คิดถึง 22 พฤษภา 57 : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

การประชุมระหว่างแม่น้ำห้าสายร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพรรคการเมืองต่างๆ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ทำให้เกิดความชัดเจนทางการเมืองเกี่ยวกับตารางเวลากิจกรรมต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งจนกระทั่งมีรัฐบาลใหม่ จะมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันไหน ตามลำดับ

แต่ประเด็นที่อดคิดไม่ได้คือ สถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างไปจากการครั้งก่อน เป็นการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์พิเศษ โครงสร้างอำนาจซ้อนอำนาจ มีทั้งรัฐบาล ทั้ง คสช. ขณะที่กรรมการการเลือกตั้งซึ่งควรจะเป็นพระเอกในการนี้ เป็นเพียงแค่พ่อบ้าน หรือผู้จัดการ

เพราะการประชุมเกิดขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่หลักคืออำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ สนับสนุนให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องรับฟังและสนองตอบ กกต.ให้เต็มที่ แต่ในความเป็นจริงผู้จัดการ คนจัดการเลือกตั้งกลับต้องฟังผู้อำนวยความสะดวกมากกว่า

พ่อบ้าน ต้องให้ความสำคัญ ถามยามเฝ้าบ้านเพราะยามถือปืน ขณะที่เจ้าของบ้านหรือชาวบ้านทั่วไปได้แต่นั่งตาปริบๆ เขาว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ไม่มีปากมีเสียงอะไร

Advertisement

การที่พรรคการเมืองใหญ่ กลาง เล็กก็ตาม ส่วนหนึ่งไม่ขอเข้าร่วมการประชุม แต่ยอมรับปฏิบัติตามผลการประชุม นอกจากจะเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร แค่รับรู้กำหนดเวลาวันไหนจะมีอะไร เป็นเพียงความชัดเจนเรื่องเวลาเท่านั้น

ขณะที่ความชัดเจนในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเลือกตั้งที่ยุติธรรม คงไม่สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบได้ในเวทีนี้ เลยไม่ไปดีกว่า ไม่เอาดีกว่า

เป็นต้นว่า สถานะของผู้จัดประชุม และผู้เข้าร่วมประชุม จะแยกบทบาทระหว่างกรรมการกับผู้เล่น ระหว่างหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี และผู้ถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ออกจากกันได้ชัดเจนอย่างไร เมื่อไหร่ จึงไม่เกิดปัญหาโต้แย้งว่าไม่แฟร์ เอารัดเอาเปรียบคู่แข่ง

Advertisement

ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลจะประกาศการตัดสินใจรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่รับ วันไหน เมื่อไหร่ เป็นเรื่องของฉัน เป็นเทคนิค ชั้นเชิง ลูกเล่น กลยุทธ์เพื่อชัยชนะในบั้นปลายหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก ไม่อยากให้บอบช้ำมากจนอาจทำให้เพลี่ยงพล้ำ ก็เท่านั้น

ความได้เปรียบเชิงโครงสร้างต่างหาก เป็นปัจจัยแห่งชัยชนะแบบนอนมา ก็คือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีที่เปิดโอกาสให้วุฒิสมาชิกมีหน้าที่ร่วมตัดสินใจด้วย

เหตุที่บริบทการเมืองถูกออกแบบมาเช่นนี้ การแข่งขันเรื่องตัวบุคคล ต้องทำให้ได้เก้าอี้ ส.ส.เกิน 125 คน เพื่อรวมกับวุฒิสมาชิก 250 คน เป็น 375 คน เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.และ ส.ว.รวมกันคือ 750 คนจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนจำเป็นต้องทำให้ได้จนมีหลักประกันเสียก่อนค่อยประกาศการตัดสินใจก็ได้

ความชัดเจนเรื่องอื่น เนื้อหาสาระ การนำเสนอนโยบายทิศทางประเทศจะไปข้างหน้าอย่างไร ในแต่ละด้านจึงเป็นเพียงองค์ประกอบ จัดสำรับไว้หมดแล้ว กลายเป็นเรื่องรอง ต่อจากการดูดและดึงว่าที่ ส.ส.เข้าสังกัดพรรค

พรรคการเมืองวันนี้ ไม่ว่าจะแบ่งเป็นสามขั้ว ขั้ว คสช. ขั้วประชาธิปัตย์ ขั้วเพื่อไทย หรือสองขั้ว ขั้วประชาธิปไตย กับขั้วเผด็จการอำนาจนิยม ก็ตาม

รูปร่างหน้าตาพรรคร่วมรัฐบาลจะปรากฏออกมาอย่างไร แน่นอนอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง กับการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองและกลุ่มพลังอำนาจ

ผลของการไปลงคะแนนเสียงและการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิจึงเป็นพลังสำคัญของความเปลี่ยนแปลง

การประชุมจบแล้ว แต่อดคิดย้อนไปถึงเหตุการณ์การประชุมพรรควันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่สโมสรทหารบก ที่เดียวกันไม่ได้ ถ้าผู้จัดการประชุมวันนั้นตั้งโจทย์คำถามแบบเดียวกันกับการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา จะจัดการเลือกตั้งกันอย่างไร ให้เรียบร้อย ไม่ให้เกิดความรุนแรง จะยุติการยึดบ้านยึดเมืองกันเมื่อไร สถานการณ์บ้านเมืองไทยคงไม่เป็นอย่างที่กำลังจะเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง

เพราะวันนั้นคำถามเป็นอีกประเด็นที่เพิ่มเข้ามาคือ รัฐบาลรักษาการจะออกหรือไม่ คำตอบที่ได้รับจากฝ่ายรัฐบาลเวลานั้นก็คือไม่ออก เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ต้องรักษาการไปจนกว่ามีรัฐบาลใหม่

มาถึงวันนี้มีคำถามเดียวกันนี้เกิดขึ้น คสช.จะออกไหม หัวหน้ารัฐบาลจะลาออกไหมเมื่อได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแข่งกับพรรคการเมืองอื่น คำตอบที่ได้เป็นอย่างไร ก็รู้ๆ กันอยู่

ไม่ออก เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ต้องทำหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ คำตอบเดียวกัน เหตุผลเดียวกัน เป๊ะเลย

ฝ่ายหนึ่งต้องมีอันเป็นไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังอยู่ได้ และกำลังจะหาทางอยู่ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบสำหรับพวกเรา เป๊ะเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image