ภาพเก่าเล่าตำนาน : ไปที่ไหนๆ…ก็มีไชน่าทาวน์ (5) เมื่อ‘อั้งยี่’เมืองระนอง…ประลองกำลัง

ผมเรียบเรียง บอกเล่าตำนานการอพยพของชาวจีนนับแสนเข้าสู่แผ่นดินสยามมาแล้ว 4 ตอน ชาวจีนนับแสนคนหนีตายออกนอกแผ่นดินแม่ด้วยเหตุของความหิวโหย แผ่นดินแห้งแล้ง ถูกกดขี่ ขูดรีด ไม่มีความสุขจากระบอบการปกครอง

ชาวจีนอพยพแยกย้าย กระจายตัวกันไปหลายแห่งทั่วโลก ไปตั้งแหล่งชุมชนของตนเองที่เรียกว่า “ไชน่าทาวน์” ไปไกลถึงอเมริกาเหนือและออสเตรเลีย ซึ่งทุกดินแดน ทุกอาณาจักร ต้องการ “แรงงาน” แบบไม่จำกัด การทำธุรกิจ อุตสาหกรรมทุกแขนง ต้องการแรงงานไปทำงานที่อันตราย เช่น งานในเหมืองแร่ การสร้างทางรถไฟ

แผ่นดินจีนกว้างใหญ่ไพศาล มีหลายชนเผ่า ปัญหาความอดอยากในกวางตุ้ง ทำให้ชาวกวางตุ้งจำนวนมากหนีตายออกไปเสี่ยงโชคในอเมริกาที่กำลังสร้างชาติ ชายหนุ่มเลือดมังกรยอมจากบ้านเกิด หวังที่จะส่งรายได้กลับไปให้ครอบครัวในเมืองจีน แรงงานชาวจีนสร้างชื่อเสียงกระหึ่มอเมริกา คนงานจีนแสดงความอดทนแสนสาหัส ในการสร้างทางรถไฟที่แสนหฤโหด ต้องทำงานบนภูเขาที่หนาวเหน็บ ทำงานบนพื้นที่หน้าผา ด้วยค่าแรงที่แสนถูก จนสามารถวางรางรถไฟจากตะวันออกไปตะวันตกของอเมริกาเป็นผลสำเร็จ แต่เมื่อสร้างทางรถไฟเสร็จ ชาวจีนในสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ และถูกจำกัดการเข้าประเทศ

กลับมาคุยกันในประเด็นชาวจีนที่อพยพสู่สยาม ที่มีอั้งยี่ปะปนมาด้วยครับ

Advertisement

ประชากรชาวจีนที่หมดเนื้อหมดตัวสิ้นหวัง ขอหนีไปตายเอาดาบหน้า นับแสนคนทยอยลงเรือสินค้า เสี่ยงตายมาขึ้นบกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งสยามประเทศ ในเวลาเดียวกันก็มีชาวจีนอีก 1 กลุ่มที่หนีคุกตะรางปะปนออกมาด้วย

ชาวจีนกลุ่มนี้เคยก่อเหตุอาชญากรรมในแผ่นดินเกิด เคย ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ค้ายาเสพติด ลอบสังหารชาวต่างชาติที่เอาเปรียบชาวจีน ถือโอกาสลงเรือปะปน คละเคล้ามากับมากับ “ชาวจีน” กลุ่มใหญ่

ไม่มีใครรู้ว่า ใครเป็นใคร ไม่ต้องมีหน้าอินทร์หน้าพรหม บางกลุ่มพูดภาษาจีนกันเองไม่รู้เรื่อง เพราะมาจากคนละท้องถิ่น ถ้ารอดชีวิตจากคลื่นลมในทะเลราว 20-30 วัน ขึ้นบกได้ที่ไหน ก็ตั้งหน้าทำมาหากิน ชาวจีนได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลกว่าเป็นนักสู้ชีวิตแบบไม่เป็นสองรองใครในพิภพนี้

Advertisement

ที่ทำงานหนักหาเงินก็ทำไป ลูกหลานมังกรจีนที่มีเลือดนักบู๊ เคยลัก วิ่ง ชิง ปล้น ก็พร้อมที่จะมาแสดงแสนยานุภาพ ตั้งเป็นกองกำลังเรียกค่าคุ้มครองจากพวกเดียวกันเอง

นักบู๊จีนจากแผ่นดินใหญ่ทยอยไหลมารวมตัวกันในมลายู สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เขมร เวียดนามและสยาม ตั้งเป็น “กองกำลัง พิทักษ์ผลประโยชน์” พ.ศ. … ก่อศึกฆ่ากันเอง ณ เมืองภูเก็ต

