เที่ยวเล่น เรียนรู้ ดื่มด่ำวิถีชวา “ยอกยา-บาหลี”อินโดนีเซีย เสน่หาหมู่เกาะทะเลใต้

วัดอูลันดานูบราตัน

คําพูดหนึ่งที่แทงใจเราชาวคนไทยคือ เราอยู่ใกล้กัน แต่เราไม่รู้จักกัน

ใกล้กันขนาดไหน ไม่ต้องมองไปไกล เราเห็นผักตบชวาลอยอยู่เต็มลำคลอง แต่ถามว่า ผักตบชวามาจากไหน แล้ว “ชวา” อยู่ที่ไหน หลายคนไม่รู้จัก

แม้ว่า 10 ชาติในอาเซียนจะหลอมรวมกันภายใต้ชื่อ “ประชาคมอาเซียน” เป็นการรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างพลังทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่จนถึงวันนี้เรายังรู้จักเพื่อนบ้านเราน้อยนัก รวมทั้ง “อินโดนีเซีย” หนึ่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นต้นธารของความคิดของวัฒนธรรมหลายๆ อย่าง เป็นแม่แบบของสยามในหลายๆ เรื่อง

สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้ง ซึ่งในครั้งนั้นการเดินทางไม่ได้ง่ายดายเช่นทุกวันนี้ ต้องโดยสารทางเรือใช้เวลานานเป็นแรมเดือน แต่เสด็จประพาสชวาถึง 3 ครั้ง แสดงว่าที่ชวาต้องมีดี

Advertisement

สมฤทธิ์ ลือชัย

“ชวา เป็นแม่แบบของสยามในหลายๆ เรื่อง ถ้าเทียบกันง่ายๆ กับปัจจุบันที่เรามักไป ?ดูงาน? ในต่างประเทศ ในยุคนั้นชวาก็เป็นสถานที่ที่พระองค์เสด็จไปดูงาน” อาจารย์สมฤทธิ์อธิบายแบบเข้าใจง่าย

อย่างสวนดุสิต ซึ่งต่อมากลายเป็นเขาดินวนานั้น ก็ได้แบบอย่างความคิดของการจัดสวนพฤกษศาสตร์ของชวามาจัดที่สวนดุสิต โดยครั้งนั้นเสด็จที่สวนพฤกษศาสตร์ “โบกอร์” (Bogor) ในกรุงจาการ์ตา สวนพฤกษศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โปรดเดินเล่นในสวนทุกวัน และเมื่อทรงนิวัตพระนครแล้ว โปรดนำเอาชาวชวามาทำสวนที่สวนดุสิตโดยมีโบกอร์เป็นแม่แบบ

Advertisement

ในมิติของประวัติศาสตร์ อาจารย์สมฤทธิ์บอกว่า ต้องถือว่าชวามีความสำคัญ ถ้ามองในแง่การถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียมาสู่อุษาคเนย์ ชวาก็คือ สถานีถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียนั่นเอง คือจากอินเดีย มาชวา มาขอม และอาจจะส่งไปที่อื่นๆ ด้วย

“เราทราบกันว่าผู้สถาปนาลัทธิเทวราชาของอาณาจักรขอม คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ในจารึกสด๊กก๊อกธมระบุว่า พระองค์เสด็จชวาก่อน หลังจากนั้นจึงได้สถาปนาลัทธิเทวราชา หรือ ลัทธิเทวราชขึ้นในอาณาจักรขอม ซึ่งลัทธินี้ได้ตกทอดมาถึงกษัตริย์อยุธยา และเอาเข้าจริงๆ จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ไทยเป็นเทวราชา”

มหาเจดีย์บุโรพุทโธ
มหาเจดีย์บุโรพุทโธ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชวา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอินโดนีเซียในอดีต และสยามใกล้ชิดกันมานานนักแล้ว เรารู้จักอิเหนา นกเขาชวา รู้จักเพลงไทยเดิม อย่าง เพลงชวา เพลงนกเขามะราปี สิ่งเหล่านี้แสดงความสัมพันธ์ว่าเรากับชวาเกี่ยวข้องกันมา และในสมัยอยุธยามีชาวชวามาอาศัยอยู่ในอยุธยาและตั้งเป็นกองอาสาที่เรียกว่า กองอาสาแขกชวา

