พิพิธภัณฑ์นอร์ตันไซมอน แจงซื้อประติมากรรมพระโพธิสัตว์ของไทยถูกต้อง หลังกระแสทวงคืนมาแรง

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ อาร์ทเน็ตนิวส์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับรายงานข่าวความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและการซื้อขายงานศิลปะ ดำเนินการโดยบริษัทอาร์ทเน็ต เวิร์ลด์ไวด์ คอร์ปอเรชัน แต่มีบริษัท อาร์ทเน็ต เอจี แห่งเยอรมนีเป็นเจ้าของ เผยแพร่รายงานข่าวเกี่ยวกับการทวงคืนโบราณวัตถุและงานประติมากรรมจำนวนกว่า 700 ชิ้น ซึ่งเชื่อว่าถูกลักลอบนำออกจากประเทศต้นทางโดยผิดกฎหมาย โดยส่วนหนึ่งจัดแสดงอยู่ภายใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งมหานคร หรือ เมท มิวเซียม (Metropolitan Museum of Art) ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะอาเซียน (Asian Art Museum) ในนครซานฟรานซิสโก และพิพิธภัณฑ์นอร์ตันไซมอน ในเมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์ สหรัฐอเมริกา

อาร์ทเน็ตนิวส์ระบุว่า ของชิ้นแรกๆ ที่น่าจะมีการเรียกคืนจากเมท มิวเซียม โดยน่าจะมีคำร้องขออย่างเป็นทางการมายัง นายแม็กซ์ ฮอลเลอิน ผู้อำนวยการคนใหม่ในเร็วๆ นี้ คืองานประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สี่กร ประทับยืน ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ซื้อมาเมื่อปี 2510 และเชื่อว่าจะมีคำร้องเพื่อเรียกคืนชิ้นงานเก่าแก่อีกหลายชิ้นจากหลายประเทศนอกเหนือจากไทย หลังจากมีความพยายามเรียกคืนวัตถุโบราณเหล่านี้จากหลายประเทศที่เป็นกระแสขึ้นมาในระยะหลังนี้ ทั้งนี้ โฆษกของพิพิธภัณฑ์นอร์ตันไซมอน ยืนยันกับอาร์ทเน็ต ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลไทย ขณะเดียวกัน ย้ำว่าชิ้นงานจากเมืองไทยที่พิพิธภัณฑ์สะสมไว้นั้น มีการจัดซื้อมาอย่างเหมาะสมในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 หรือไม่ก็เป็นวัตถุที่ได้รับบริจาคมา อย่างไรก็ตาม ทางพิพิธภัณฑ์จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของทางการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ในขณะที่ยังไม่มีความคิดเห็นจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งอาเซียน และพิพิธภัณฑ์เมทแต่อย่างใด

ด้านนนางจอยซ์ ไวท์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อโบราณคดีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรวิชาการด้านโบราณคดีในนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ ให้ความเห็นกับอาร์ทเน็ตนิวส์ ว่า การผลักดันของรัฐบาลไทยเพื่อเรียกคืนโบราณวัตถุครั้งใหญ่ในครั้งนี้ เป็นเพราะเห็นว่าวัตถุเหล่านั้นถูกส่งออกมาอย่างผิดกฎหมาย นั่นหมายความว่า บรรดาพิพิธภัณฑ์ และนักสะสมทั้งหลาย ไม่สามารถเข้าใจเอาเองได้อีกต่อไปแล้ว ว่าทางการไทยไม่ใส่ใจที่จะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้บรรดาสถาบันที่เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย ให้เปิดเผยข้อมูลการได้มาไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุโบราณทั้งหมดในอดีต เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของตนเอง รวมถึง การตีพิมพ์เผยแพร่ประวัติในการสะสมโบราณวัตถุทั้งหมด และตั้งความหวังว่าการเปิดเผย และความโปร่งใสดังกล่าว จะเป็นทิศทางสำคัญของวงการในศตวรรษที่ 21 นี้ เพราะหากได้ครอบครองมาโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ ในอนาคต

เครดิตภาพ Metropolitan Museum of Art

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image