‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รอชี้ชะตารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง

หมายเหตุ – นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน การเตรียมการเลือกตั้งในอนาคต พร้อมทั้งแสดงจุดยืนอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือไม่
แม้ยังไม่สามารถกำหนดวันและเวลาที่แน่นอนได้ แต่โดยสัญชาตญาณของคนที่อยู่ในแวดวงการเมือง ก็พอจับสัญญาณได้ว่าไม่น่าจะมีการเลื่อนออกไปได้นานเหมือนครั้งที่ผ่านมาอีกแล้ว ยิ่งเมื่อมีการประกาศเรื่องพระราชพิธีที่มีความหมายต่อคนไทยทุกคน ย่อมไม่มีใครตั้งใจป่วนหรือทำให้เกิดความไม่สมพระเกียรติต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จึงมั่นใจว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในปี 2562 หรืออย่างมากก็ในไตรมาสสาม ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้ หรือหากจะเลื่อนก็กำหนดมาเลยว่าจะจัดเลือกตั้งวันไหน และต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ถ้าการเลือกตั้งถูกเลื่อนไปจัดในปี 2565 ก็ค่อยมาว่ากัน

พรรคภูมิใจไทย เริ่มขยับลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงละศีลอดส่งท้ายรอมฎอนที่ผ่านมา ทำให้ดูเหมือนมีนัยทางการเมือง

ความเป็นพรรคการเมืองแม้ไม่สามารถเคลื่อนไหวในทางการเมืองได้ แต่เรามีสมาชิกพรรค มีอดีต ส.ส. ที่ไม่เคยทิ้งพื้นที่ ต่อให้เขาไม่ได้เป็น ส.ส.แต่ก็มีความเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อมีงานประเพณีที่สำคัญ เขาก็คิดว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ของหน่วยงานที่เขาสังกัดลงไปร่วมงานจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี เป็นการประคับประคองความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

มองว่าเป็นการเจาะพื้นที่ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่
เวลานี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงยังไม่มีพื้นที่ของใคร ไม่อย่างนั้นพรรคภูมิใจไทยคงเหลือแค่บุรีรัมย์จังหวัดเดียวที่ส่งผู้สมัครได้ ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้นักการเมืองต้องเปิดใจกว้าง เพราะกฎเขียนไว้ว่าทุกคะแนนมีความหมาย ถ้าเราได้ 9,999,700 คะแนน แค่ 300 คะแนนก็รวมให้เป็นล้านได้ ดังนั้น จะบอกว่าเขตของใครคนอื่นห้ามเข้าคงไม่ได้

ในอดีตผู้ชนะต้องได้คะแนนสูงสุด บางพื้นที่ที่เราไม่มีความหวังก็เลือกที่จะไม่ส่งผู้สมัครเลยดีกว่า เพื่อจะได้ทุ่มความพยายามไปใส่ในพื้นที่ที่แข็งแรงที่สุด แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ไหนมีคะแนนแม้เพียง 1 คะแนน เราก็ต้องส่งผู้สมัคร เป้าหมายของพรรคคืออยากส่งผู้สมัครครบ 350 เขต ซึ่งถ้าคิดแค่จะส่งให้ครบนั้นง่ายมาก แต่ผมจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเรามียางอายและเกรงใจประชาชน ผมส่งใครลงไป คนคนนั้นต้องเป็นที่รู้จักในพื้นที่ เป็นที่พึ่งพา ไว้ใจได้ ดังนั้น หากพรรคภูมิใจไทยไม่ส่งผู้สมัครในเขตใด นั่นหมายความว่าเราหาคนที่ได้รับความนิยมในพื้นที่นั้นไม่ได้แล้ว

Advertisement

พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.ที่มีคะแนนในเขตเป็นอันดับ 2 และ 3 จำนวนมาก และในภาคอีสาน เรามี ส.ส.คะแนนอันดับ 2 จำนวนมากที่สุด ซึ่งในอดีตพวกเขาไม่ใช่ผู้ชนะ แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง เขาจะมีความสำคัญต่อพรรคมาก เราต้องสนับสนุนให้เขาชนะในพื้นที่ แต่หากไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ยังมีคะแนนเพียงพอที่จะช่วยให้พรรคทำ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ เพราะโดยพื้นฐานของ ส.ส.ที่พรรคภูมิใจไทยจะส่งลงเลือกตั้ง ต้องมีฐานคะแนน 35,000 คะแนนขึ้นไป ทั้งนี้ ถ้าคิดว่า 70,000 คะแนนน่าจะได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง หมายความว่าแม้จะสู้ไม่ชนะ แต่เมื่อบวกคะแนนของผู้สมัครสองคนก็จะได้ 1 ที่นั่ง คิดแล้วอยู่ในอัตราส่วน 2:1

