กลุ่มแม่เฒ่าอาข่าร่ำไห้-สุดปลื้มใจได้บัตรประชาชน หลังไร้สัญชาติกว่าค่อนศตวรรษ  

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม  ที่โรงแรมวังคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้มีการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในจังหวัดเชียงราย โดยมีตัวแทนกรมการปกครองและเครือข่ายสถานะบุคคลจังหวัดเชียงราย 5 องค์กรซึ่งประกอบด้วยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนพื้นที่สูง องค์การแลนอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิแอดเวนติสเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์แอ๊ดดร้าประเทศไทย โดยมีกำพล โพธิคำ รักษาการจ่าจังหวัดเชียงรายเป็นประธาน และมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่ปรึกษาคณะทำงานฯเป็นประธานร่วม

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ให้ตัวแทนของแต่ละอำเภอรายงานสถานการณ์ปัญหาสถานะบุคคลจากสำนักทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอชายแดน เช่น แม่ฟ้าหลวง แม่จัน แม่สายและอำเภอเมือง ที่น่าสนใจคือนายกำพลได้เล่าว่าได้รับการประสานว่าในเชียงรายมีเด็กติดจี(เด็กในระบบการศึกษาที่ยังไม่มีบัตรประชาชน) ราว 2,000 คนแต่มารายงานตัวเพียง 700 คน อีก 700 คนไม่สามารถกำหนดสถานะได้ เพราะเป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าวนับพันราย บางส่วนพ่อ-แม่ไม่ได้อยู่ร่วมได้แต่ส่งตรงมาจากพม่าเพื่อให้มาเรียนหนังสือในไทย สถานะของไทยตอนนี้คือสร้างโรงเรียนและจ้างครูสอนเด็กพม่า บางรายถือพลาสปอร์ตเกาหลี บางคนถือพลาสปอร์ตมาเลเซีย

“เรื่องเด็กติดจี ต้นเหตุของปัญหาคือโรงเรียน เพราะหากเด็กไม่พอก็กลัวถูกยุบโรงเรียน ผมสันนิฐานได้เลยว่าเขาเลยไปข้ามเอาเด็กฝั่งนู้นมา เรื่องเด็กตัวจีจึงกลายเป็นปัญหานโยบาย”นายกำพล กล่าว

นายกำพลกล่าวว่า องค์กรเอกชนมักมองว่าทางอำเภอทำงานล่าช้าเพราะมีคำร้องอยู่มากแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนมีน้อย ดังนั้นแต่ละสำนักทะเบียนต้องรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่จึงควรวางแผนในการรับคำร้องให้ชัดเจน เพราะหากคนมารุมยื่นคำร้องอย่างไรก็ต้องถูกบ่นว่าช้า ดังนั้นควรให้หมู่บ้านประชุมกันจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนเสนอมาก่อน เช่น เด็กที่เพิ่งจบ ผู้ป่วย ขณะเดียวกันหนังสือรับรองการเกิดเราจะเชื่อถือได้อย่างไร ซึ่งจากประสบการณ์ควรบันทึกข้อมูลพยานทุกรายไว้

Advertisement

ขณะที่นายเสรี นุ่มประไพ ปลัดฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่ฟ้าหลวงกล่าวว่า การให้สันติบาลร่วมตรวจสอบประวัติและความประพฤติของคนที่มีปัญหาสถานะนั้นไม่อยู่ในระบบกฏหมายเพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่มีปัญหาด้านความมั่นคง ดังนั้นควรยกเลิกเพราะทำให้งานล่าช้า ซึ่งการตรวจก็เหมือนที่อำแภอสอบสวน คือมีภูมิลำเนา มีบุคคลที่น่าเชื่อถือรับรองถือว่าเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนระหว่างอำภอกับสันติบาล สุดท้ายสันติบาลก็ไปสอบผู้ใหญ่บ้านเหมือนกับที่อำเภอตรวจสอบ

 

“เรื่องรับรองการเกิดขอให้ไปคิดให้ดี และใครควรทำ ทุกวันนี้งานที่ไม่เดินจริงๆคืองานหนังสือรับรองการเกิด เพราะถ้าไม่มีก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เราต้องหาทางออกร่วมกัน ไม่งั้นก็ไม่เห็นแสงสว่าง และคำว่าเร่งรัดก็คงอยู่คู่กับกรมการปกครองอีกนานเท่านาน”นายเสรี กล่าว

Advertisement

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ดีระหว่างภาคราชการและภาคประชาชนเนื่องจากปัจจุบันยังมีประชาชนที่ประสบปัญหาสถานะบุคคลในกลุ่มเป้าหมายอยู่จำนวนมาก ดังนั้นจึงควรแก้ไขในเชิงระบบ ซึ่งครั้งนี้ทำให้ทราบถึงสถานการณ์ของจังหวัดเชียงรายและสิ่งที่ควรแก้ไขเร่งด่วน เช่น เด็กที่ติดจี ซึ่งบางส่วนเป็นเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาเรียนหนังสือในประเทศไทยเท่านั้น บางคนมีพลาสปอร์ตจากประเทศต้นทาง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าควรให้สถานะบุคคลเหล่านี้แค่ไหน อย่างไร

 

ในวันเดียวกันที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพชภ.พร้อมด้วยนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำแม่เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์อาข่าหมู่บ้านกิ่วสะไตจำนวน 8 คนซึ่งมีอายุระหว่าง 65-89 ปี แต่งชุดประจำชนเผ่ามาถ่ายบัตรประชาชนภายหลังจากแม่เฒ่ากลุ่มนี้ประสบปัญหาไร้บัตรประชาชนมายาวนาน จนลูกหลานได้รับบัตรประชาชนหมดแล้ว แต่เหล่าแม่เฒ่าเหล่านี้ยังไร้สัญชาติ เพราะในอดีตมักทำงานอยู่กับบ้าน ไม่ไปรับการสำรวจ และไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องการเดินทาง เรื่องความช่วยเหลือสวัสดิการจากรัฐบาล จนกระทั่งมูลนิธิพชภ.ได้สำรวจ รวบรวมเอกสารหลักฐาน และจัดทำข้อมูลยื่นกับอำเภอแม่จัน

 

ทั้งนี้ระหว่างที่นางวรรดี ราชชมภู นายอำเภอแม่จัน มอบบัตรประชาชน แม่เฒ่าหลายคนถึงกับร่ำไห้หลั่งน้ำตาด้วยความดีใจ ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

นางหมี่จร เบกากู่ วัย 87 ปี กล่าวว่า ตนเกิดที่บ้านป่าซางหลวงซึ่งในปัจจุบันคือบ้านป่าซางนางเงิน ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บิดาที่มีชื่อว่า “คือบือ เบกากู่”    ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ ปัจจุบันลูกและหลานของตนได้สัญชาติไทยหมดแล้ว โดยหลานคนหนึ่งเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่อีกคนหนึ่งเรียนจบปริญญาตรีทางด้านมัคคุเทศและสายเทคนิคด้านคอมพิวเตอร์ บางคนได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ

 

“ยายรู้สึกดีใจมากที่วันนี้ได้บัตรประชาชนเพราะรอมาทั้งชีวิต และจะได้สวัสดิการต่างๆเหมือนคนอื่นเขา เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ หรือเวลาเจ็บไข้ก็จะได้รักษาฟรี”นางหมี่จรกล่าวพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง ยายหมี่จรจะเป็นใช้สิทธิหรือไม่ แม่เฒ่าหมี่จรกล่าวว่า ตนอยากไปใช้สิทธิ ไม่ว่าจะใช้ถูกหรือผิดก็อยากไปลอง

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image