ชาวจีนอพยพประกอบสัมมาชีพ เก่งที่สุด คือ เป็นกรรมกรขนของ มีทักษะในการค้าขาย กินง่าย อยู่ง่าย

กรรมกรชาวจีนในสยามนับหมื่นคนในภาคใต้ ภูเก็ตและระนอง ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ อดมื้อกินมื้อ ตั้งใจเป็นกรรมกรเหมืองแร่ ทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว เก็บหอมรอมริบ รักพวกพ้อง บ่อยครั้งที่นายจ้างผิดใจกันจึง “สั่งลุย” ลูกหลานนักสู้ ที่มีวิชาการต่อสู้ติดตัวมาก่อน “งานเข้า” หยิบฉวยมีด หอก ดาบ ยกพวกฆ่ากันเอง ตายเจ็บนับร้อย ด้วยเหตุเงินๆ ทองๆ จากการค้าแร่ดีบุก

พ.ศ.2419 บารมีหลวงพ่อแช่ม ณ เมืองภูเก็ต ช่วยปัดเป่า ช่วยปราบอั้งยี่ให้สงบจบลงได้ จนบ้านเมืองภูเก็ตที่แสนร่ำรวยด้วยแร่ดีบุกทำให้เมือง “ไข่มุกแห่งอันดามัน” สงบร่มเย็น

ประวัติศาสตร์ที่ร่ำเรียนกันมา แทบไม่เคยเปิดเผยมาก่อนเลยว่า อั้งยี่ก็เคยก่อศึกฆ่ากัน เลือดนองที่เมืองระนอง ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ขัดใจเรื่องผลประโยชน์มหาศาลจากแร่ดีบุก

บันทึกที่ตีแผ่ทำให้ “เห็นภาพ” ย้อนอดีตชัดที่สุด ที่ขอนำมาบอกเล่าในบทความตอนนี้ คือ “นิทานโบราณคดี” พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า….

“… ที่เมืองระนองมีจำนวนจีนกรรมกรกว่า 3,000 คน และที่เมืองภูเก็ตมีจำนวนจีนกรรมกรหลายหมื่น มากกว่าจำนวนราษฎรไทยที่อยู่ในตัวเมืองทั้งสองแห่ง ตามบ้านนอกพวกจีนกรรมกรไปรวมกันรับจ้างขุดแร่ทั้งพวก ‘งี่หิน’ และพวก ‘ปูนเถ้าก๋ง’ ต่างก็ไปตั้งกงสี อั้งยี่พวกของตนขึ้นที่นั่น มีนายรองปกครองขึ้นต่อผู้ที่รัฐบาลตั้งเป็นหัวหน้าต้นแซ่ ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมือง จึงมีกงสีอั้งยี่อยู่ตามเหมืองแร่แทบทุกแห่ง พวกหัวหน้าต้นแซ่ก็ช่วยรัฐบาลรักษาความสงบเงียบเรียบร้อยตลอดมา แต่เมื่อปีชวด พ.ศ.2419 นั้น เผอิญดีบุกตกราคา พวกนายเหมืองขายดีบุกได้เงินไม่พอให้ค่าจ้างกรรมกร จึงเกิดเหตุขึ้นที่เมืองระนองก่อน…”

ขอเรียนต่อท่านผู้อ่านที่เคารพว่า ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.3 ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยในหลวง ร.5 สยามทำการค้ากับต่างประเทศแบบเอิกเกริก ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ข้าว ไม้สัก แร่ดีบุก คือสินค้าส่งออกตัวหลัก ที่เชิดหน้าชูตายิ่งนัก เงินทองไหลมาเทมา

สิ่งที่สยามต้องการมากที่สุดในเวลานั้นคือ “แรงงาน” ในลักษณะ “กรรมกร” เพื่อสร้างรายได้ ไม่ต้องการช่างฝีมือ ช่างเทคนิค “แรงงานแบกหาม” คือแก้วตาดวงใจของผู้ประกอบการทั้งปวงในสยาม

ชาวจีนอพยพ คือ คำตอบที่ตรงประเด็นที่สุด เรือก สวน ไร่นา ท่าเรือ ค่ำมืด ดึกดื่น อันตราย สกปรก งานยากๆ ชาวจีนคือตัวขับเคลื่อนที่ทุกฝ่ายยอมยกนิ้วให้ ฝรั่งตะวันตกที่เข้ามาค้าขายกับสยามก็บันทึกประวัติศาสตร์ชื่นชมชาวจีน

