สำนักชลประทานที่ 6 ติวเข้ม จนท.ตรวจสอบแหล่งน้ำขนาดใหญ่พร่องน้ำรองรับ ‘เซินติญ’

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ห้องประชุม OR สำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ตลิ่งทรุด ถนนพัง จากพายุดีเปรสชั่นเข้ามาในประเทศไทยและส่งผลกระทบให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตก มีเมฆมาก ประชาชนต้องระมัดระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

นายศักดิ์ศิริกล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่สถานการณ์ฤดูฝน หรือฤดูน้ำหลาก ทำให้พื้นที่เขตชลประทานที่ 6 ขอนแก่น พื้นที่รับผิดชอบ จ.ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ และ จ.มหาสารคาม จึงต้องเริ่มเฝ้าระวัง โดยมีการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ 1.เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เหลือน้ำเก็บกัก 32% 2.เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เหลือน้ำเก็บกัก 48% 3.เขื่อนจุฬาภรณ์ หรือเขื่อนน้ำพรม จ.ชัยภูมิ เหลือน้ำเก็บกัก 66% โดยมีการระบายน้ำออกในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับเอาน้ำที่ระบายส่งให้เกษตรกรที่ทำการเกษตร ถ้าเกิดพายุฝนตกลงมาในพื้นที่ดังกล่าวก็สามารถรองรับน้ำได้ในปริมาณมาก

นอกจากนี้ ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ตามลำน้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ต้องมั่นคงแข็งแรง พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเฝ้าระวังการระบายน้ำ โดยให้สื่อสารกับข้อมูลส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระทบประชาชนและเกษตรกรให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ต้องนำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปประจำในพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะใน จ.ขอนแก่น จุดที่น้ำท่วมซ้ำซาก ได้นำเครื่องจักรเครื่องมือขนาดใหญ่เข้าไปประจำพื้นที่ 3 แห่ง เมื่อเกิดน้ำท่วมฉับพลันสามารถสูบน้ำระบายออกไปยังจุดที่เตรียมไว้ได้ทันท่วงที

นายศักดิ์ศิริกล่าวเพิ่มเติมว่า อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมผ่านมา ได้เกิดเหตุประสบพายุฝนและคันกั้นน้ำเกิดความเสียหาย เพราะน้ำในลำน้ำยังมีปริมาณมากจนล้นความจุของปริมาณลำน้ำยัง ช่วงนั้นมีปริมาณฝนที่ตกมาเป็นจำนวนมาก จึงเกิดผลกระทบคันกั้นน้ำเสียหาย ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปแก้ไขอย่างต่อเนื่องโดยรีบปิดคันกั้นน้ำได้เรียบร้อย เมื่อ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และลำน้ำยังได้กลับเข้าสู่สภาพปกติแล้ว นอกจากนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องออกไปตรวจคันกั้นน้ำจุดอื่นๆ เพื่อทำให้มั่นคงป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

Advertisement

“เกี่ยวกับหลายจังหวัดในประเทศเจอหางเลขพายุ ‘เซินติญ’ ในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น ได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะหลายจังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมี จ.ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ และ จ.มหาสารคาม ฝนตกมาไม่มากนัก และการเตรียมมาตรการต่างๆ แก้ไขผลกระทบกับ ‘เซินติญ’ ก็สามารถทำได้ดีเพราะไม่มีน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ทุกอย่างอยู่ในสภาพปกติ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาเดือนกันยายนและสิงหาคม ยังเป็นช่วงของฤดูฝน ไม่ทราบว่าจะเกิดพายุลูกไหนเข้ามาในภาคอีสานอีก ทาง สนง.ชลประทานที่ 6 ขอนแก่น จึงต้องดูแลแหล่งน้ำในเขตความรับผิดชอบ และใช้มาตรการในการพร่องน้ำ พร้อมกับรับสถานการณ์น้ำให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนปี 2560 เมื่อเข้าสู่ภัยแล้งประชาชนก็มีน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างเพียงพอ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image