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเป็นตัวแปรใหม่ในภาคใต้ที่แย่งฐานเสียงกับพรรคประชาธิปัตย์และอาจจะทำให้พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสมากขึ้น
ผมเติบโตมาได้จนทุกวันนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ทำ เป็นเพราะผมคิดว่าทำยังไงให้ตัวเราทำได้ดีที่สุด โดยที่ไม่ได้มองข้างๆ ว่าเขาทำอะไรบ้าง เมื่อกำหนดยุทธศาสตร์อะไรขึ้นมาก็ต้องเชื่อว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดีที่สุด เดินไปทางนั้นและยอมรับผลลัพธ์โดยไม่มีข้อกังขาหรือออกมาประท้วง เพราะฉะนั้น ต้องปิดหูปิดตา ถ้าให้ดีคือปิดปากด้วย แล้วมุ่งมั่นทำเป้าหมายของเราให้ได้ผล ไม่อย่างนั้นถ้าอยู่ภาคใต้ก็ต้องกังวลพรรคคุณสุเทพ อยู่อีสานก็ต้องกังวลเพื่อไทย แล้ววันนี้ยังต้องมากังวลพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคประชาธิปัตย์อีก
ในการเลือกตั้งครั้งหน้าทุกคนจะเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน แม้บางพรรคจะมีภาพออกมาดูเหมือนเป็นพรรคที่สนับสนุนคณะผู้บริหารประเทศในปัจจุบัน แต่เราต้องไม่กลัว เพราะนี่คือการเมือง ในประวัติศาสตร์ก็เห็นแล้วว่าคนเป็นรัฐบาลไม่ได้แปลว่าจะบันดาลทุกสิ่งได้ พรรคภูมิใจไทยเคยดูแลกระทรวงมหาดไทย เคยตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ตั้งอธิบดีทุกกรม แต่ไม่เห็นจะช่วยเรื่องการเลือกตั้งได้ อย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีคำว่าเหนื่อยเปล่า คนที่จะทำให้ตัวเองชนะในพื้นที่ได้คือตัวผู้สมัคร ถ้าคิดว่าทำดีที่สุดแล้วมันจะมีแค่ผลเลิศกับผลรอง ในยุคที่จะไม่มีบัตรลงคะแนนเลือกพรรค มีแต่บัตรเลือกผู้สมัคร พรรคไหนที่ได้ผู้สมัครที่มีคะแนนนิยม ไม่เคยทอดทิ้งชาวบ้าน เสมอต้นเสมอปลาย พรรคนั้นโชคดีที่สุด

คนในพรรคเพื่อไทย ออกมาโวยวายเรื่องการดูดอดีต ส.ส.เกรดเอในภาคอีสาน ระบุว่ามีการให้ราคาสูงถึงคนละ 30-50 ล้านบาท พรรคภูมิใจไทยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

โอ๊ย! ทำไมไม่มาดูดหัวหน้าพรรคล่ะ คิดครึ่งราคาพอ มันไม่มีหรอก พูดไปเรื่อย ฝ่ายที่เสียคนออกไปก็ต้องบอกว่าเราเก็บเขาไม่ได้เพราะมีค่าดูด แต่ไม่มีใครรู้หรอก ไม่มีวันรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ข้อดีอย่างหนึ่งของความเป็นพรรคภูมิใจไทย คือถ้าอยู่กันไม่ได้ก็แยกย้ายกันไป แต่อย่าโกรธกัน ในทางการเมืองการย้ายพรรคไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ยังไม่เห็นใครที่ย้ายพรรคบ่อยๆ แล้วจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน พอมีอยู่บ้างที่ลมเพลมพัด ฟลุคแล้วไปติดยอด แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ส.ส.ที่เขามีความมั่นใจในศักยภาพและความนิยมของตัวเอง ไม่มีใครเปลี่ยนพรรคหรอก

สิ่งสำคัญที่สุดของความเป็นนักการเมืองคือการได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น เป้าหมายแรกของพรรคภูมิใจไทยที่มีนายอนุทินเป็นหัวหน้า คือนำ ส.ส.เดินเข้าสภาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ส่วนเรื่องอื่นเป็นเรื่องเล็กที่ค่อยไปคิดเมื่อถึงเวลา นี่คือเสน่ห์ของการเมือง เราไม่ต้องไปวางแผนเพราะปัจจัยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Advertisement

หากต้องอาศัยเสียง ส.ส.ในสภา เพื่อยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนใน จะทำให้ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล
คนที่พูดหรือคิดแบบนี้คือคนที่ไม่เข้าใจการเมือง เพราะการตัดสินใจทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราอย่างประชาชนจะตัดสินใจออกมา ฉะนั้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นเพียงการคาดคะเน สำหรับคนที่ติดตามการเมืองไทยจะเข้าใจว่า ณ วินาทีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ทุกคนจะสามารถคาดเดาทิศทางของแต่ละพรรคได้ ดูไม่ยาก เพราะเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองคือ ต้องกำหนดนโยบายที่ดีที่เข้ากลางใจประชาชน สามารถปฏิบัติและเห็นผลได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เป็นนโยบายที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถ้าทำทั้งหมดนี้ได้ก็สามารถกำหนดทิศทางการเมืองให้เป็นอย่างไรก็ได้

