คอลัมน์อาศรมมิวสิก : ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการเรียนดนตรี : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมไทยแล้ว โดยเฉพาะใกล้เวลาที่จะมีการเลือกตั้ง นักการเมืองก็จะใช้นโยบายขายความเหลื่อมล้ำ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเสียงของประชาชน ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งมากเท่าไหร่ เสียงของความเหลื่อมล้ำก็จะดังมากขึ้นด้วย
ความเหลื่อมล้ำนั้นเริ่มจากโอกาสที่แตกต่าง พื้นที่และบริบทสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง ฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่าง ความพร้อมที่แตกต่าง รายได้ที่แตกต่าง รวมทั้งความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่าง เป็นต้น

รวมกันแล้ว ความเหลื่อมล้ำทำให้เด็กมีวิถีชีวิตที่แตกต่าง

หากจะสัมผัสกับความเหลื่อมล้ำผ่านการเรียนดนตรีของเด็ก สามารถแบ่งแยกความความเหลื่อมล้ำได้เป็น 7 จำพวกด้วยกัน

เด็กจำพวกแรก เป็นจำพวกที่ผู้ปกครองมีฐานะดี มีทางเลือก มีโอกาสสูง มีบริบททางสังคมที่แตกต่างจากคนในสังคมทั่วไป ผู้ปกครองประเภทนี้ก็จะส่งลูกไปเรียนในต่างประเทศตั้งแต่เด็ก อาจจะมีบ้านอยู่ต่างประเทศหรือส่งลูกไปอยู่โรงเรียนกินนอน ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อปี อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เป็นต้น เด็กที่อยู่โรงเรียนกินนอนในประเทศเหล่านี้จะต้องเรียนวิชาดนตรี ศิลปะ และกีฬา เป็นวิชาหลัก ทั้ง 3 วิชากลายเป็นหุ้นส่วนของชีวิตเด็ก

Advertisement

เด็กจำพวกที่สอง ผู้ปกครองที่มีฐานะดี มีโอกาสดี มีทางเลือกมาก ก็นิยมส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งต้องจ่ายค่าเล่าเรียนตั้งแต่ 5-9 แสนบาทต่อปี ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติมีอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีอยู่ประมาณ 200 โรงเรียน ทั้งนี้ เศรษฐีของไทยจะเลือกลงทุน 4-5 อย่าง อาทิ ทำสนามกอล์ฟ เป็นเจ้าของทีมฟุตบอล สร้างโรงแรม สร้างคอนโด และสร้างโรงเรียนนานาชาติ นักธุรกิจสิงคโปร์ก็จะสร้างโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย สอนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน โรงเรียนนานาชาติเยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น จะสร้างโรงเรียนนานาชาติเพื่อให้ลูกของบุคลากรของตัวได้เรียนหนังสือ โดยเน้นสอนด้วยภาษาแม่

ส่วนโรงเรียนนานาชาติที่มีสัญชาติเป็นอังกฤษและสัญชาติอเมริกานั้น คือจะขายยี่ห้อเครื่องหมายการค้าของโรงเรียน ขายชื่อโรงเรียน เพราะเป็นราคาของความน่าเชื่อถือ เพื่อเปิดสาขาโรงเรียนนานาชาติขึ้นในประเทศไทย นักธุรกิจไทยก็ต้องไปซื้อลิขสิทธิ์ชื่อมาในราคาที่สูง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ การซื้อชื่อและยี่ห้อนั้นเร็วกว่าที่จะลงทุนสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง การซื้อชื่อมาแบบเดียวกับชื่อร้านสะดวกซื้อ ก็จะสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างรวดเร็ว ขยายกิจการได้เร็ว

โรงเรียนนานาชาติเหล่านี้ (200 โรงเรียน) มีวิชาดนตรี ศิลปะ และกีฬา เป็นจุดขาย มีครูฝรั่งมาสอนดนตรี อาจจะเป็นครูดนตรี (แก่) ที่เกษียณจากงานเดิมในประเทศแม่ ได้กินบำนาญและเข้ามาทำงานสอนดนตรีในโรงเรียนนานาชาติไทยเป็นงานเสริม การสอนดนตรีในโรงเรียนนานาชาติ จะดีชั่วแค่ไหน ก็สามารถขายให้พ่อแม่คนไทยได้ เพราะว่าเป็นครูฝรั่ง เป็นเจ้าของภาษา ครูมีประสบการณ์สูง

Advertisement

ครูดนตรีเหล่านี้อยู่ในเมืองไทยได้อย่างราชา นอกจากมีชีวิตที่ดี ได้เงินเดือนสูง ค่าครองชีพถูก แถมมีทุกอย่างที่ต้องการ

