‘หัวเว่ย’ มอง5Gเอื้อภาคผลิต-สื่อสาร-การแพทย์ พร้อมพัฒนาระบบ-ดีไวซ์รับการใช้งานทั่วโลกปี63

เมื่อเวลา 09.50 น. ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ หนังสือพิมพ์มติชน จัดงานสัมมนาเรื่อง ทำอย่างไรให้ “5G เทคโนโลยีพลิกโลก” เกิดขึ้นจริงในไทย โดยนายตู้ เย่ชิง รองผู้อำนวยการด้านผลิตภัณฑ์ 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ จำกัด กล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า หัวเว่ยได้เริ่มมีการวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่่งเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้สามารถส่งข้อมูลได้จำนวนมาก และมีความหน่วงต่ำ สามารถใช้เชื่อมโยงอุปกรณ์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน หากย้อนไปช่วงที่มีการใช้ 3G ความเร็วสูงสุดที่มีการใช้งาน คือ 1 เมกะบิตต่อวินาที ขณะที่ 4G อยู่ที่ 10-20 เมกะบิตต่อวินาที แต่ 5G จะอยู่ที่ 100-200 เมกะบิตต่อวินาที ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่และทุกเวลา โดยที่ไม่ต้องกังวลและคำนวณว่าใช้ข้อมูลเสียงและดาต้าไปแล้วเท่าไร

ทั้งนี้ 5G สามารถรองรับวีดีโอที่มีความละเอียดในระดับ 4K หรือ 8K รวมทั้งเทคโนโลยีเสมือนจริง(AR) และการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง(VR) เป็นต้น สำหรับเทคโนโลยี 5G จะส่งผลดีต่อทุกอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิต คาดว่าในปี 2578 ภาคการผลิตจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นกว่า 28% ของมูลค่าจีดีพีของโลกที่เกิดจากเทคโนโลยี 5G สองคือธุรกิจการสื่อสารที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสาม ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ มูลค่ากว่า 5.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

นอกจากนี้ การค้าปลีกและค้าส่ง ภาคบริการ การก่อสร้าง การขนส่ง ภาคการเงิน และการศึกษา ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน ทั้งนี้ในจีน คาดว่าปี 2573 จะมีการลงทุนจากเทคโนโลยี 5G ในหลายมิติและจะมีผลต่อจีดีพีราว 5 ล้านล้านหยวน และจะมีอุปกรณ์ในภาคการผลิตกว่า70% ที่มีการเชื่อมโยงกับ 5G

นายเย่ชิง กล่าวว่า ปัจจุบัน หัวเว่ย ได้มีการทดสอบใช้ 5G ในอุตสาหกรรมการขนส่ง ที่เมืองอู๋ชี๋ ของจีน สำหรับรถยนต์ไร้คนขับซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน รวมทั้งด้านการลดใช้พลังงานเพราะใช้ไฟฟ้า ด้านอุตสาหกรรมการผลิตได้ร่วมเข้าไปทดสอบเทคโยโลยี 5G ในโรงงานของพันธมิตร เช่น บอซ เพื่อนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโรงงาน และจะมีการผลักดันให้เกิดการสร้างมาตรฐานในอุตสาหกรรม และอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีการทดสอบเรื่อง ชิปเซ็ตและเทอมินัลของผู้ผลิต เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมีความร่วมมือกับสมคม 5GACIA เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันทดสอบเทคโยโลยี 5G เพื่อนำมาใช้จริง ทั้งนี้ อีกอุตสาหกรรม คือ สมาร์ทกริดในอุตสาหกรรมพลังงาน ในอนาคตคือรถยนต์ไร้คนขับซึ่งเหมาะกับเทคโยโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ต่อไปในกรุงเทพฯ อาจจะต้องมีแท่นชาร์ทของรถไฟฟ้า แต่หากมีการชาร์ทพร้อมกันจะมีการใช้พลังงานจำนวนมาก ดังนั้น แต่ละกริดจะต้องมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถควบคุมด้านการใช้พลังงานได้เอง

นอกจากนี้ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับหรือโดรน ที่ปัจจุบันมีความนิยมมากขึ้น แต่เป็นอันตรายหากใช้ไม่ถูกที่ เช่น ใช้ใกล้สนามบิน หรือบินในความสูงเกิน 10 กิโลเมตร ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุปกรณ์และทราบว่าโดรนเป็นของใคร และจะมีการสร้างสถานีฐานวิทยุเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน ซึ่งจะถือเป็นโอกาสของผู้ให้บริการโครงข่ายด้วย นอกจากนี้ หัวเว่ย ยังมีการสร้างแฟลตฟอร์มเพื่อเชิญชวนพันธมิตรเข้ามาร่วมทดสอบเทคโนโลยี ทั้งรถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น

“ปีนี้ทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างการประมูลเรื่อง 5G เช่น เกาหลีใต้ อังกฤษที่ได้เริ่มดำเนินการเฟสแรก ช่วงครึ่งปีหลัง คือ สเปน อิตาลี สหรัฐ ออสเตรเลีย และจีน ส่วนปี 2563 แคนาดา นอร์เวย์ รวมทั้งไทย และทั่วโลก ซึ่งหัวเว่ยจะเริ่มมีการพัฒนาระบบของเทคโนโลยี 5G NSA E2E ออกมาใน่วงปลายปีนี้ และต้นปี 2562 จะเปิดตัวเทคโนโลยี 5G SA E2E และพร้อมที่จะมีการพัฒนาสมาร์ทโฟนรองรับการใช้งานของประเทศไทยในปี 2563 ได้” นายเย่ชิง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image