เช่นเดียวกับในยุโรปและอเมริกา ที่เร่งรัดสร้างชาติให้แข็งแกร่ง โดยไปซื้อมนุษย์ผิวดำนับล้านคน จับใส่เรือจากทวีปแอฟริกา มาเป็น “ทาส” ทำงานในไร่ ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม จนร่ำรวย

พูดไปทำไมมี…มาจนถึง พ.ศ.2561 ประเทศไทยยังต้องนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานจาก ลาว เมียนมา กัมพูชา นับล้านคน

กลับมาที่เมืองระนองครับ มาคุยกันเรื่อง “อั้งยี่”

นิทานโบราณคดีในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงบรรยายในตอนหนึ่งว่า…

“…ปรากฏว่าเมื่อเดือน 3 แรม 14 ค่ำ ถึงตรุษจีน พวกกรรมกรที่เป็นอั้งยี่ ‘ปูนเถ้าก๋ง’ พวกหนึ่ง ไปทวงเงินต่อนายเหมือง ขอให้ชำระหนี้สินให้สิ้นเชิงตามประเพณีจีน นายเหมืองไม่มีเงินพอจะให้ขอผ่อนผัน พวกกรรมกรจะเอาเงินให้จงได้ ก็เกิดทุ่มเถียง จนเลยวิวาทกันขึ้น พวกกรรมกรฆ่านายเหมืองตาย ชะรอยผู้ตายจะเป็นตัวนายคนหนึ่ง พวกกรรมกรตกใจ เกรงว่าจะถูกจับกุมเอาไปลงโทษ ก็พากันถือเครื่องศาสตราวุธหนีออกจากเมืองระนอง หมายว่าจะเดินบกข้ามภูเขาบรรทัดไปหาที่ซ่อนตัวอยู่ที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวน …”

พระนิพนธ์ฯ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ บันทึกว่า…

“…เมื่อไปถึงด่าน พวกชาวด่านเห็นกิริยาอาการผิดปกติ สงสัยว่าจะเป็นโจรผู้ร้าย จะเอาตัวมาให้ไต่สวนที่ในเมือง ก็เกิดวิวาทกันขึ้น คราวนี้ถึงยิงกันตายทั้งสองข้าง พวกชาวด่านจับจีนได้ 8 คน คุมตัวเข้ามายังเมืองระนอง ถึงกลางทางพวกจีนกรรมกรเป็นอันมากพากันมารุมแทงฟันพวกชาวด่าน ชิงเอาพวกจีนที่ถูกจับไปได้หมด แล้วพวกจีนกรรมกรก็เลยเป็นกบฏ รวบรวมกันประมาณ 500-600 คน ออกจากเหมืองแร่เข้ามาเที่ยวไล่ฆ่าคน และเผาบ้านเรือนในเมืองระนอง…”

เหตุร้ายขยายตัวต่อไปไม่หยุดแค่นี้ อั้งยี่ขยายผล กลายเป็น “กบฏ” ในราชอาณาจักร

“…พระยาระนองไม่มีกำลังพอจะปราบปรามก็ได้ แต่รักษาบริเวณศาลากลางอันเป็นสำนักรัฐบาลไว้ พวกจีนกบฏจะตีเอาเงินในคลังไม่ได้ก็พากันเที่ยวเก็บเรือทะเลที่เมืองระนอง และไปปล้นฉางเอาข้าวบรรทุกลงในเรือ แล้วพากันลงเรือแล่นหนีไปทางทะเลประมาณ 300-400 คน ที่ไปทางเรือไม่ได้ก็พากันไปทางบก หนีไปยังเหมืองแร่ในแขวงหลังสวนประมาณ 300-400 คน พอประจวบกับเวลาเรือรบไปถึงเมืองระนอง เหตุที่อั้งยี่เมืองระนองเป็นกบฏก็สงบลง ไม่ต้องรบพุ่งปราบปราม เพราะเป็นกบฏแต่พวก ‘ปูนเถ้าก๋ง’ หนีไปหมดแล้ว พวกอั้งยี่กลุ่ม ‘งี่หิน’ ที่ยังอยู่ก็หาได้เป็นกบฏไม่…”

อั้งยี่ คือ พี่น้องกัน อั้งยี่กลุ่มกบฏเดินทางไปสมทบกับอั้งยี่ที่ภูเก็ต…

“…พอพวกอั้งยี่ที่หนีมาจากเมืองระนองมาถึงเมืองภูเก็ต แยกย้ายกันไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามโรงกงสี อั้งยี่พวกของตนตามตำบลต่างๆ ไปเล่าว่าเกือบจะตีเมืองระนองได้ หากเครื่องยุทธภัณฑ์ไม่มีพอมือจึงต้องหนีมา ก็มีพวกหัวโจกตามกงสีต่างๆ ชักชวนพวกอั้งยี่ในกงสีของตนให้รวมกันตีเมืองภูเก็ตบ้าง แต่ปกปิดมิให้พวกหัวหน้าต้นแซ่รู้ ก็รวมได้แต่บางกงสีไม่พรักพร้อมกัน …”

