รายงานการประชุม ‘เฟด’ บ่งชี้มีโอกาส96%ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก.ย.นี้

FILE- (AP Photo/Jose Luis Magana, File)

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่กองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) กล่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นหมายถึง “มีแนวโน้มว่ามีความเหมาะสม” ในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน

แต่ในบันทึกการประชุมที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังเผยให้เห็นถึงความกังวลอย่างลึกซึ้งว่าสงครามการค้าที่ยกระดับขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ

ซีเอ็มอีกรุ๊ปที่ติดตามความคาดหวังของนักลงทุน ให้น้ำหนักความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนถึง 96 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามมาอีกครั้งในเดือนธันวาคม

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งจากเฟดกำลังจะมีขึ้นในเดือนหน้า” นายพอล แอชเวิร์ธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจ แคปิตอลอีโคโนมิกส์ ระบุถึงปฏิกิริยาที่มีต่อบันทึกการประชุมของเฟดไว้ในแถลงการณ์

Advertisement

เฟดได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 7 ครั้งนับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2015 เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปีจะไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อที่ไม่ต้องการ

เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเดือนมีนาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.75 และ 2.0 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ใกล้เคียงระดับ 0 เปอร์เซ็นต์มายาวนาน 7 ปี นับตั้งแต่ปลายปี 2008 ถึงปลายปี 2015 จากการที่เฟดพยายามต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจมากขึ้น
รายงานการประชุมของเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งเผยแพร่หลังการประชุม 3 สัปดาห์ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ระบุว่า ในการประชุม เจ้าหน้าที่เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในขณะที่เผยแพร่แถลงการณ์ด้านนโยบายที่เน้นให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ เข้มแข็ง” ซึ่งมีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งและอัตราว่างงานต่ำ

อย่างไรก็ตาม รายงานการประชุมแสดงให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายทางการค้าที่แข็งกร้าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อสินค้านำเข้า ส่งผลให้เกิดการตอบโต้ของจีนและคู่ค้ารายอื่นๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image