น้ำจะท่วมอีกแล้ว

ฝนปีนี้มาเร็วและมีปริมาณน้ำมากกว่าทุกปี ทำให้เป็นที่แน่ใจว่าดินในทุกภูมิภาคได้อุ้มน้ำไว้เต็มที่แล้ว ปีนี้ประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและภาคใต้ ทุกภูมิภาคคงจะไม่พ้นจากอุทกภัย อย่างเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2526 ปี 2538 และล่าสุดเมื่อปี 2554

เรื่องของดินฟ้าอากาศ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดเดาหรือพยากรณ์ล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ ได้ แต่จากรายงานข่าวเรื่องฝนที่มาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามัน ฝนที่มาจากพายุโซนร้อนจากคาบสมุทรแปซิฟิก ทำให้เชื่อได้ว่าบ้านเราคงจะประสบกับอุทกภัยจากพายุทั้ง 2 ทางนี้ ค่อนข้างแน่นอนแล้ว

ข่าวเรื่องน้ำท่วมในรัฐกะเหรี่ยงในประเทศพม่าจากพายุลมมรสุม ขณะเดียวกันน้ำท่วมประเทศญี่ปุ่นอันเกิดจากพายุโซนร้อน ซึ่งจะพัดต่ำลงมาเรื่อยๆ จนถึงมณฑลยูนนานและตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ขนาบเข้ามาทั้งตะวันตกและตะวันออก

ทางการจีนต้องปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำโขง เพราะน้ำเริ่มล้นเขื่อนทั้ง 8 เขื่อนตามลำน้ำโขง เขื่อนต่างๆ ที่สร้างกั้นสาขาแม่โขงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่เหนือจรดใต้ เช่น เขื่อนที่ปากแบ่ง เขื่อนน้ำงึม 1 และ 2 เขื่อนน้ำเทิน ลงไปถึงเขื่อนเซกอง เซเปียน เซน้ำน้อย ขณะนี้รับน้ำไว้เต็มที่หมดทุกเขื่อนแล้ว

Advertisement

ทางด้านฝั่งไทย เขื่อนน้ำอูน น้ำก่ำและเขื่อนอื่นๆ ก็รับน้ำไว้เต็มที่ ด้านตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนเพชรบุรี มีน้ำล้นเขื่อนไหลเข้าท่วมอำเภอเมืองและอำเภออื่นๆ ในจังหวัดเพชรบุรีแล้ว ทางใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพร เรื่อยลงไปถึงสตูล ยะลาและปัตตานี ฝนก็ตกชุก ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงปลายฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และกำลังเข้าสู่ฤดูฝนจากพายุโซนร้อน ซึ่งมีชื่อเรียกตามตัวอักษรโรมันจนมาถึงตัวเอส Son Tinh หรือเซินติญ ยังเหลืออักษรโรมันอีก 8 ตัว จึงจะถึงตัวแซดหรือตัวซี เราจึงต้องเฝ้ารอฟังข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาทุกวันว่า พายุโซนร้อนกำลังก่อตัวอยู่ที่ใด พายุผ่านฟิลิปปินส์ ขึ้นฝั่งเวียดนามหรือยัง

ฟิลิปปินส์และเวียดนามทุกปีจะต้องรับพายุฝนจากพายุโซนร้อนกว่า 20 ลูกทุกปีเป็นเรื่องธรรมดา บ้านเรือนจึงต้องใช้วัสดุที่เบาและพร้อมจะซ่อมแซมใหม่ทุกปี ทิวเขาที่ทอดยาวกว่า 1,480 กม. กั้นระหว่างเวียดนามและลาวเป็นเกราะป้องกันภัยจากไต้ฝุ่น ทำให้พายุไต้ฝุ่นที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งเวียดนามอ่อนกำลังลงกลายเป็นฝน ขณะเดียวกันเทือกเขาดงพญาเย็นที่ทอดยาวจากเหนือลงใต้เป็นรูปตัวแอล ก็กั้นพายุฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ให้กลายเป็นพายุฝน

พายุโซนร้อนที่ทำให้ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ต้องประสบกับภาวะฝนตกหนักจนน้ำท่วมขัง คือระยะตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนสิงหาคมไปถึงเดือนกันยายน ตุลาคม ไปหมดเอาต้นเดือนพฤศจิกายน แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่พระจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ทำให้ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดในรอบปี จึงเกิดเป็นคำพังเพยว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง” วันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งปีนี้คือวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน เป็นวัน “ลอยกระทง” ของชาวภาคกลาง และเป็นวันไหลเรือไฟของชาวอีสานตามริมแม่น้ำโขง