การรักพวกพ้องแบบตายแทนกันได้ เจ็บแค้นแทนกัน ใจถึงพึ่งได้ เป็นลักษณะนิสัยชาวจีนส่วนใหญ่เสมอมา เมื่อมีผู้ยุยงส่งเสริม ปลุกปั่น กุข่าวขึ้น ทำเอาอั้งยี่กำเริบ จากเหตุวิวาท เลยคิดจะชิงบ้านชิงเมืองไปโน่น

การค้าเงินที่เรียกกันว่า “โพยก๊วน” คือธุรกิจนำเงินที่คนจีนหาได้ส่งกลับไปให้ญาติที่เมืองจีน ชาวจีนด้วยกันเองก็ขูดรีดค่าบริการแบบ “เสือกินเนื้อเสือ” เป็นสาเหตุของการวิวาทฆ่าฟันกันเองเช่นกัน

ชาวจีนที่กำลังคลั่ง ยอมตาย ถืออาวุธ 300-400 คนก่อเหตุจลาจลถึงขนาดจะชิงบ้านชิงเมืองที่ระนอง ต่อเนื่องลงไปถึงภูเก็ต ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ ถ้าทางราชการตัดสินใจผิด จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “น้ำผึ้งหยดเดียว” ประการสำคัญที่สุด คนไทยเจ้าถิ่นที่มีเพียงน้อยนิด เป็นชาวบ้านแท้ๆ จะเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า

ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา คนจีนเหล่านี้คือ กรรมกร เป็นแรงงานที่สร้างรายได้จากแร่ดีบุกเป็นกอบเป็นกำให้ทางราชการและเถ้าแก่แบบที่ใครก็ทำไม่ได้

อีก 1 เหตุการณ์ที่เขย่าขวัญชาวเมืองภูเก็ตต่อเนื่องจาก “อั้งยี่” ก่อเหตุที่ระนอง ในพระนิพนธ์

“… เมื่อเดือน 4 ขึ้น 13 ค่ำ ปีชวด พ.ศ.2419 เวลาบ่ายวันนั้น กลาสีเรือรบพวกหนึ่งขึ้นไปบนบกไปเมาสุรา เกิดทะเลาะกับพวกจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ตแต่ไม่ทันถึงทุบตีกัน มูลนายเรียกกลาสีพวกนั้นกลับไปลงเรือเสียก่อน ครั้นเวลาค่ำมีกลาสีพวกอื่น 2 คนขึ้นไปบนบก พอพวกจีนเห็นก็กลุ้มรุมทุบตีแทบปางตาย โปลิสไประงับวิวาทจับได้จีนที่ตีกลาสี 2 คนเอาตัวเข้าไปส่งข้าหลวง ในไม่ช้าก็มีจีนพวกใหญ่ประมาณ 300 คนซึ่งรวมกันอยู่ในตลาด ถือเครื่องศัสตราวุธพากันไปรื้อโรงโปลิส แล้วเที่ยวปล้นบ้านเผาวัดและเรือนไทยที่ในเมือง พบไทยที่ไหนก็ไล่ฆ่าฟัน พวกไทยอยู่ในเมืองมีน้อยกว่าจีนก็ได้แต่พากันหนีเอาตัวรอด ฝ่ายพวกจีนได้ทีก็เรียกกันเพิ่มเติมเข้ามาจนจำนวนกว่า 2,000 คน แล้วยังตามกันยกเข้ามาหมายจะปล้นสำนักงานรัฐบาล และบ้านพระยาวิชิตสงคราม เป็นการกบฏออกหน้า พระยาวิชิตสงครามอพยพครอบครัวหนีเอาตัวรอดไปได้…

…เหตุร้ายครั้งนั้น พระยามนตรีฯ ไม่หนีไปไหน ท่านเรียกระดมคนไทย สั่งการให้นำนักโทษจากเรือนจำออกมาสมทบกับโปลิสซึ่งมีอยู่ 100 คน สมทบด้วยกำลังทหารจากเรือในเรือรบขึ้นมาช่วยอีก 100 คน รวมกันรักษาทางที่พวกจีนจะเข้ามาได้ และเอาปืนใหญ่ตั้งจุกช่องไว้ทุกทาง…”