เด็กจำพวกที่สาม ผู้ปกครองที่มีฐานะดี มีโอกาสดี มีทางเลือกเอง มีปรัชญาของตนเอง ผู้ปกครองมีความรู้ และที่สำคัญผู้ปกครองไม่เชื่อระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ก็จัดการศึกษาให้ลูกเสียเอง เป็นการศึกษาที่เป็นทางเลือกใหม่ (Home School) เป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย พ่อหรือแม่ก็จะต้องอยู่กับลูกจนกว่าลูกจะช่วยตัวเองได้ การเรียนดนตรี ศิลปะ กีฬา จึงเป็นทางเลือกของเด็กเอง เลือกครูเอง เลือกโรงเรียนเอง และลูกได้เรียนในสิ่งที่รัก ทำในสิ่งที่ชอบอย่างเต็มที่ เด็กสามารถที่จะเก่งอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้เลย เพราะตั้งใจและเอาจริงเอาจัง เลือกเรียนจนกว่าจะพอใจ

เด็กจำพวกที่สี่ ผู้ปกครองที่มีฐานะดี มีโอกาสส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำได้ ซึ่งมีโรงเรียนเอกชนที่ดีในเมืองใหญ่และมีมากในกรุงเทพฯ โรงเรียนเอกชนชั้นนำก็จะขายและใช้วิชาดนตรี ศิลปะ และกีฬา เพื่อนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน เพราะวิชาเหล่านี้สามารถที่จะสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนได้ โรงเรียนก็กลายเป็นที่นิยม การเข้าโรงเรียนเหล่านี้ พ่อแม่ก็ต้องจ่ายเงินเป็นกรณีพิเศษ (แป๊ะเจี๊ยะ) เงินสูงเข้าง่ายและเข้าได้เลย มีเงินน้อยหรือไม่มีเงินก็ต้องใช้ความสามารถ หากไม่มีเงินและไม่มีความสามารถก็หมดโอกาส

เด็กจำพวกที่ห้า ผู้ปกครองที่มีฐานะดี มีเครือข่าย มีพรรคพวก มีเส้นสาย มีผู้ใหญ่ และมีโอกาสสูง อาจจะเป็นเด็กมีดวง (ด=เด็กใคร ว=วิ่งเต้น ง=เงิน) พ่อแม่จะฝากลูกให้เข้าเรียนที่โรงเรียนชั้นนำของรัฐ ซึ่งโรงเรียนชั้นนำของรัฐก็จะมีวิชาดนตรี มีวงโยธวาทิตที่มีชื่อเสียง มีครูดนตรี มีครูศิลปะที่เข้มแข็ง ส่วนมากทางโรงเรียนก็จะเน้นให้เด็กมุ่งเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหลัก ดนตรีเป็นความสามารถพิเศษ

เด็กจำพวกที่หก สำหรับผู้ปกครองที่ไม่ค่อยมีฐานะ ไม่ค่อยมีโอกาส และไม่ค่อยมีทางเลือก ก็จะส่งลูกไปเรียนตามโรงเรียนที่รัฐจัดให้ เรียนที่ไหนก็ได้ที่มีค่าใช้จ่ายน้อย โรงเรียนส่วนใหญ่ของรัฐที่ไม่เข้มแข็งในด้านใดเลย สำหรับวิชาดนตรี ศิลปะ กีฬา ก็จัดการศึกษาอย่างยถากรรม แม้โรงเรียนจะมุ่งให้เด็กสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เด็กก็จะได้เรียนในมหาวิทยาลัยทางไกล มหาวิทยาลัยเปิด หรือมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ซึ่งเป็นเด็กจำนวนมากกว่าจำพวกใดๆ ต่อมาก็กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคม

เด็กจำพวกสุดท้าย ผู้ปกครองที่ไม่มีฐานะ ไม่มีโอกาส ไม่มีเส้นสาย “พวกที่จนและโง่” ก็ต้องออกจากโรงเรียนไปเผชิญชีวิตตามยถากรรม ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนดนตรีในชีวิต ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนศิลปะหรือกีฬา และกว่าเด็กจะรู้ตัว ส่วนใหญ่ก็สายไปเสียแล้ว ซึ่งจะพบว่า เมื่อเด็กกลุ่มนี้กลายเป็นพ่อแม่ก็จะพยายามให้ลูกได้เรียนดนตรีเพื่อชดเชยโอกาส (ตัวเอง) ที่สมัยเด็กไม่มีโอกาสได้เรียนดนตรี เป็นโอกาสที่หายไป