Advertisement

เนื่องจากโอกาสที่ฝนจะเทกระหน่ำลงอีกในภาคกลาง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมไปถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับดินได้รับน้ำไว้จนชุ่มเต็มที่แล้ว อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรับน้ำไว้เต็มหรือเกือบเต็มแล้ว คงจะรอเสี่ยงจนถึงเดือนตุลาคมไม่ได้ คงต้องเริ่มพร่องน้ำ ระบายน้ำออกท้ายเขื่อนเกือบทั้งหมด จะรอเสี่ยงจนเกิดภาวะเขื่อนแตกอย่างที่เกิดที่ประเทศลาวไม่ได้ แผนการจัดการบริหารน้ำที่เคยทำไว้เมื่อคราวเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ก็ควรรีบนำมาศึกษาเพื่อเตรียมการรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

เสียดายที่แผนการลงทุนระยะยาวที่ทำไว้สมัยนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งและได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ไม่ได้รับการสานต่อแต่ถูกยกเลิกไป จึงยังไม่มีการลงทุนตามแผนบริหารจัดการน้ำ ยังไม่มีการแก้ไขเรื่องความไม่มีเอกภาพในการบริหารจัดการเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมากมายหลายระดับ หลังจากนั้นทั้งสื่อมวลชน ทั้งรัฐบาลและประชาชนก็ลืมความเสียหายและความทุกข์ยากที่เกิดจากอุทกภัยเมื่อปี 2554 ไปเสียสิ้น

แม้ว่าการจัดการลงทุนและการจัดการบริหารน้ำระยะยาวจะไม่ได้ทำ แต่แผนการบรรเทาความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมก็ยังใช้ได้ เพราะเป็นแผนอันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 แผนดังกล่าวเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ในระบบแม่น้ำเจ้าพระยาออกเป็น 3 ส่วน คือเขตต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ คงต้องปัดฝุ่นเอามาใช้กันอีก

เขตต้นน้ำ คือเขตเหนือปากน้ำโพหรือนครสวรรค์ขึ้นไป อันเป็นเขตของแม่น้ำ 4 สายคือ แม่น้ำปิง วัง ยมและน่าน บัดนี้ก็มีเขื่อนกันเป็น 3 แห่ง คือ ปิง วังและน่าน เหลือเพียงเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แม่น้ำยมที่ยังทำไม่ได้ เพราะกลุ่มคุณพ่อเอ็นจีโอคัดค้านทุกครั้งที่มีข่าวว่าจะสร้างและเงียบหายไปเมื่อเกิดน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย ไม่มีรัฐบาลใดรวมทั้งรัฐบาลเผด็จการทหารที่มีความกล้าหาญพอที่จะตัดสินใจทำให้สำเร็จ

ส่วนเขื่อนเหวนรกที่สามารถบรรเทาน้ำท่วมทางฝั่งตะวันออกก็ทำได้บางส่วน ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด บางส่วนกลายมาเป็นที่พักน้ำ คือเขื่อนขุนด่านปราการชล ก็พอจะชะลอน้ำทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯไว้ได้บ้าง

เขตกลางน้ำ คือเขตตามลำน้ำเจ้าพระยาใต้ปากน้ำโพ ลงมาจนถึงเขื่อนผันน้ำชัยนาท ที่สามารถแยกแม่น้ำเจ้าพระยาออกเป็น 3 สาย คือสายตะวันตกผันเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน ฝั่งตะวันออกผันน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกงออกสู่ทะเลและบางส่วนผ่านอยุธยา

เพื่อรักษาเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อาจจะต้องสร้างภาระให้กับเขตที่ต้องเป็นที่น้ำผ่าน หรือเป็นที่รับน้ำของทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก จึงต้องมีการเจรจาและจะต้องชดเชยให้กับเกษตรกรและผู้ที่ต้องรับภาระจากภาวะน้ำท่วมอันเกิดจากนโยบาย ขณะเดียวกันก็ควรจะมีการเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการป้องกันน้ำท่วม เพื่อนำไปชดเชยผู้ที่เสียประโยชน์

ในทางทฤษฎีเศรษฐกิจการคลังและเศรษฐศาสตร์ สวัสดิการควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ในทางปฏิบัติการจะออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเฉพาะก็ดี การบริหารจัดการว่าควรจะเป็นภาระของรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่นก็ดี เพราะพื้นที่กรุงเทพฯไม่ใช่เป็นท้องถิ่นเท่านั้น แต่กรุงเทพมหานครเป็นที่ตั้งของรัฐบาลกลางและมีฐานะเป็นเมืองหลวง อันเป็นที่ตั้งของกระทรวง ทบวง กรม รัฐสภา ซึ่งรัฐบาลกลางย่อมมีอำนาจหน้าที่และความชอบธรรมในการบริหารจัดการเมืองหลวงด้วย

