ประกาศ ป.ป.ช. ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ตามมาตรา 102 เกิดปัญหาเพราะองค์กรใด : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

ผู้เขียนขอความกรุณาเสนอแนวทางแก้ปัญหาในกรณีนี้ แต่ก่อนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาก็ควรที่จะเริ่มพิจารณาให้เข้าใจเสียก่อนว่า ประกาศฉบับนี้มีที่มาอย่างไร เริ่มจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 234 (3) ซึ่งบัญญัติว่า “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้”

(3) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

และด้วยอำนาจตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 มาตรา 28(3) ประกอบมาตรา 102 คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้ออกประกาศข้างต้น กำหนดตำแหน่งผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งตามประกาศได้กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายตำแหน่ง คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้าราชการศาลยุติธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป ประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ ประธานและคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันวินาศภัย ประธานกรรมการ รองประธาน และกรรมการบริหารกองทุน อ้อยและน้ำตาลทราย สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ (นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี) เป็นต้น

ประกาศฉบับนี้ออกมาโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จึงเป็นประกาศที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และเมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งโดยเฉพาะ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจ และมีโอกาสที่จะกระทำการโดยมิชอบหรือกระทำการทุจริต จึงเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่ กรรมการ ป.ป.ช.กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากจะมีการคัดค้านว่าตำแหน่งใดสมควรไม่สมควรยื่นบัญชี ก็น่าจะดำเนินการเสียตั้งแต่ชั้นคณะผู้ร่างกฎหมาย หรือในสภาที่ลงมติให้กฎหมายออกมาใช้บังคับ (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) แต่เมื่อประกาศใช้บังคับแล้ว

Advertisement

องค์กรที่มีอำนาจจะมาคิดแก้ไขกฎหมายนี้ เมื่อต้องเผชิญกับการคัดค้านของคณะบุคคลหนึ่งคณะบุคคลใดก็ไม่สมควรกระทำ เพราะจะทำให้กฎหมาย อันเป็นข้อบังคับที่ใช้แก่บุคคลในประเทศที่มีสถานะเดียวกันขาดความศักดิ์สิทธิ์ และประชาชนก็จะเสื่อมศรัทธา ผู้มีหน้าที่ออกกฎหมาย

ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ บรรพตุลาการผู้ทรงความรู้คู่คุณธรรมได้เคยกล่าวไว้ว่า “สำหรับฝ่ายนิติบัญญัตินั้นต้องใช้ความระมัดระวัง และไตร่ตรองให้ดีก่อนที่บัญญัติกฎหมายออกมา การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงเทศกาลบ้านเมืองที่เหมาะสมในกรณีนั้นด้วย ถ้าออกกฎหมายไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงเทศกาลบ้านเมืองหรือเปลี่ยนไปโดยไม่มีขอบเขตที่แน่นอน การบังคับใช้นั้นก็ไม่มีผล ประชาชนไม่ยอมรับนับถือปฏิบัติตาม” เมื่อไม่สามารถแก้ไขกฎหมายที่ประกาศออกมาใช้บังคับได้ ก็ต้องใช้กฎหมายบังคับต่อไป ข้อสำคัญก็คือ ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายแล้วไปกระทบองค์กรใดแล้วองค์กรนั้นออกมาโต้แย้งฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายตามที่องค์กรนั้นโต้แย้ง ก็จะมีองค์กรอื่นๆ ที่ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้นออกมาโต้แย้งอีกเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด

ข้อขัดข้องที่นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย อ้างว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศของกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการยุ่งยากจุกจิก และถ้าหลงลืมไม่แจ้งทรัพย์สินบางอย่างอาจถูกลงโทษถึงจำคุกนั้น อาจมีทางแก้ไขปัญหาที่อ้างหมดไปได้โดยขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. มาให้ความรู้เกี่ยวกับการกรอกบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจัดทำแบบกรอกบัญชีให้ผู้มีหน้าที่แจ้งจัดทำได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้เขียนเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โทรศัพท์มาหาผู้เขียนขอให้ส่งเจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบทรัพย์สินไปช่วยแนะนำการทำบัญชีให้แก่ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้เขียนก็จัดการส่งเจ้าหน้าที่ไปตามขอ ท่านผู้พิพากษาศาลฎีกาก็จัดทำบัญชีทรัพย์สินยื่นตามกฎหมายกำหนดโดยไม่มีปัญหาโต้แย้งแต่อย่างใด

Advertisement

สำหรับข้ออ้างที่ว่าหากมีการหลงลืมทรัพย์สินบางอย่างไม่ได้แจ้งในบัญชีจะถูกลงโทษถึงจำคุกนั้น ความจริงการหลงลืมอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อผู้เขียนเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกฎหมายก็กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา ครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจบัญชีได้แจ้งให้ผู้เขียนทราบว่ามีเงินในบัญชีของธนาคารหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนไม่ได้แจ้ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของรุ่นนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ 2501 ซึ่งผู้เขียนเคยเป็นประธานรุ่น และทางรุ่นได้มีมติให้ประธานร่วมกับเหรัญญิก ลงชื่อร่วมกันเมื่อต้องถอนเงินไปใช้ในกรณีเพื่อนร่วมรุ่นเจ็บป่วยหรือตาย

ผู้เขียนก็ได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยังประธานวุฒิสภาโดยไม่เคยออกมาแย้งคัดค้านทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ผู้เขียนไม่จงใจปิดบัง แต่เป็นการเข้าใจผิดคิดว่าเงินนั้นมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เขียนจึงไม่ได้แจ้ง

ส่วนที่มีการแสดงความกังวลว่าถ้ามีการหลงลืมทรัพย์สินบางอย่างไม่ได้แจ้งในบัญชีแล้วจะต้องถูกจำคุกนั้น ความจริงโทษดังกล่าวได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แล้วคือมาตรา 119 ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งตรงกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับปัจจุบัน มาตรา 167 ทั้งยังต้องห้ามดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปีด้วย แต่ที่จะต้องรับโทษหนักกว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2542 ก็คือโทษตามมาตรา 81 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ

1.ให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้

2.ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ก็ต้องนำบทบัญญัติมาตรานี้มาใช้บังคับด้วยตามมาตรา 114 วรรคสาม

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดโทษในเรื่องการดำรงตำแหน่งไว้สูงมาก จากเดิมห้ามดำรงตำแหน่งเป็นเวลาห้าปี เป็นห้ามดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต เพราะมีจุดประสงค์จะปราบปรามนักการเมืองที่ทุจริต หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” แต่ทว่ายังมิได้นำมาใช้กับนักการเมืองก็อาจจะต้องนำมาใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายอื่นเสียก่อน จึงเกิดปัญหาขึ้น และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่ากฎหมายดังกล่าวนี้อาจจะต้องนำมาใช้บังคับแก่ท่านทั้งหลายที่ร่วมกันร่างและมีมติให้กฎหมายผ่านสภาออกมาในเวลาต่อไป

“อำนาจนั้นย่อมมาพร้อมหน้าที่และความรับผิดชอบเสมอ”

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image