มีเด็กอีกส่วนหนึ่ง (น้อย) ที่ได้มีโอกาสเรียนดนตรี ซึ่งเป็นเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก ในฐานะผู้ด้อยโอกาส อาทิ โครงการสอนดนตรีในสลัม โครงการสอนดนตรีเด็กติดคุก โครงการสอนดนตรีเด็กตาบอด เป็นต้น ดนตรีเป็นทั้งเพื่อนและเป็นอาชีพในอนาคต

ในระบบการศึกษาดนตรี โรงเรียนดนตรีเอกชน ตามมาตรา 15 (2) หรือโรงเรียนพิเศษดนตรี มีอยู่ประมาณ 400 โรงเรียน เด็กที่จะเรียนดนตรีก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน โดยเฉพาะวิชาดนตรีสากล (เปียโน ร้องเพลง กีตาร์ ไวโอลิน วิชารวมวง) ที่มีราคาตั้งแต่ชั่วโมงละ 300-3,000 บาท โดยสภาพการเรียนดนตรีแบบนี้ ดนตรีกลายเป็นวิชาที่มีค่าเล่าเรียนแพงทันที ดนตรีเป็นวิชาที่เข้าถึงได้ยาก ยกเว้นดนตรีพื้นบ้านและดนตรีไทย ยังอยู่ในฐานะเดิมคือ ไม่มีคนเรียนและไม่มีราคา

ความหลากหลาย ความแตกต่าง และความเหลื่อมล้ำที่พบในวิชาดนตรี สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริงในสังคมไทย โอกาสของเด็กที่จะเข้าถึงการศึกษาดนตรีที่เป็นพื้นฐานก็แตกต่างกันด้วย

วิธีแก้ปัญหาของประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกันก็คือ ดนตรีเป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กทุกคนจะต้องได้เรียน รัฐจึงมีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาพื้นฐานให้กับเด็กทุกคน “ดนตรีสำหรับเด็กทุกคน”

สําหรับรัฐไทยนั้น การศึกษาพื้นฐานมีคุณภาพต่ำ ดนตรีกลายเป็นวิชาพิเศษ พิการไม่สมประกอบ ไม่เป็นวิชาพื้นฐาน (ไม่มีชั่วโมงเรียน ไม่มีครู ไม่มีอุปกรณ์) ดนตรีกลายเป็นความเหลื่อมล้ำสูง แม้ว่าฝ่ายรัฐที่จัดการศึกษาพื้นฐานก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ดนตรีไม่มีบทบาท ดนตรีถูกตัดทิ้งออกไป แต่ในที่สุดแล้ว วิชาดนตรีส่งผลให้เห็นความเหลื่อมล้ำในวิถีชีวิตไทยอย่างชัดเจน เพราะความจริง ดนตรีได้กลายเป็นวิชาของครอบครัวที่มีฐานะที่จะส่งลูกให้เรียนดนตรีได้ เครื่องดนตรีมีราคาแพง เรียนดนตรีมีค่าเล่าเรียนแพง ดนตรีเป็นวิชาพิเศษ (หรู) ให้สังเกตว่า ดนตรีเป็นวิชาพิเศษ เมื่อรัฐเป็นผู้จัด “พิเศษ คือ พิการ” ส่วนความพิเศษที่จัดโดยเอกชน ดนตรี คือ พิเศษที่หรูและแพง

ความเหลื่อมล้ำที่รัฐจะต้องจัดการคือ การลดความเหลื่อมล้ำ โดยจัดการสิ่งที่เป็นพื้นฐานให้เกิดเป็นความเท่าเทียมกัน เมื่อตีค่าให้ดนตรีเป็นวิชาพื้นฐานของชีวิต ทั้งนี้ เพราะดนตรีมีพลังภายใน สามารถที่จะสร้างจินตนาการ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ดนตรีเป็นวิชาสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เด็กทุกคนมีเสียงดนตรีในหัวใจ ดนตรีเป็นกำลังภายในของเด็ก โลกต่อไปนี้ลงทุนที่การพัฒนามนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด

นักการเมือง พรรคการเมือง ต้องมีนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมลง และนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องเป็นนโยบายที่สำคัญ จุดเริ่มต้นความเหลื่อมล้ำได้เริ่มตั้งแต่เล็กจนโตก็คือการศึกษาที่มีคุณภาพ ดนตรีเป็นวิชาที่สร้างความเหลื่อมล้ำ “ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต” ชีวิตที่ไร้ดนตรีก็จะกลายเป็นชีวิตที่ “จืดชืดเชยและไร้รสนิยม”

ดนตรี จึงเป็นจุดก่อตัวของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย คนที่มีดนตรีในหัวใจ นอกจากจะมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังมีเสน่ห์และมีรสนิยมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image