วิธีจัดการบริหารน้ำเมื่อเกิดภาวะวิกฤตและยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานใหม่เลยหลังจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมเมื่อ พ.ศ.2554 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็คือให้มีการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศมากบ้างน้อยบ้างตามหลักวิชา ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมคือในขณะนี้ เพราะเราพอจะทราบแล้วว่าปีนี้จะเป็นปีน้ำมาก และเมื่อเกิดภาวะฝนตกหนักในปลายเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม ก็ทำการชะลอน้ำในเขตต้นน้ำจากแม่น้ำปิง วัง น่าน ส่วนแม่น้ำยมที่ยังเป็นฟันหลอก็เตรียมบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดในลุ่มแม่น้ำยมและจังหวัดสุโขทัย

สำหรับเขตกลางน้ำ ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา ก็ควรจะปรับปรุงบูรณะทำนบ เขื่อนริมแม่น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มที่มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคงจะต้องกระทบกระทั่งกับประชาชนที่รุกล้ำที่สาธารณะ ที่ทำทางลงสู่แม่น้ำซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เขตปลายน้ำตั้งแต่เขื่อนผันน้ำชัยนาทก็ต้องมีการเตรียมการว่า ในแต่ละวัน สัปดาห์ เดือน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นอย่างไร ระดับน้ำทะเลจะเป็นอย่างไร เพราะประตูน้ำที่คลองลัดโพธิ์ โครงการพระราชดำริที่ทำการขุดเป็นคลองลัดของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถย่นระยะทางน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้นในขณะที่น้ำทะเลลง และสามารถปิดประตูน้ำไม่ให้น้ำทะเลหนุนให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น อีกทั้งป้องกันน้ำเค็มในฤดูแล้งด้วย

ในขณะเดียวกันเขตกรุงเทพฯชั้นในก็ต้อง เตรียมจุดปิดกั้นปากคลองต่างๆ ที่ไหลออกแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้น้ำจากแม่น้ำไหลกลับเข้ามาในเขตกรุงเทพฯชั้นใน เพราะในเขตกรุงเทพฯชั้นในต้องใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ สูบน้ำจากคลองสำคัญ เช่น คลองแสนแสบ คลองพระโขนง คลองมหานาค ซึ่งจำเป็นต้องรับน้ำบางส่วนให้ไหลผ่าน เพื่อรับน้ำและผลักดันให้ไหลออกสู่ทะเลต่อไป

ขณะที่กรุงเทพมหานครก็ควรจัดการล้างท่อคูคลอง จัดการกับผู้ที่บุกรุกคูคลองให้เด็ดขาดไปในช่วงที่รัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาด แม้จะคิดหวังตั้งพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่คนกรุงเทพฯก็คงไม่เลือกอยู่ดี เพราะกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ และชอบเลือก ส.ส.ฝ่ายค้าน แต่คราวนี้คงลังเลเพราะประชาธิปัตย์คงเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง กลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปตามที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดท้าทายไว้เป็นนัยๆ

ในสมัยมหาจำลอง ศรีเมือง ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพฯ แม้ผู้ว่าฯจำลองเชื่อว่าฝนตกท่วมกรุงเทพฯ 1,000 ปีจะมีสักครั้ง จนถูกล้อว่าเป็น “ฝนพันปี” เมื่อจะเข้าปลายเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายนก็จะต้องมีการล้างท่อ ขุดลอก คูคลอง ทางระบายน้ำ มีการตรวจซ่อมแซมประตูน้ำ เครื่องจักรปิด-เปิดประตูว่ายังคงใช้ได้ตามปกติหรือไม่ เพราะของพวกนี้เวลาวิกฤตมักจะชำรุดทรุดโทรมเสียหายใช้การไม่ได้ เครื่องสูบน้ำยามปกติใช้ได้ ยามวิกฤตมักจะใช้ไม่ได้

อุโมงค์ยักษ์ โครงการของกรุงเทพมหานครที่ใช้งบประมาณจำนวนมากเป็นแสนล้านบาท แม้จะไม่เคยใช้งานได้แต่ปีนี้สื่อมวลชนน่าจะไปติดตามว่ายังอยู่ดีและจะใช้การได้หรือไม่ เพราะใช้จ่ายจากภาษีอากรของชาวกรุงเทพมหานครเอง

คิดแล้วก็ใจคอไม่ดีเพราะได้ยินแต่ข่าวว่าน้ำจะท่วมที่นั่นที่นี่ แต่ผู้รับผิดชอบให้สัมภาษณ์เอาใจ นายกฯว่า คนกรุงเทพฯไม่ต้องตระหนก ถ้าฝนไม่ตกน้ำก็ไม่ท่วม

ฟังแล้วยิ่งตระหนกเพราะรัฐบาลเขาไม่ตระหนก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image