คอลัมน์ Think Tank: เรื่องอื้อฉาวของเฟซบุ๊ก

(FILES) / AFP PHOTO / Lionel BONAVENTURE

เฟซบุ๊กอยู่ที่ศูนย์กลางการเป็นที่ถกเถียงรุนแรงอีกครั้งหลังจากออกมายอมรับว่า มีบัญชีผู้ใช้มากถึง 50 ล้านบัญชีที่ถูกเจาะโดยแฮกเกอร์

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟซบุ๊กระบุว่า วิศวกรค้นพบการถูกเจาะเข้าระบบเมื่อวันที่ 25 กันยายน และอุดช่องโหว่นั้นได้สำเร็จเมื่อคืนวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา

“เราไม่รู้ว่ามีบัญชีใดที่ถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ บ้างหรือไม่” นายซัคเคอร์เบิร์กกล่าว “เราต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างสม่ำเสมอจากผู้ที่ต้องการจะเจาะบัญชีหรือขโมยข้อมูลจากทั่วโลก”

เฟซบุ๊กได้รีเซ็ตบัญชีที่ถูกแฮกทั้ง 50 ล้านบัญชีแล้ว หมายความว่า ผู้ใช้จะต้องใส่พาสเวิร์ดใหม่อีกครั้งเพื่อกลับเข้าไปใช้งาน

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้รีเซ็ต ”โทเค็นการเข้าถึง” ของอีก 40 ล้านบัญชีเป็นมาตรการเพื่อการป้องกันไว้ก่อน

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กได้เคยเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวใหญ่โตมาแล้วถึง 2 ครั้ง คือในกรณีของเคมบริดจ์อนาลิติกา และข่าวปลอม

ในคำบอกเล่าของเฟซบุ๊ก ทุกอย่างต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นเมื่อปี 2013 เมื่ออเล็กซานเดอร์ โคแกน นักวิจัยชาวรัสเซียน-อเมริกันสร้างแอพพ์ทดสอบเพื่อทำนายบุคลิกภาพชื่อ “ดิสอิสยัวร์ดิจิทัลไลฟ์” ขึ้นมาซึ่งมีการนำเสนอให้ใช้งานได้บนเฟซบุ๊ก

Advertisement

มีผู้ดาวน์โหลดแอพพ์ไปใช้งานมากถึง 300,000 คน และอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลโปรไฟล์ส่วนตัวรวมถึงข้อมูลของเพื่อนในเฟซบุ๊กของผู้ใช้

ในปี 2015 เฟซบุ๊กเปลี่ยนนโยบายความเป็นส่วนตัวและป้องกันไม่ให้แอพพ์จากบุคคลที่ 3 เข้าถึงข้อมูลเพื่อนของผู้ใช้ได้โดยปราศจากความยินยอม

ปีเดียวกันนั้น เฟซบุ๊กค้นพบว่าโคแกนได้ส่งต่อข้อมูลที่ได้รับจากแอพพ์ของเขาให้กับบริษัทเคมบริดจ์อนาลิติกา (ซีเอ) ของอังกฤษซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลและสื่อสารด้านยุทธศาสตร์

ในปี 2016 ซีเอได้รับการว่าจ้างโดยทีมหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์

เฟซบุ๊กระบุว่าได้รับการยืนยันจากซีเอเมื่อปี 2015 ว่าข้อมูลเจ้าปัญหาดังกล่าวถูกลบไปแล้ว แต่ประเมินว่าซีเออาจเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้มากกว่า 87 ล้านราย ส่วนใหญ่ในสหรัฐได้โดยปราศจากความยินยอม และใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการยังประโยชน์ให้ทีมหาเสียงของทรัมป์

ด้านซีเอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวและยื่นขอล้มละลายโดยสมัครใจในอังกฤษและสหรัฐนับตั้งแต่นั้นมา
ขณะที่เฟซบุ๊กถูกกล่าวหาวหาว่า ขาดซึ่งความใส่ใจในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ เข้าแทรกแซงช้าและคลุมเครือในเรื่องการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กและเว็บไซต์ลักษณะคล้ายๆ กันอย่างกูเกิล ทวิตเตอร์และทัมเบลอร์ ถูกกล่าวหาว่ายินยอมให้มีการแพร่กระจาย “ข่ายปลอม” ผ่านเครือข่ายของตนซึ่งรวมถึงการครอบงำความคิดเห็นของสาธารณชนก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งส่งผลประโยชน์ต่อทรัมป์

เว็บไซต์ที่กล่าวมาข้างต้นยอมรับผลการค้นพบว่าข่าวสาร บัญชี และหน้าเพจบนแพลตฟอร์มของตนเชื่อมโยงกับสำนักงานวิจัยอินเตอร์เน็ต หน่วยงานที่ปฏิบัติการอยู่ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซียซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น ”แหล่งผลิตข่าวปลอม” และมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลรัสเซีย

อ้างอิงจากข้อมูลของเฟซบุ๊ก มีผู้ใช้ได้เห็นเนื้อหาเหล่านี้มากถึง 120 ล้านราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image