หลายพรรคกังวลเรื่องทำไพรมารีโหวต เนื่องจากติดเงื่อนไขเวลาที่จำกัด
พรรคไม่มีปัญหา เรื่องเงื่อนไขเวลาหรือจำนวนสมาชิกพรรคเป็นงานธุรการทั่วไป มีระเบียบและขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นสิ่งกำหนดความเป็นความตายของพรรค แต่ความสำคัญอยู่ที่ผู้สมัคร ผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมสูง ลงพื้นที่สม่ำเสมอ รับฟังความเห็นประชาชนแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้ เขาจะเดินมาพร้อมผู้สนับสนุน พรรคจะได้เห็นว่าควรเลือกเขาเพราะเขามีศักยภาพ แต่ผู้สมัครคนใดบอกว่าหาผู้สนับสนุน 100 คนไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาสมัคร

เดินมาทางไหนก็กลับไปทางนั้น
ผมไม่รู้ว่าพรรคอื่นจะมองทุกอย่างให้เป็นปัญหาหรือไม่ แต่สำหรับผมมองว่าไพรมารีโหวตเป็นโอกาสที่เราจะพรีควอลิฟาย ได้ทดสอบความสามารถของผู้สมัครแต่ละคนก่อน เพราะถ้าบอกว่าไม่มีสมาชิกในมือแล้วมาขอให้พรรคช่วย คงต้องให้ไปสมัครที่อื่น เหมือนกับเวลาไปสมัคร คนที่ขนกองเชียร์มาเองเป็นคันรถ นั้นแปลว่าเขามีคะแนนในมือ

มองอย่างไรกับการที่พรรคการเมืองประกาศแก้รัฐธรรมนูญ 2560 หลังเลือกตั้ง

พรรคภูมิใจไทยไม่ให้ความสำคัญมากนักกับรัฐธรรมนูญหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดเรื่องการเมือง เพราะความตั้งใจของพรรคคือต้องทำทุกอย่างภายใต้ระเบียบข้อบังคับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่มีทางแหกกฎ เราจึงไม่มีอะไรต้องห่วง

อย่างการเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการพูดถึงแต่เรื่องจุดอ่อน ข้อบกพร่อง ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนแปลงขอบเขตอำนาจของพรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น ยังจับใจความไม่ได้ว่าประชาชนจะได้อะไร บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องฉีก เป็นวาทกรรม ดูอารมณ์ของประชาชนและพยายามพูดเพื่อเร่งเร้าให้เกิดความฮึกเหิม เรื่องพวกนี้มันวูบวาบชั่วคราว

สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยจะปฏิบัติคือ ไม่ว่าจะพูด คิดหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ผลของการปรับปรุงนั้นต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ใช่ให้ตัวเอง ดังนั้น เราต้องฟังผู้มีอำนาจที่แท้จริงคือประชาชนว่าเขาต้องการอะไรและต้องนำไปปฏิบัติตาม

หมายความว่าหากวันหนึ่งประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยก็ยินดีปฏิบัติ
ถูกต้อง แต่ประชาชนลงประชามติยอมรับรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้ง 70% ผมเชื่อว่านี่คือเสียงของประชาชน ผู้แทนเมื่อเข้าสภาแล้วไม่ใช่ว่าพวกมากลากไป ทำทุกอย่างที่ตัวเองต้องการโดยไม่คิดถึงคนที่เลือกเราเข้ามา จะเห็นได้ว่าพรรคภูมิใจไทยไม่เคยมีความพยายามที่จะชักใบให้เรือเสีย เพราะเรือลำนี้ผ่านการตรวจสอบทุกอย่าง ผ่านประชามติอย่างท่วมท้น มีความสวยงามเพียงพอที่จะแล่นเรือต่อไปได้

แต่มีฝ่ายที่แย้งว่าการลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบธรรม เพราะกลุ่มที่คัดค้านรัฐธรรมนูญไม่สามารถรณรงค์ต่อประชาชนได้
นั่นคือข้อแก้ตัวของผู้ที่ไม่ต้องการยอมรับผล อ้างได้หมด อ้างว่ามีการใช้อำนาจรัฐ มีการจำกัดการให้ความรู้ต่อประชาชน บางคนบอกว่าเพราะประชาชนอยากเลือกตั้ง นี่คือโทษคนอื่นหมด ยกเว้นโทษตัวเอง ทำไมดูถูกคนไทย คนไทยไม่มีความคิดเป็นของตัวเองเลยหรือ

ลองให้เรือมันแล่นออกทะเลไปก่อน ของทุกอย่างจะรู้ว่าดีหรือไม่ดี ต้องผ่านการใช้งาน จะได้ไม่มีใครมาเถียง การปรับเปลี่ยนทำให้ต้องเสียงบประมาณและเกิดความขัดแย้ง เลวร้ายที่สุดคือทำแล้วก็ได้แต่เพียงให้ตนเองและพวกพ้องมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้นเอง ประชาชนไม่ได้รับรู้อะไรเลย นี่คือสิ่งที่ภูมิใจไทยจะไม่ทำ
****ศศินภา วัฒนวรรณรัตน์ และ กุลนันท์ ยอดเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image