คิด เห็น แชร์ : ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ ด้วยพลังแห่งข้อมูล

“พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” เป็นคำคมจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดัง ผมขอยกตัวอย่างในประเด็นนี้เพื่อเปรียบเทียบกับหลักการบริหารประเทศที่มีแนวโน้มในการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง (Self-government) ซึ่งจะเป็นการใช้ศักยภาพของประชาชนในการบริหารจัดการเรื่องง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น เมื่อประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการจึงต้องมีความรับผิดชอบภารกิจของตนเองควบคู่ไปด้วย

สำหรับภาคอุตสาหกรรม การปฏิรูปกระบวนการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรมในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยปรับรูปแบบการกำกับดูแลโรงงานไปสู่แนวทางการกำกับดูแลผ่านระบบประเมินและรับรองตนเอง (Self-declaration) เพื่อทดแทนการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือที่เรียกว่าใบ ร.ง.4 ที่ต้องดำเนินการทุก 5 ปีส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ติดขัด ลดปัญหาข้อร้องเรียนความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความสมดุลต่อภาคประชาชนและภาคสังคม และเพื่อควบคุมกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ถูกต้อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงและความถูกต้องอีกขั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการรับรองเท็จ จึงได้ทำข้อตกลงบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย “Factory 4.0” ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำหรับการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการระบบกำกับดูแลแบบใหม่

เมื่อผู้ประกอบกิจการมีความโปร่งใสเรื่องการรับรองกิจการของตนอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือแล้ว ในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ กับกระทรวงก็สามารถดำเนินการได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยระบบตรวจ e-Surveillance จะมีการใช้ข้อมูลเชื่อมโยงกัน

Advertisement

ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากการกำกับดูแลโรงงานและเรื่องใบอนุญาตแล้ว ยังมีภารกิจด้านการให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมในยุค 4.0 (Industry 4.0) ที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่เป็นเครื่องบ่งชี้เศรษฐกิจที่ทรงประสิทธิภาพทั้งในระดับมหภาคและในแต่ละรายสาขาอุตสาหกรรม คือ ข้อมูลดัชนีอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีความครอบคลุม 235 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็น 57 กลุ่มอุตสาหกรรม ผ่านระบบ I-INDUSTRY ซึ่งมีแบบฟอร์มการสำรวจข้อมูลการผลิตหรือที่เรียกว่าใบ ร.ง.8 ในการเก็บข้อมูลโรงงาน โดยกระทรวงได้รวบรวมแบบสำรวจภาคการผลิตบูรณาการแบบเบ็ดเสร็จแบบเดียว (Single form) ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติการได้มาของข้อมูลการผลิต สามารถกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้ประกอบการสามารถกรอกข้อมูลได้ด้วยตนเอง สามารถกรอกข้อมูลย้อนหลังได้ 3 เดือน หรือสามารถแก้ไขข้อมูลได้หากมีการกรอกผิดแต่ต้องภายในเดือน

นอกจากนี้ ทางกระทรวงได้มีแผนงานในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Big data) มาช่วยจัดทำแบบจำลองในการวิเคราะห์คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทุกด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผลจากการคาดการณ์มีศักยภาพ และเข้ามาทดแทนคุณสมบัติบางประการของมนุษย์มากขึ้น เช่น ประสบการณ์ หรือดุลพินิจ ติดอาวุธให้กับผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเพื่อวิเคราะห์ทางเลือกกลยุทธ์สำหรับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็วโดยอิงจากข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ การขุดและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเสมือนแหล่งแร่ที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น ข้อมูลจากผู้ที่เล่นเฟซบุ๊กที่มีค่าข้อมูลสูงมาก โดยไม่ต้องถึงขั้นวิเคราะห์เชิงลึก แค่เพียงระบุว่าหากเรื่องนี้เป็นจริงเรื่องนี้ก็จะเป็นจริงด้วย หรือที่เรียกว่าการวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์ เช่น หากเราคลิกดูโฆษณาผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ น่าจะชอบซื้อของชิ้นนั้นด้วย ซึ่งบางทีเราจะเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ตรงใจโดยไม่รู้ตัว เป็นเพียงตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก    บิ๊กดาต้าจากกิจการหนึ่ง

จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการทุกท่านรายงานข้อมูลการผลิต (indexes.oie.go.th) โดยเฉพาะในยุคที่เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใสผ่านระบบจะถูกนำมาคำนวณดัชนีอุตสาหกรรมที่สามารถเปรียบเทียบธุรกิจ (Benchmark) และทิศทางการเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านและประเทศไทยของเรา

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image