…พระยามนตรีฯ ให้ไปเรียกจีนพวกหัวหน้า “ต้นแซ่” ซึ่งอยู่ในเมืองเข้ามาประชุมกันที่ศาลารัฐบาลในค่ำวันนั้น และรีบเขียนจดหมายถึงเจ้าเมืองปีนัง และส่งโทรเลขมากรุงเทพฯ ขอกำลังเสริม

ในค่ำวันนั้นพวกจีนหัวหน้า ต้นแซ่ พากันเข้ามายังศาลารัฐบาลตามคำสั่ง พระยามนตรีฯ จึงสั่งให้พวกหัวหน้าเขียน “ตั๋ว” ออกไปถึงพวกแซ่ของตน ที่มากับพวกผู้ร้าย สั่งให้กลับไปที่อยู่ของตนเสียตามเดิม มีทุกข์ร้อนอย่างไรจะช่วยแก้ไขให้โดยดี พวกกรรมกรเชื่อฟังพากันกลับไปเสียมาก พวกที่ยังเป็นกบฏอยู่น้อยตัวลง ก็ไม่กล้าเข้าตีศาลารัฐบาล พระยามนตรีฯ จึงจัดให้จีนหัวหน้าต้นแซ่คุมจีนพวกของตัวตั้งเป็นกองตระเวนคอยห้ามปรามอยู่เป็นแห่งๆ ที่ในเมืองก็สงบไป แต่พวกจีนกบฏที่มีหัวโจกชักนำไม่เชื่อฟังหัวหน้าต้นแซ่…

พระยาประภาฯ จากกรุงเทพฯ ยกกำลังไปถึงเมืองภูเก็ตก็ไปร่วมมือกับพระยามนตรีฯ ช่วยกันรวบรวมรี้พลทั้งไทยและมลายูที่ไปจากหัวเมืองปักษ์ใต้ไปเข้าเป็นกองทัพ และเรียกพวกเจ้าเมืองที่ใกล้เคียงไปประชุมปรึกษากัน ให้ประกาศว่าจะเอาโทษแต่พวกที่ฆ่าคนและปล้นสะดม พวกกรรมกรที่ไม่ได้ประพฤติร้ายเช่นนั้น ถ้ามาลุแก่โทษต่อหัวหน้าต้นแซ่และกลับไปทำการเสียโดยดีจะไม่เอาโทษ พวกจีนที่เป็นแต่ชั้นสมพลก็พากันเข้ามาลุแก่โทษโดยมาก จับได้ตัวหัวโจกและที่ประพฤติร้ายบ้าง แต่โดยมากพากันหลบหนีจากเมืองภูเก็ตไปตามเมืองในแดนอังกฤษ การจลาจลที่เมืองภูเก็ตก็สงบ

เราเองก็ต้องยอมรับนะครับว่าในเวลานั้น นายทุนในสยามทุกฟากฝ่าย ต่างก็เรียกร้อง ต้องการชาวจีนมาเป็นกรรมกร เพื่อทำเงินให้แก่ธุรกิจของตน แรงงานจากจีนเท่าไหร่ก็ไม่พอ เรื่องการจัดระเบียบคงไม่ต้องพูดถึง เพราะชาวจีนทะลักเข้ามาจำนวน
มหาศาล

ชาวจีนที่ตั้งตัวเป็นอั้งยี่มีมากเกินกว่าผู้ที่เป็น “ตั้วเฮีย” จะปกครองได้ ความสับสนอลหม่านในยุคนั้น ทำให้ไม่มีชาวจีนยอมเป็นตั้วเฮีย (แปลว่าพี่ที่หนึ่ง) พวกอั้งยี่ก็แตกแยกกันเป็นหลายกงสี หลายคนยอมเป็น “ยี่เฮีย” (แปลว่าพี่ที่สอง) ไม่ขึ้นต่อกัน อั้งยี่ต่างกงสีมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันเองบ่อยครั้ง

ทางราชการ ประชาชนคนทำมาหากินทั่วไปอยู่ในภาวะ “ขมขื่นแต่ต้องฝืนทน” จะปราบปรามให้สิ้นซากก็เกรงจะขาดกรรมกรทำงาน ขาดรายได้ ทั้งรัฐและเอกชนจะสูญเสียรายได้มหาศาล

อั้งยี่มีประโยชน์สำหรับใครบางคน บางกลุ่ม แต่ที่เดือดร้อนแสนสาหัส คือ ประชาชนคนบริสุทธิ์

ในกรุงเทพฯ อั้งยี่ก็เคยแสดงฤทธิ์เดชมาแล้ว โปรดติดตามตอนต่อไป

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image