สถานีคิดเลขที่12 : ชะตากรรมของ‘มาร์การีน’ : โดย ปราปต์ บุนปาน

ประเทศไทยกำลังตื่นตัวกรณี “ไขมันทรานส์”

หลังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์และอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ โดยให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า

สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ให้ทั่วโลกเลิกบริโภคไขมันทรานส์อย่างสิ้นเชิงภายใน ค.ศ.2023 (พ.ศ.2566)

ท่ามกลางภาวะตื่นตัวดังกล่าว “มาร์การีน” หรือ “เนยเทียม” กลายเป็นตัวอย่าง (จำเลย) สำคัญของวัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ

Advertisement

ก่อนหน้านี้ สถานะของมาร์การีนในสังคมตะวันตกร่วมสมัยก็ตกต่ำลงมากเช่นเดียวกัน แม้บรรดาผู้ผลิตจะพยายามยืนยันว่าเนยเทียมรุ่นใหม่ๆ ของพวกตนไม่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมอีกแล้ว

แต่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและตัวผู้บริโภคเองกลับไม่เชื่อคำยืนยันเหล่านั้นสักเท่าไหร่

อีกทั้งมีแนวโน้มหรือกระแสสังคมที่จะหวนมาบริโภค “เนยจริง” กันมากยิ่งขึ้น

Advertisement

ส่งผลให้ “ยูนิลีเวอร์” ต้องขายกิจการผลิตมาร์การีนแก่บริษัทเอกชนรายอื่น หรือธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเจ้าใหญ่อย่าง “แมคโดนัลด์” ก็ประกาศใช้เนยจริงในการประกอบอาหาร

มาร์การีนถือกำเนิดครั้งแรกสุดในฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ.1869 (พ.ศ.2412)

ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนยชนิดนี้ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลน “อาหารจริง” อันเนื่องมาจากจำนวนประชากรที่ขยายตัวจนเกินจะควบคุม

ในศตวรรษที่ 19 เนยเทียมจึงถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ทางวิศวกรรมอาหาร และเป็นแบบอย่างของคหกรรมศาสตร์สมัยใหม่

วัตถุดิบประกอบอาหารประเภทดังกล่าวคือสินค้าสำหรับมวลชน ซึ่งเข้าถึงได้ง่าย (ทั้งในแง่ปริมาณการผลิตและราคาขาย) จนคล้ายจะเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย นวัตกรรม และความเจริญก้าวหน้า ในสังคมตะวันตกยุคนั้น

แถมยังได้รับการยืนยันในช่วงแรกๆ ว่า “มีคุณค่าทางโภชนาการ” อีกด้วย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาร์การีนยังมีสถานะเป็น “ข้าวของจำเป็น”

เพราะแทบทุกครัวเรือนในสหราชอาณาจักรต่างต้องพึ่งพาเนยเทียมเป็นวัตถุดิบ “สามัญประจำบ้าน” เพื่อใช้ประกอบอาหาร

อย่างไรก็ดี พร้อมๆ กับที่มาร์การีนได้กลายเป็น “สินค้าแมส” ที่ทุกคน โดยเฉพาะชนชั้นล่างผู้มีฐานะยากจน สามารถเข้าถึงโดยถ้วนหน้า

ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ก็เริ่มถูกนิยามหรือตีความใหม่โดยบรรดาบุคคล “เสียงดัง” ในแวดวงชนชั้นนำ (อาทิ นักประพันธ์)

มาร์การีนได้รับการกล่าวถึงในฐานะภาพแทนของความขาดแคลน-ยากไร้ยุคหลังสงคราม

มันเป็นภาพแทนของความขัดสนและรสนิยมสาธารณ์ที่ครอบงำผู้คนกลุ่มใหญ่ในสังคม

รวมทั้งโดนเหยียดหยามว่าเป็น “สินค้าชั้นสอง” หรือ “ของปลอม” (ทำเหมือน)

หากพิจารณาเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์-สังคม-วัฒนธรรม โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ต้องใช้ “เนย” เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการปรุงอาหาร

วิวาทะเรื่อง “เนยแท้ปะทะเนยเทียม” จึงจุดประเด็นความขัดแย้ง (ทางชนชั้น) ได้เสมอมา

แต่ลำพังเพียงแค่ความเชื่อ วิถีชีวิต และโลกทัศน์อันแตกต่างระหว่างกลุ่มคน ก็ยังไม่สามารถเบียดขับ “มาร์การีน” ออกไปจากสังคมได้อย่างเด็ดขาด

กระทั่งมีองค์ความรู้-ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์มารองรับโดยสมบูรณ์แบบนั่นแหละ

“มาร์การีน” หรือ “เนยเทียม” จึงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับประดิษฐกรรมอีกมากมายหลายประเภทบนโลกใบนี้

ประดิษฐกรรมที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาสำคัญของผู้คนยุคหนึ่ง

ก่อนจะตกที่นั่งลำบากกลายเป็น “ตัวปัญหา” เสียเองในยุคสมัยถัดมา

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image