ความขัดแย้ง‘สหรัฐ-จีน’นับวันรุนแรง ‘ช่องแคบไต้หวัน’อาจเป็นจุดแตกหัก

ขณะที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีน 2 แสนล้านเหรียญนั้น ยังมิได้ดำเนินการ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศว่าจะเรียกเก็บเพิ่มอีก
และในที่สุดจะเพิ่มถึง 5 แสนล้านเหรียญ
ตัวเลขจำนวนมหาศาลเป็นการอำพรางต่อโลกภายนอก
ความจริงการแข่งขันชิงชัยสหรัฐ-จีนนั้น เกินขอบเขตของการค้าแล้ว เพราะว่า
สหรัฐนอกจากทำการสกัดจีนในเรื่องเทคโนโลยีแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ยังเล่นเรื่อง “ไต้หวัน” อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นทางการทูต ไม่ว่าจะเป็นทางการทหาร
สหรัฐ “เคลื่อนไหว” หมดแล้ว
นอกจากเครื่องบินและเรือรบเข้ามาในน่านน้ำหมู่เกาะ “ทะเลจีนใต้” เรือรบของสหรัฐยังได้เข้ามาที่ “ช่องแคบไต้หวัน” อีกด้วย
ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้โฆษกรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเกิดโต้คารมกันอย่างที่เรียกว่า “tit for tat”
เสมอสำนวนไทย “หนามยอกหนามบ่ง”
สหรัฐได้กระทบถึง “บอตทอมไลน์” ของจีนบ่อยครั้ง
ถือเป็นเรื่องอ่อนไหว หากไม่เคลียร์ให้เรียบร้อย
เสียงปืนอาจดังขึ้นที่ “ช่องแคบไต้หวัน”
เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมโลกกำลังจับตามอง

ปัญหา “ช่องแคบไต้หวัน” เป็นสงครามภายในของจีน ตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ 1 ตุลาคม 1949 นักการเมืองที่พ่ายแพ้จากการสู้รบได้หลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน ต่อมารัฐบาลสหรัฐใช้อาวุธเป็นกำลังสนับสนุนการแบ่งแยกเกาะไต้หวันโดยปราศจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจีนไต้หวัน ไม่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ก็จีนด้วยกัน เกิดจากบรรพบุรุษเดียวกัน “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ” เมื่อใดรวมกันติด เมื่อนั้นสหรัฐหนาวแน่
ตั้งแต่จีน-สหรัฐได้สถาปนาทางการทูตเมื่อ 1979 “นโยบายจีนเดียว”
ถูกมองว่าคือ “เส้นแดง” อันแตะต้องมิได้
หลังจากเกิดวิกฤต “ช่องแคบไต้หวัน” เมื่อ 1996 จีน-สหรัฐได้บรรลุสนธิสัญญาอันว่าด้วยทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของช่องแคบแล้ว
เชื่อกันว่า “เมฆหมอก” จะต้องหมดไป
ทว่า 2018 “ทรัมป์” ได้ยุยงส่งเสริมไต้หวันในประเด็น “เอกราช”
จึงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งขึ้นมาอีกวาระหนึ่ง
กรณีเป็นการย้ำรอยประวัติศาสตร์ ย่อมต้องถือว่า “ทรัมป์” กระทำละเมิด
หลังจากที่สหรัฐได้ผ่านกฎหมาย “การท่องเที่ยวไต้หวัน” เมื่อเดือนมีนาคม
และล่าสุดผ่านกฎหมาย “Defense Authorization Act” เมื่อเดือนสิงหาคมแล้ว
มีวุฒิสมาชิกสายเหยี่ยวระดับ “เฮฟวี่เวต” 4 คน ร่วมกันเสนอให้สภาคองเกรสออกกฎหมายชื่อว่า “Taipei Act” เพื่อต้องการให้สหรัฐใช้วิธีการใดๆ ต่อต้านประเด็นที่จีนกดขี่ข่มเหงไต้หวัน รวมทั้งการลดบทบาททางการทูตของไต้หวันด้วย
เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พลันที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ในทวีปอเมริกากลางได้ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่ง
เป็นเหตุให้สหรัฐไม่พอใจเป็นอันมาก
จึงได้มีบัญชาให้นักการทูตสหรัฐที่ประจำในอเมริกากลางรวมทั้งประเทศเอลซัลวาดอร์ด้วย 3 นาย ให้กลับประเทศโดยพลัน เป็นการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจ 3 ประเทศนั้น
ประเทศในอเมริกากลาง “นาอูรู” ที่ยังมีสัมพันธ์กับไต้หวันก็ “ร่วมด้วยช่วยกัน” กล่าวคือ
ประเทศนาอูรูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “Pacific Island Forum” ได้ถือโอกาสนี้ขัดขวางการเข้าร่วมประชุมของผู้แทนจีนและจำกัดขอบเขตในการปราศัย
สหรัฐสนับสนุนพฤติกรรมดังกล่าวเต็มร้อย
ความสัมพันธ์สหรัฐ-ไต้หวันไม่ธรรมดาแล้ว กระชับเข้ามาทุกขณะ เป็นต้นว่า
ประธานสภานิติบัญญัติไต้หวัน ได้ฉวยโอกาสที่ไปเคารพศพ “จอห์น แมคเคน” สมาชิกวุฒิสภาอาวุโส เป็นข้ออ้าง โดยเข้าพบกับประธานวุฒิสภาและนักการทูตสหรัฐ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไต้หวันยังได้รับเชิญให้ไปเยือนสหรัฐและเข้าพบรัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐ และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไต้หวันยังได้รับเชิญไปร่วมประชุม “U.S.-Taiwan Defense Industry”
ชัดเจนยิ่งว่า ความสัมพันธ์สหรัฐ-ไต้หวัน ได้กระชับถึงขั้นทะลุเส้นแดง “จีนเดียว” แล้ว
การที่สหรัฐเล่นเรื่อง “ช่องแคบไต้หวัน” นั้น จีนไม่นิ่งดูดาย
จึงได้ตอบโต้โดยทางอ้อม แต่เป็น “ของแท้”

