พระองค์ภาฯ ทรงปาฐกถาพิเศษ ทรงย้ำผู้ต้องขังหญิงในโลกต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี

พระองค์ภา

เมื่อเวลา 10.27 น. วันที่ 31 ตุลาคม พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล ปี 2561 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (BPW International Asia-Pacific Regional Conference 2018) ภายใต้แนวคิด “Empowering Women to Realize Sustainable Development Goals” หรือการเสริมพลังสตรีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) , ดร.อมานี แอสฟู ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล เฝ้ารับเสด็จ

เมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปประทับพระเก้าอี้ ดร.ชนม์ชนก วีรวรรณ ทูลเกล้าถวายสูจิบัตร จากนั้น คุณหญิงณัฐิกา กราบทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุม และทอดพระเนตรวีดิทัศน์ การนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานเข็มที่ระลึก และทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่ง ความว่า

“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Developement Goals ที่สหประชาชาติกำหนดไว้คือ ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นเป้าหมายลำดับที่ 5 การส่งเสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ซึ่งสตรีและเด็กหญิงนั้น ต้องมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน ปราศจากความรุนแรงและการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่วนเป้าหมายที่ 16 เกี่ยวข้องกับสังคม ความสงบสุข ความยุติธรรม และการไม่แบ่งแยก เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน หากปราศจากสันติภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชนและธรรมภิบาลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมาย เราจะไม่สามารถพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้”

Advertisement

การนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ยังทรงมีพระดำรัสถึงโครงการกำลังใจ ที่พระองค์ทรงริเริ่มตั้งแต่ปี 2549 เพื่อให้โอกาสผู้ต้องขัง และผู้มีปัญหาทางกฎหมาย ให้สามารถกลับมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม ปรับปรุงคิดค้นมาตรการเพื่อให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งสุขภาพ อาชีพ การศึกษา รวมถึงข้อกำหนดกรุงเทพฯ ที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติมีมติให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วโลก ทั้งยังมีพระดำรัสทิ้งท้ายว่า

“ในโลกนี้มีผู้ต้องขังหญิงเป็นจำนวนมากที่สมควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอิสรภาพที่ยั่งยืนหลังการปล่อยตัว การนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติจะทำให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับโอกาสอีกครั้งในชีวิต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image