ทั้งหมดสะท้อนว่า ในอดีต 1.ชวาหรืออินโดนีเซียในอดีต เป็นสถานีถ่ายทอดอารยธรรมภารตภิวัฒน์ (Indianization) มาสู่อุษาคเนย์ 2.อยุธยากับชวา มีความสัมพันธ์กัน เราได้ผู้คน เราได้ศิลปวัฒนธรรมจากชวา เพียงแต่ในปัจจุบันเราค่อนข้างรู้จักชวาหรืออินโดนีเซียน้อยมาก

ในเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว การรู้เขา-รู้เราเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือน เราไม่ค่อยรู้จักเขา ขณะที่เขารู้จักเราเป็นอย่างดี

“การที่เราไม่รู้จักกันเลย การจะพัฒนาอาเซียนให้ประสบความสำเร็จคงเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นในแง่ของการเป็นอาเซียน เราควรจะเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกัน” อาจารย์สมฤทธิ์ให้ทรรศนะ

 

ภาพแกะสลักพุทธประวัติบริเวณมหาเจดีย์บุโรพุทโธ
ภาพแกะสลักพุทธประวัติบริเวณมหาเจดีย์บุโรพุทโธ

เป็นที่มาของทัวร์เชิงวัฒนธรรม ที่ มติชนอคาเดมี เชิญ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย เป็นวิทยากรพิเศษ พาไปสัมผัสแดนมนต์ขลังแห่งอาณาจักรหมู่เกาะทะเลใต้ “ชวา-ยอกยา-บาหลี” ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2559 (4 วัน 3 คืน) เดินทางโดยสายการบินแอร์เอเชีย และการูด้า อินโดนีเซีย (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124 และ 08-2993-9097, 08-2993-9105)

 

โปรแกรมคร่าวๆ อาทิ เข้าชม “วิหารทานาห์ลอต” หนึ่งใน 5 วัดสำคัญของบาหลีที่ตั้งอยู่บนโขดหินกลางทะเล นอกจากความงดงามของทิวทัศน์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมา ณ จุดนี้แล้ว ที่นี่ตามตำนานเล่าว่าสร้างโดยฤาษีนิรัทธา เพื่อเป็นวิหารบูชาเทพเจ้าแห่งท้องทะเล

สัมผัส เสน่ห์ของ “ยอร์กยาการ์ตา” เมืองมรดกโลกแห่งเกาะชวา แล้วเดินเล่นบนถนนสายวัฒนธรรมมาลิโอโบโร แหล่งช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางของยอกยาการ์ตา

จันทิปรัมบานัน ศาสนสถานในศาสนาฮินดู
จันทิปรัมบานัน ศาสนสถานในศาสนาฮินดู

 

ที่พลาดไม่ได้คือ นมัสการ “มหาเจดีย์บุโรพุทโธ” พุทธสถานที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดในศิลปกรรมแบบชวา รวมทั้งชมความยิ่งใหญ่ของ “จันทิปรัมบานัน” เทวสถานที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย เป็นต้น

ในฐานะวิทยากรพิเศษของทริป อาจารย์สมฤทธิ์บอกว่า การเดินทางครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นทริปสั้นๆ แค่ 3-4 วัน แต่จะทำให้เราได้เข้าใจประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียมากขึ้น โดย 2 จุดใหญ่ที่จะไปกันคือ เกาะบาหลี อยู่ทางฝั่งตะวันออกของชวา และที่ยอร์กยาการ์ตาซึ่งอยู่กลางเกาะชวา

“บาหลี” นั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก มีชื่อเสียงมาหลายร้อยปี ตั้งแต่ครั้งที่ชาวดัตช์เดินเรือมาพบเกาะนี้ และกลับไปบอกว่าได้มาเจอ “สวรรค์” เข้าแล้ว

ทั้งนี้ บาหลีนอกจากจะมีธรรมชาติที่งดงาม มีทั้งทะเล ภูเขา และทะเลสาบ สิ่งที่แต้มเสน่ห์ให้กับที่นี่คือ วัฒนธรรม

