อึ้ง! เด็กสมัคร ม.เอกชนแค่ 7คน อีกแห่งทั้งมหา’ลัยเรียนอยู่200คน ทปอ.ยอมรับน.ศ.ลดลง-จี้ปรับตัว

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) ออกมาเปิดเผยจำนวนรับนักศึกษาประจำปีการศึกษา 2561ในส่วนของมรภ. พบว่าทุกมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่จำนวนรับนักศึกษาลดลง 10-15 % จากปีที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องจากจำนวนเด็กที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ลดลง และแนวคิดของเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เห็นว่าไปทำงานก่อนแล้วค่อยกลับมาเรียนก็ได้ ว่า ที่ผ่านมาทปอ. ไม่เคยสำรวจตัวเลขจำนวนการรับเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะต่างคนต่างรับ แต่มีการพูดคุยกันบ้างว่าแต่ละแห่งรับเด็กได้น้อยลงกว่าที่ผ่านมา รู้เพียงตัวเลขสมัคร การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ผ่านระบบทีแคสประจำปีการศึกษา 2561 รอบที่ 4 การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์กลาง ซึ่งยอดรับสมัครลดลงประมาณ 3 หมื่นคน จากเดิมที่สมัครปีละ 7-8 หมื่นคน อาจเป็นผลมาจากการให้เด็ก 1 คน 1 สิทธิ รวมถึงอัตราการเกิดลดลง

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้ยอมรับว่า ตัวเลขทั้งระบบมีเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยน้อยลง โดยมีเพียง 2.5 แสนคน จากจำนวนนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นม.6 ประมาณ 3 แสนกว่าคน เด็กที่เหลือจะไปในช่องทางใดบ้างนั้นตนคงไม่สามารถบอกได้ ขณะที่การรับเด็กเข้าเรียนในปี 2562 คิดว่าจะมีเด็กเข้าเรียนเพิ่มขึ้น 10% โดยเป็นเด็กที่เกิดในปีมังกรทอง หรือปีค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเกิดในปีที่เป็นมงคล แต่ก็เพิ่มขึ้นในจำนวนที่ไม่มากนัก ส่วนปีต่อ ๆ ไปจำนวนเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะลดลงตามเดิม

“ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเองต่างรู้และเข้าใจถึงแนวโน้มดังกล่าวดี โดยผมได้ยินว่าปีนี้มีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในภาคกลาง รับเด็กเข้าเรียนได้เพียง 7 คน ขณะที่อีกแห่งพบว่า ทั้งมหาวิทยาลัยมีเด็กเรียนเพียง 200 คน ดังนั้นต่อไปถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว หรือยังใช้วิธีการล่อลวงเด็กเข้าเรียนอย่างที่ผ่านมา เช่น ใช้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) มาเป็นตัวล่อในลักษณะการให้ทุน เด็กในต่างจังหวัดบางคนไม่รู้ว่าเป็นการกู้เงินเพื่อการศึกษา เมื่อจบก็มีหนังสือทวงเงินมาถึงบ้านแบบไม่รู้ตัว เป็นต้น หากมหาวิทยาลัยใดยังทำแบบนี้สุดท้ายก็จะไม่มีแด็กเข้าเรียน ขณะที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งต่างต้องปรับตัว ซึ่งในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา มีข้อกำหนดใหม่ชัดเจน คือ การพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีคุณภาพ นั่นหมายความว่า อุดมศึกษาจะต้องทำหน้าที่พัฒนาเพิ่มศักยภาพคนในวัยทำงาน ซึ่งมีประมาณกว่า 38 ล้านคน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต” นายประเสริฐกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image