คุณภาพคือความอยู่รอด ตอน นครศรีธรรมราช วันนี้ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ผมได้รับเกียรติให้ไปบรรยายเรื่อง “SMEs Forward 4.0” (ก้าวให้ทัน ก้าวให้ไกล ไปกับโลก 4.0) ซึ่งจัดโดยหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ ชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ นครศรีธรรมราช เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา มีคำถามมากมายจากผู้ฟังบรรยายเต็มห้อง แสดงถึงความตื่นตัวของ SMEs และคนนคร ที่พร้อมจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0

เรื่องที่ประสบความสำเร็จ (มาก) เรื่องหนึ่งก็คือ โครงการ “หลาดหน้าพระธาตุ” ซึ่งเป็น “ถนนคนเดิน” ที่จัดขึ้นทุกคืนวันเสาร์ ระยะทางกว่า 1.5 กิโลเมตร เรียงรายด้วยร้านขายของชื่อดังที่จัดพื้นที่เป็นบูธอย่างเป็นระเบียบและแยกสัดส่วนกันชัดเจน เช่น ร้านค้ากลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มขนมและอาหาร กลุ่มบันเทิง กลุ่มเครื่องใช้ เป็นต้น ผมได้ทราบว่าที่ผ่านๆ มานั้น ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันเนืองแน่น ถึงขนาดเดินไหลกันเลยตั้งแต่สี่ห้าโมงเย็นจนถึง 3 ทุ่ม หลายร้านบอกว่าขายวันเสาร์วันเดียว อยู่ได้อาทิตย์หนึ่ง ทุกร้านค้าที่นี่ร่วมกันรณรงค์ใช้ “ถุงกระดาษ” ใส่ของเท่านั้น (ไม่ใช้ถุงพลาสติกเลย) และทุกร้านค้ามีถังขยะตั้งหน้าร้านติดป้ายคำว่า “ขยะฝากทิ้ง” สภาพแวดล้อมจึงดูสะอาดงามตา ทั้งคนขายคนเดิน จึงชื่นชมกับโครงการ “หลาดหน้าพระธาตุ” อย่างมาก

ส่วนวันอาทิตย์ ผมกับเจ้าภาพจัดงานได้ไปนมัสการ “วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร” (วัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก”) โดยมี อาจารย์ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด เป็นผู้บรรยายประวัติศาสตร์ของสถานที่ การได้รับฟังจากผู้รู้จริงเช่นนี้ ทำให้ผมซาบซึ้งและมีความรักในศิลปวัฒนธรรมของบ้านเรามากขึ้น มีหลายเรื่องที่ผมเกิดมาเพิ่งจะได้ยินได้ฟัง

อาทิ เพิ่งรับรู้ว่าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้นำศิลปวัฒนธรรมของ 3 ประเทศมาประยุกต์และบูรณาการร่วมกันอย่างลงตัวด้วยศิลปวัฒนธรรมของไทย ตั้งแต่ยอดเจดีย์ที่ปิดทองของพม่า รูปทรงเจดีย์ใหญ่ของศรีลังกา และเจดีย์บริวารเป็นตับๆ ของอินโดนีเซีย การก่อสร้างวัดก็ดำเนินการภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมุ่งมั่นในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงนับเป็นบุญเหลือเกินที่ผมได้มากราบไหว้พระบรมธาตุและองค์จตุคามรามเทพอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

นอกจากนี้ ผมยังได้เห็นศรัทธามหาชนของผู้คนจำนวนมากที่มีต่อ “วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่)” รวมตลอดถึง “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ที่ปรับเปลี่ยนรูปโฉมด้านหน้าด้วยความสวยงามของดอกไม้นานาพันธุ์และประติมากรรมหลากหลายของภาคใต้ จนทุกคนที่แวะเวียนมาต้องเข้าไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เรื่องที่ประทับใจที่สุดก็คือ คำพูดของแม่ค้าที่ทำ “ข้าวเหนียว 2 ดัง” สดๆ ขายหน้าร้าน เนื่องจากคืนที่ผมไปฝนตก ผู้คนจึงบางตา แม่ค้าจึงเหลือข้าวเหนียวดำที่มูนแล้วครึ่งกะละมังตอนใกล้จะเลิกงานแล้ว ผมถามเธอว่า “ที่เหลือนี้เอาไปเข้าช่องฟรีซ แล้วไปทำขายต่อพรุ่งนี้ได้ไหม” เธอตอบทันควันเลยว่า “ทิ้งทั้งหมดเลยค่ะ หนูทำสดใหม่ตลอด ไม่เอาเปรียบลูกค้าค่ะ” ผมทึ่งจนพูดไม่ออก ได้แต่มองหน้าเธอและคิดในใจว่า “มิน่าล่ะถึงได้อร่อยมาก” ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า “คุณภาพคือความอยู่รอด”

นครศรีธรรมราชในวันนี้ จึงมี “ธรรมชาติ” และ “ของดี” อีกมากมาย โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและพัฒนาเป็น “จุดขาย” ของจังหวัดอย่างยั่งยืนได้ ครับผม !

Advertisement

วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image