กลางเดือนกันยายน ทหารปลดแอกของจีน 3,000 นาย ได้ร่วมซ้อมรบกับรัสเซีย
เป็นการซ้อมรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซียหลังจากสงครามเย็น
ในเชิงปรัชญามีความคล้ายคลึงกับการ “ตัดไม้ข่มนาม”
อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า “เป็นระดับสูงสุดของยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างจีน-รัสเซีย”
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินยังได้เชิญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปเยือนรัสเซียอีกวาระหนึ่ง
เพื่อร่วมประชุม “Oriental Forum” ที่เมือง “Vladivostok”
บัดนี้ ความสัมพันธ์ของจีนและรัสเซียที่มีต่อสหรัฐปรากฏว่าเลวลงตามลำดับ
ทั้งนี้ เกิดจากแรงกดดันของสหรัฐ จึงเป็นเหตุให้จีน-รัสเซียรวมตัวเข้าด้วยกัน
เป็นโอกาสที่สหรัฐ “จัดให้”
วันนี้ จีนอกผายไหล่ผึ่งร่วมซ้อมรบกับรัสเซีย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ปักกิ่งได้ประเมินถึงสถานการณ์โลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และอีกประการ 1 คือเป็นการตอบโต้ประเด็นที่สหรัฐใช้ไต้หวันเป็น “เบี้ยหมากรุก” เป็นการตอบโต้อย่างแหลมคม และมีประสิทธิภาพ
ก่อนเกิดปัญหาทับเส้นแดง “จีนเดียว”
สังคมโลกมองว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐน่าจะดีขึ้นบ้างตามสมควรในปลายปีนี้ เพราะว่าเป็นช่วงเวลาการเลือกตั้ง “มิดเทอม” ของสหรัฐ ก็คงจะต้องพักรบสักระยะหนึ่ง
แต่เป็นการมองข้าม “ช็อต” ไปคือ ประเด็นการค้านั้น ไม่ว่า ระดับ “ไวท์บลูคอลล่า” ไม่ว่าผู้ใช้สิทธิฝ่ายซ้ายของพรรคเดโมแครต ล้วนนิยมชมชอบนโยบายของ “ทรัมป์” ทั้งนั้น
อีกประการหนึ่ง การสกัดการค้าจีนนั้น เป็นนโยบายที่ “ทรัมป์” และผู้นำพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเห็นพ้องต้องกัน
นอกจากนี้ “ทรัมป์” กำลังปูทางไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020
เพื่อปกกันแชมป์อีกสมัยหนึ่ง
ฉะนั้น ยุทธศาสตร์การค้าที่มีต่อจีนยังจะต้องดำรงต่อไปและอาจแข็งกร้าวกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพยายามหลีกเลี่ยงพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หรือให้น้อยที่สุด เช่น
เขายกเลิกกำหนดการไปร่วม “การประชุมสุดยอดพันธมิตรตะวันออก” (East Alliance Summit) และการประชุม “APEC”
จะมองเป็นอื่นมิได้ นอกจากหลีกเลี่ยงไม่พบกับ “สี จิ้นผิง”
