เกษตรกรพัทลุงเมินประกันข้าว ขอช่วยเหลือตัวเอง เหตุขาดความรู้-ไม่เชื่อใจรัฐบาล

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายรายว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2561 เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกข้าว ได้มีเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันส่วนหนึ่ง เงื่อนไขของการรับประกันภัย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62 ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส.ทุกราย และเกษตรกรทั่วไปที่ปลูกข้าวนาปี ที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. โดยปีนี้ มีพื้นที่เป้าหมายทั้งหมดไม่เกิน 30 ล้านไร่

โดยโครงการประกันภัยข้าวนาปี เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่พยายามหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา ทั้งนี้ทุกปีมักจะเกิดภัยธรรมชาติ และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การนำเอาระบบประกันภัย มาช่วยบริหารความเสี่ยง เป็นแนวทางหนึ่ง ที่จะเป็นหลักประกันนาข้าวนาปีของของเกษตรกรได้ โดยอัตราเบี้ยประกัน กำหนดไว้ 90 บาทต่อไร่ ในส่วนนี้รัฐบาลสนับสนุน 56 บาท

หากเกษตรกรเป็นสมาชิก ธ.ก.ส. ทาง ธ.ก.ส.จะสนับสนุนให้ 34 บาท วงเงินคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ จากภัยธรรมชาติ 6 ประเภท น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง /ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ หรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว / น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บไฟไหม้ และวงเงินคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยจากศัตรูพืช หรือ โรคระบาด แต่เกษตรกลับไม่สนใจที่จะทำประกันราคาข้าว เลือกที่จะช่วยเหลือตัวเองมากกว่า

นายณรงค์ บุญน้อย ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.พญาขัน อ.เมือง จ.พัทลุง บอกว่าสาเหตุที่เกษตรกรทำประกันภัยกับ คปภ.น้อยเนื่องจากเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการประกันภัยที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ไม่มีความเชื่อใจในรัฐบาล ทางที่ดีทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องเข้ามาทำความข้าใจโดยตรงกับเกษตรกรมากกว่านี้ อย่างเช่นการเกิดภัยพิบัติในตำบล แต่เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ไม่เต็มพื้นที่ ทางจังหวัดไม่สามารถประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติได้ เกษตรกรก็ไม่สามารถนำความเสียหายไปเคลมกับทางประกันได้ เกษตรกรจึงเลือกที่จะช่วยเหลือตัวเองมากกว่า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image