สมาคมนักข่าวฯ จัดงานราชดำเนินสนทนาหัวข้อ ‘ประชามติ อะไรทำได้-ไม่ได้’

สมาคมนักข่าวฯ จัดงาน  “ประชามติ อะไรทำได้-ไม่ได้” “สมชัย” ยัน กกต.ยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ขณะที่ สนช. แจงหลักกม.ยึดตามปี 52 ชี้อยากให้ปชช.ออกมาใช้สิทธิมากที่สุด – ไม่วุ่นวาย ด้าน “เสรี” แนะคณะกรรมการการเลือกตั้งคุยกันให้ตกผลึกก่อน หวั่นสังคมสับสน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานราชดำเนินสนทนาในหัวข้อ “ประชามติ อะไรทำได้-ไม่ได้” โดยมี พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พร้อมด้วย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ร่วมสนทนา โดย พล.ร.อ.ชุมนุม กล่าวว่า การพิจารณาพ.ร.บ.ของสนช. เราพยายามดู พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติในปี 2552 เป็นหลัก เนื้อหาส่วนใหญ่จึงใกล้เคียงปี 2552 ส่วนรายละเอียดของกฎหมายนั้น เราเน้นการเอื้ออำนวยให้กับ กกต.เพราะ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบและเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งกฎหมายนี้ เราจะใช้เฉพาะการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น สำหรับวัตถุประสงค์ คือ เราอยากให้มีประชาชนออกมาใช้เสียงมากที่สุด จึงพยายามสร้างบรรยากาศในการเผยแพร่ความรู้ โดยที่ไม่ให้เกิดปัญหา ต้องมีความเรียบร้อย ไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นใหม่ในสังคม

พล.ร.อ.ชุมนุม กล่าวต่อว่า เราอยากให้ทุกคนใช้เหตุผลในการพิจารณาเพื่อออกความคิดเห็นต่อการทำประชามติครั้งนี้ และต้องการให้กระบวนการครั้งนี้เป็นที่ยอมรับของประชาชน และมีความเข้าใจมากที่สุด เพื่อการทำประชามติจะได้เป็นความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ สนช.ได้ปรับปรุงกฎหมายจากเดิมที่ กกต.เสนอมาเพียงเล็กน้อย คือ เพิ่มเติมอายุของผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รวมทั้งมีการเพิ่มเวลาออกเสียงให้มากขึ้น คือ 08.00 -16.00 น. และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้บุคคลพิการเป็นกรณีพิเศษ สำหรับกรณีทำความผิดในมาตรา 62 มีการเพิ่มระวางโทษเป็น 1-10 ปี และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ส่วนกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษ อันเป็นเหตุให้การลงประชามตินี้ต้องยุติ ผู้ถูกพิพากษาต้องถูกลงโทษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ขณะที่นายสมชัย กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่พูดคุยกันไม่จบไม่สิ้นว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ตนอยากจะสื่อกับประชาชนว่า การออกกฎดังกล่าวเราเริ่มต้นจากหลักการ และวิธีการ จนนำไปสู่ประกาศกกต. ซึ่งเรายืนอยู่บนหลักการของสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ตามมาตรา 7 ที่ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย

Advertisement

ด้านนายเสรี กล่าวว่า สิ่งที่กกต.ได้ทำเป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปตามหน้าที่ เข้าใจการเสนอแนะของ กกต.ว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ตนก็เห็นใจ กกต. เพราะการทำหน้าที่ตรงนี้เข้าใจว่า ช่วงแรกประชาชนอาจจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ บางคนรู้แต่อยากลองของให้วุ่นวาย ก็มีการกระทำการแสดงออก ทำให้ กกต.อยู่ในฐานะที่ลำบาก เพราะอยู่ในช่วงบังคับใช้กฎหมาย ถ้าอ่อนเกินไปประชาชนก็จะไม่กลัว แต่ถ้าแข็งไป ประชาชนก็จะว่าทำไมไม่เตือนก่อนในช่วงแรก ดังนั้นหน้าที่ของ กกต.ต่อประชาชน ในการลงประชามติที่ กกต.ได้เสนอข้อแนะนำ 6 ข้อ และ 8 ข้อ ด้วยความเป็นห่วงของนายสมชัยจึงไปโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพิ่มเติมอีก 10 ข้อ ตน ในฐานะ กมธ.การเมือง จึงเป็นห่วงและอยากฝากนายสมชัยว่า ควรคุยกันภายในกกต.ให้ตกผลึกเสียก่อน เพราะหาก กกต.ยังไม่ตกผลึก ประชาชนข้างนอกก็อาจจะทำผิดได้ แม้ตนจะเข้าใจว่า นายสมชัยมีความกรุณาอยากจะขยายความ ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่จะยิ่งทำใหชาวบ้านสับสนและงง จึงอยากให้กกต.ออกหลักเกณฑ์มาให้ตรงกัน ถึงจะสามารถแก้ปัญหาความสับสนได้

นายเสรี กล่าวอีกว่า หลักสำคัญในการทำประชามติอยู่ที่มาตรา 7 โดยให้สิทธิการกระทำอย่างสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งจะต้องไปดูกำหมายประกอบ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ห้ามอะไรบ้าง หรือ คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ห้ามอะไรบ้าง รวมทั้งกฎหมายประชามติด้วย ส่วนเรื่องการห้ามกระทำที่สำคัญนั้นอยู่มาตรา 61 การเขียนอธิบายกฎหมายให้ละเอียดถี่ถ้วนจะยิ่งทำให้การตีความแคบลง แต่ลักษณะการเขียนกฎหมาย เราจะเขียนไว้กระชับ จึงต้องมีการตีความ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ปัญหาน้อยลง ต้องยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลักแล้วอธิบายตามอนุมาตรา ถ้าตัวไหนชัดเจน ก็ไม่ต้องอธิบาย แต่ถ้าคำไหนไม่ชัดเจน กกต.ต้องอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างตามอนุมาตรา หลักการถึงจะมั่น คนจะได้ไม่งง และสับสน

“ส่วนไหนที่เป็นความผิดประชาชนจะแยกอย่างไร โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่คนส่วนใหญ่ใช้จนเป็นชีวิตประจำวันแล้ว บางเรื่องคนอ่านแล้วส่งต่อ ๆ กันโดยไม่รู้ว่าผิด ดังนั้น ความชัดเจนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจ แต่ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต. รวมทั้ง กรณีกดไลค์ในเฟซบุ๊ก ในข้อความที่ผิดกฎหมาย คนที่กดไลค์ก็กลายเป็นจำเลยไปก่อนแล้ว เพราะจะเป็นหลักฐานได้ ยิ่งแค่การใส่เสื้อ เยส หรือ โน ก็ตีความยากแล้วว่า ข้อความนี้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ บางคนถ้าใส่เสื้อ โน พร็อบเบลม (no problem) แล้ว คำว่า โน ตัวใหญ่ แต่คำว่า พร็อบเบลม ตัวเล็ก ๆ ผมสงสัยว่าอย่างนี้เขาจะถูกจับหรือไม่ ส่วนการกำหนดว่า ห้ามรณรงค์ นั้นยังไม่เข้าใจว่าเป็นคำอธิบายหรือไม่ อย่างไร เพราะคำว่า รณรงค์ มันไม่ได้อยู่ในกฎหมาย อันนี้จะทำให้ยุ่ง ดังนั้นความชัดเจนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ อยากให้กกต.สรุปข้อเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ ให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อจะได้วางหลักเกณฑ์ไปในทางเดียวกัน ประชาชนจะได้ไม่ยุ่งยาก” นายเสรี กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image