“เกาะบาหลีเป็นดินแดนที่นับถือศาสนาพราหม์ ผู้คนยังคงไหว้พระอิศวร พระวิษณุและพระพรหม ฉะนั้นสองข้างทางที่นั่งรถผ่านจะเป็นภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของบาหลี ที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นมรดกโลก พูดง่ายๆ คือ เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ คนและพระเจ้า เรียกว่า “ไตรหิตครณะ” (Tri Hita Karana) เป็นปรัชญาดั้งเดิม ซึ่งหลักปรัชญานี้พูดถึงความสัมพันธ์ 3 ประการ ซึ่งเขาเอาความสัมพันธ์ทั้งสามนี้มาสร้างเป็นนาขั้นบันได และระบบระบายน้ำของชาวบาหลี ซึ่งเรียกว่า สุปัก (Subak) นั่นคือ การอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันของ คน ธรรมชาติ และพระเจ้า อย่างไม่ทำลายกัน”

สำหรับศาสนสถานที่งดงามมากๆ ที่เราจะพาไปคือ “วัดทานาห์ลอต” ซึ่งถ้าน้ำขึ้นก็เป็นเกาะ ถ้าน้ำลงก็เป็นเขา

 

วิหารทานาห์ลอต
วิหารทานาห์ลอต น้ำขึ้นเป็นเกาะ น้ำลงเป็นเขา

และสถานที่พลาดไม่ได้ ซึ่งอาจารย์สมฤทธิ์ยกให้เป็นสถานที่อันดับ 1 ในใจ คือ “วิหารอูลันดานูบราตัน” อยู่ริมทะเลสาบบราตัน วัดเก่าแก่ที่ชาวเบดูกุลสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 17 เพื่อใช้ทำพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู รวมทั้งอุทิศแด่เทวีดานุ เทพแห่งสายน้ำแห่งนี้

“เสน่ห์อีกอย่างคือ การไปครั้งนี้เราจะไม่ไปนอนในเมืองหลวง แต่เราจะไปนอนที่ หมู่บ้านอูบุด (Ubud) ซึ่งเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรม แค่เดินถนนกลางเมือง เราก็จะได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน ได้เดินเลือกซื้อสินค้า และได้ดูการแสดงทางวัฒนธรรมที่ใครมาก็ต้องดูให้ได้”

จากบาหลี ขึ้นเครื่องบินไปยัง “ยอร์กยาการ์ตา” ซึ่งอยู่ตรงกลางเกาะชวา

ที่น่าสนใจคือ คำว่า “ยอร์กยาการ์ตา” เป็นคำเดียวกับคำว่า “อโยธยา” หรือ “อยุธยา” แต่ภาษาชวาจะออกเสียงเป็น “ยอกยา” ส่วนการ์ตาก็คือ นคร เป็นอิทธิพลของรามายณะ

อาจารย์สมฤทธิ์อธิบายและว่า ที่เมืองยอร์กยาการ์ตานี้ประชากรส่วนมากเป็นมุสลิมก็จริง แต่เราจะพาไปดูหลักฐานเป็นเจดีย์พุทธที่ใหญ่มากๆ คือ “มหาเจดีย์บุโรพุทโธ” ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างด้วยหินภูเขาไฟ แกะสลักเป็นเรื่องราวที่สะท้อนเรื่องของไตรภูมิ มีพุทธประวัติ มีชาดก และมีพระพุทธรูปแกะสลักที่สวยมากๆ อยู่ที่นี่

ใกล้ๆ กันนั้นยังมีศาสนสถานของพราหมณ์ ที่เรียกว่า “ปรัมบานัน” หรือ “จันทิปรัมบานัน” (Candi Prambanan) เป็นศาสนสถานที่ถวายแด่เทพเจ้าตรี

มูรติ คือพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ และเป็นสิ่งที่งดงามมาก ซึ่งทั้งมหาเจดีย์บุโรพุทโธ และปรัมบานัน ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกทั้งคู่

นอกจากนี้ที่ยอร์กยาการ์ตาที่เราจะได้ไปชมคือ “วังสุลต่านของเมืองยอร์กยาการ์ตา” ซึ่งเป็นวังที่สุลต่านยังประทับอยู่ แต่อนุญาตให้เดินชมได้ งดงามเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

สำหรับ คนที่ชอบผ้า โดยเฉพาะผ้าบาติก ที่ยอร์กยาการ์ตา มีถนนสายวัฒนธรรมที่น่าสนใจคือ ถนนมาลิโอโบโร และยังเป็นศูนย์กลางของสินค้าต่างๆ เช่น เครื่องจักสาน ภาพวาด ผ้าบาติก เป็นต้น ในราคาที่ต่อรองกันได้

…เป็นอีกเสน่ห์ที่ต้องไม่พลาด

อีกมุมของจันทิปรัมบานัม
อีกมุมของจันทิปรัมบานัม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image