กรมอนามัยร่วมก.แรงงาน ดันสถานประกอบการผุด ‘มุมนมแม่’ เตรียมแนวทางลดหย่อนภาษีจูงใจ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม  นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด “นมแม่รากฐานแห่งชีวิต” ว่า นานาประเทศร่วมกันกำหนดสัปดาห์นมแม่โลกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราทารกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 23 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุกประเทศอัตรากินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน เกินกว่าร้อยละ 50 ทั้งสิ้น สาเหตุหลักมาจากประเทศอื่นๆ ไม่มีตัวเลือกในการเสียเงินซื้อนมผงเหมือนประเทศไทย ขณะที่การออกกฎหมายมีความเข้มแข็ง อย่างเวียดนามที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบเหมือนประเทศไทย แต่มีการออกกฎหมายลาคลอดได้นาน 6 เดือน แต่ประเทศไทยยังอยู่แค่ 3 เดือน

นพ.วชิระ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงตั้งเป้าหมายว่าในปี 2568 จะต้องเพิ่มเป็นร้อยละ 50 โดยจะขับเคลื่อนทั้งงานปกป้อง สนับสนุน และส่งเสริม โดยมาตรการปกป้อง คือ การออก พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ. นมผง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2560 ขณะนี้ออกกฎหมายลูกครบทั้ง 10 ฉบับแล้ว เช่น การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน การเปรียบเทียบ หลักเกณฑ์การบริจาคอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กแก่หน่วยบริการสาธารณสุข เป็นต้น ส่วนการปรับเปลี่ยนฉลากอาหารสำหรับเด็กเล็กให้ต้องมีความแตกต่างกับอาหารสำหรับทารก หรือพวกนมสูตร 1 2 3 ที่ให้เวลา 1 ปีในการปรับเปลี่ยน จะครบกำหนดในเดือนกันยายน  2561 นี้ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนแล้วทั้งหมด มาตรการสนับสนุน เช่น การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการ เป็นต้น และมาตรการส่งเสริม เช่น ให้คุณพ่ออยู่ในห้องคลอด ให้ทารกเข้าสู่อ้อมอกแม่ทันทีหลังคลอดและได้รับนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมง ส่งเสริมให้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยถึง 2 ปี เป็นต้น

นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กสร.ดำเนินการส่งเสริมเรื่องมุมนมแม่ในสถานประกอบการตั้งแต่ปี 2549 และมีการลงนามร่วมกับ 7 องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมมุมนมแม่เมื่อปี 2559 โดยผลการดำเนินการจนถึงกรกฎาคม  2561 มีสถานประกอบการจัดตั้งมุมนมแม่แล้ว 1,745 แห่ง ลูกจ้างใช้บริการมุมนมแม่แล้ว 11,159 คน จากลูกจ้างทั้งสิ้น 999,882 คน ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 334 ล้านบาท สำหรับการส่งเสริมมุมนมแม่ยังเป็นเรื่องของระบบความสมัครใจ แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการออกมาตรการลดหย่อนภาษีมาช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อดึงดูดให้มีการจัดบริการนี้มากขึ้น โดยรูปแบบอาจเป็นการลดหย่อนภาษี หรือกรณีลดการจ่ายเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีการกำหนดอยู่แล้วว่า จะได้รับการลดหย่อนเมื่อลูกจ้างปลอดภัย มีสุขภาพดี มีความสุขในการทำงาน ซึ่งสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำทุกมิติ โดยอาจให้เรื่องมุมนมแม่เป็นมิติหนึ่งในเรื่องของสุขภาพก็เป็นได้ในอนาคต ส่วนการขยายวันลาคลอดเป็น 6 เดือนนั้นยังเป็นเรื่องยาก แต่ขณะนี้มีการขยายจาก 90 วัน เป็น 98 วัน ซึ่งจะนับวันที่ต้องไปตรวจครรภ์ด้วย โดยอยู่ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ คาดว่าน่าจะใช้ได้ภายในปีนี้

Advertisement

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อยากให้ทุกสถานประกอบการเห็นความสำคัญของการจัดมุมนมแม่ อย่ามองแค่ระยะสั้นว่า จ้างพนักงานมาแล้วต้องทำงานให้คุ้ม แต่ต้องมองระยะยาวว่า หากลูกจ้างหญิงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลูกก็จะแข็งแรง ลดการเจ็บป่วย มีสุขภาพที่ดี อนาคตแม่ก็ไม่ต้องลางานบ่อยๆ เพื่อไปดูแลลูกที่ป่วย ซึ่งตรงนี้เป็นผลระยะยาวที่จะเกิดขึ้น และหากมีการจัดมุมนมแม่ในที่ทำงาน สถานประกอบการก็จะมีตัวเลือกในการรับพนักงานที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะผู้หญิงก็จะเลือกเข้าไปทำงานที่มีการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับ พ.ร.บ. นมผง เท่าที่ลงพื้นที่ตรวจร้านค้าจัดจำหน่าย พบว่า ร้านค้ารู้กฎหมายว่ามีผลบังคับใช้แล้ว นมทารกหรือต่ำกว่า 1 ปีนั้นไม่มีการลดแลกแจกแถมเลย และแยกนมสำหรับเด็กเล็กที่มีการโปรโมตออกไปต่างหาก

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image