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
ฉะนั้น โอกาสที่เขาจะพบกับ “สี จิ้นผิง” จึงเหลือเพียง 1 ครั้ง คือ
“การประชุมสุดยอด จี20” ที่ประเทศอาร์เจนตินา (2018 G20 Buenos Aires summit)
การที่จะเจรจาแก้ปัญหาแบบ 1 ต่อ 1 โอกาสจึงมีไม่มาก
มีรายงานจากผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหรัฐชิ้นหนึ่งว่า “ยิ่งนานวันเข้า สหรัฐก็ยิ่งเข้าใจถึงความพยายามของจีน อันหมายถึงจีนกำลังแสดงบทบาทของประเทศใหญ่ในเวทีสากล และกำลังทดลองแก้ไขระบบสากล เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ก้อนโต
แต่เป็นการ “โยนหินถามทาง”
รายงานของเขา เป็นการยืนยันว่า นโยบายของ “ทรัมป์” ที่มีต่อจีนนั้น เป็นจุดยืนที่ดีที่สุด
“โดนัลด์ ทรัมป์” และ “ลูกหาบ” คุยโวโอ้อวดว่า สหรัฐใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ยอมให้จีนมาทำการท้าทาย หากมิฉะนั้นสหรัฐจะต้องทำการสกัดต่อไป เพื่อไม่ให้จีนเติบโต
ประวัติศาสตร์ยืนยันได้ว่า เป็นประเพณีของสหรัฐ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ก็ต้องยึดถือ “ลัทธิเจ้าโลก ลัทธิปืนกลเรือรบ และลัทธิฝ่ายเดียว” เพราะความกระหายที่จะเป็นใหญ่ในโลก ยังดำรงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ จึงขาดความสง่างาม
ไม่สมศักดิ์ศรีของประเทศมหาอำนาจ
ประมวลจากเหตุการณ์ น่าเชื่อว่า บัดนี้ สหรัฐ-จีนต่างก็รู้ถึงเนื้อแท้ของแต่ละฝ่ายแล้ว ดุจดังสุภาษิตไทย “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ก็เพราะเป็นเช่นนี้ต่างฝ่ายจึงต่างหยั่งเชิง ยิ่งหยั่งก็ยิ่งลึก ยิ่งลึกก็ยิ่งยุ่ง คงต้องใช้วดีเด็ดของ “ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์” อดีตประธานสภาคือ “ยุ่งตายห…”
สาเหตุอันอาจนำไปสู่ “จุดแตกหัก” สูงสุด คือ ปัญหา “ช่องแคบไต้หวัน” ที่สหรัฐ “จัดให้”

Advertisement

นักวิเคราะห์เห็นว่า การเล่นเรื่อง “เอกราชไต้หวัน” ของสหรัฐนั้น สวนทางกับ “นโยบายจีนเดียว” เป็นการกระทำละเมิดต่อจีนแผ่นดินใหญ่ และแน่นอนว่า “จีนไม่นั่งดูดาย”
จึง “คอนเฟิร์ม”
เมื่อใดที่ “เสียงปืน” ดังขึ้นที่ “ช่องแคบไต้หวัน”
เมื่อนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะต้อง “จัดหนัก” แน่นอน
ไม่มีใครกลัวใคร เมื่อเลือดเข้าตาตัวใครตัวมัน
ในที่สุดเหยื่อของ “สงครามเลือด” ก่อนใครอื่นก็คือ
“ประชาชนไต้หวัน” เข้าทำนองสำนวนไทย
“ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image