนคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในเรื่องอาหารกลางวัน มีใบรับรองอาหาร Green Food และคุณภาพลักษณะครบถ้วนตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีบิดดิ้ง (e-bidding) โดยแบ่งการจ่ายอาหารแบบ Delivery food ออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงปฐมวัย, ป.1-ป.2 , ป.3-ป.4 และ ป.5-ป.6 เพื่อลดการซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ยังมีบางโรงเรียนบริหารจัดการโดยจ้างแม่ครัวมาปรุงอาหารเองตามแบบ Thai School Lunch มีการตั้งคณะกรรมการและคณะร่วมตรวจสอบ เป็นไปตามหลักโภชนาการ นอกจากนี้ ยังพบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ มีคณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นและช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคมนี้ สพฐ.จะส่งคณะกรรมการขยายผลตรวจสอบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อสุ่มกลุ่มเป้าหมาย ก่อนนำผลสะท้อนกลับมาดูว่าส่วนไหนที่จัดอาหารกลางวันได้ดีแล้วนำไปต่อยอด และจุดไหนที่จะต้องปรับปรุงพัฒนา และดูแลอย่างเต็มรูปแบบ ในการจัดโครงการอาหารกลางวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image