‘เอไอเอส-ดีแทค’ ผ่านคุณสมบัติพร้อมร่วมประมูลคลื่น1800 วันที่ 19 ส.ค.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดนัดพิเศษ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ 2 บริษัท คือ 1.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และ 2.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอไอเอส) ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะจัดให้มีการประมูลในวันที่ 19 สิงหาคม 2561

“การประมูลในครั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย จะวางหลักประกันรายละ 4 ใบ ซึ่งคาดว่าอาจจะขายไม่ถึง 8 ใบ แต่ถ้าขายได้เพียง 3 ใบ ทางเราก็ดีใจแล้ว อย่างไรก็ตามทางเราจะมีการเดินหน้าต่อ แล้วจะทำเงื่อนไขออกมาเสนอขายเรื่อยๆ ส่วนคลื่น 900 ยังไม่มีใครเข้าร่วมประมูล แต่จะมีการเสนอเรื่องเข้าไปใหม่อีกครั้ง” นายฐากรกล่าว

นายฐากร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประเด็นปัญหาต่างๆ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อหารือ ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง

นายฐากรกล่าวว่า ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการจัดสรรใหม่ได้ โดยคลื่นที่จะเรียกคืนมี 3 กรณี ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2.คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า 3.คลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งการเรียกคืนดังกล่าวไม่รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้ให้บริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ในตอนนี้

Advertisement

นายฐากรกล่าวว่า จากนั้นนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ว่าที่ประชุมเห็นชอบหรือไม่ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว สำนักงาน กสทช. จะทำหนังสือแจ้งหน่วยราชการเจ้าของคลื่นความถี่ภายใน 7 วัน ว่าทางสำนักงาน กสทช. จะเรียกคืนคลื่นความถี่ นับแต่วันที่ กสทช. มีมติ โดยหน่วยงานเจ้าของคลื่นต้องมีหนังสือยืนยันการคืนคลื่นทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมแจ้งแนวทางการคืนคลื่นและนำส่งเอกสารประกอบ หรือหนังสือปฏิเสธการคืนคลื่นความถี่ ต่อ กสทช. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทำประชาพิจารบนเว็บไซต์ 30 วัน ทั้งนี้ เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image