สุจิตต์ไขปม “ลูกทุ่งมาจากไหน?” ชี้เคยถูกด่าขรม ก่อนกลับมาฮิตหลัง 2507

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 14 กรกฎาคม ที่ร้าน เฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์ สำนักพิมพ์ไรท์เตอร์จัดงานรำลึก 100 ปีชาตกาล ครูไพบูลย์ บุตรขัน และในวาระนำหนังสือ “คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน” โดยวัฒน์ วรรลยางกูร จัดพิมพ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก ภายในงานมีการบรรเลงแอกคอเดี้ยนบทเพลงของครูไพบูลย์ โดย นายกฤษณะ ไก่แก้ว และร้องเพลงมนต์รักเพลงลูกทุ่ง ในช่วงหนึ่งของงาน เป็นการเล่าถึงความเป็นมาของเพลงลูกทุ่งโดย นาย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน

นายสุจิตต์ กล่าวว่า เพลงลูกทุ่งเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมเพลงป็อบมีกำเนิดจากความขัดแย้งทางชนชั้นอันเนื่องมาจากทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม หลัง 2475 ซึ่งมีหลักฐานจำนวนมากทางกำเนิด โดยก่อนจะมาเป็นเพลงลูกทุ่งสามารถแยกได้ 2 กลุ่มคือ 1.เพลงผู้ดี 2.เพลงตลาด เพลงตลาดไม่ได้ตั้งขึ้นเองแต่ถูกเรียกอย่างเหยียดโดยกลุ่มผู้ดี ซึ่งเพลงตลาดบางครั้งเรียกตัวเองว่า “เพลงชีวิต” แต่ภายหลังมีการนำเพลงตลาดมาจัดรายการเพลงทางโทรทัศน์ จึงถูกเรียกเป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเพลงลูกทุ่งไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆแต่มาจากพัฒนาการเพลงไทยสากล เพลงตลาดถูกเหยียดหยามจากเพลงผู้ดี ตอนนั้นโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรม ได้มีการนำเสนอเพลงตลาด แต่พวกเพลงผู้ดีด่ากันหมด แต่หลังจากนั้นเสียงด่าลดลงและมีคนให้ความสนใจกัน ซึ่งในปลายปี พ.ศ 2507 ได้มีการนำเสนอเพลงลูกทุ่งอีกครั้ง ทำให้โทรทัศน์ช่องอื่นๆมีการเปิดเพลงลูกทุ่งเกิดขึ้น ถึงแม้เพลงลูกทุ่งจะสำเร็จการนำเสนอทางโทรทัศน์ก็ตามแต่ยังมีการค้านจากกลุ่มผู้ดีว่าเพลงของตนดีกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ นายสุรพล สมบัติเจริญ หรือ พ.อ.ท. ลำดวน สมบัติเจริญ นักร้องเพลงลูกทุ่ง เจ้าของเพลงดัง “16 ปีแห่งความหลัง”ซึ่งถูกยิงในปีพ.ศ. 2511 ได้มีการพัฒนาการขึ้นและเพลงลูกทุ่งได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น จากที่เคยถูกกีดกันจากไนต์คลับก็สามารถเล่นได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image