พาณิชย์มั่นใจทุกรัฐบาลเร่งดันอาร์เซ็ป-ซีพีทีพีพี มั่นใจ หวังขยายเพิ่มตลาดรองรับเสี่ยงสงครามการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา “รอบรู้ ASEAN รอบรู้ ACEP” จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)  ที่โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจการค้าโลกต้องเผชิญความท้าทายจากทั้ง สงครามการค้าสหรัฐ-จีน มาตรการกีดกันทางการค้าทั้งมาตรการทางภาษีและที่มีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ดังนั้น การรวมกลุ่มทางการค้าถือเป็นโอกาสที่จะสร้างตลาดและเป็นทางเลือกให้กับประเทศสมาชิกที่จะขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ที่้เป็นคณะทำงานยังดำเนินการเจรจาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) ซึ่งทางกลุ่มอาร์เซ็ปตั้งเป้าหมายจะบรรลุข้อตกลงในปี 2562 และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี) โดยไทยมีความสนใจที่จะเข้าร่วมกลุ่มแต่ยังต้องรอความชัดเจนจากซีพีทีพีพีซึ่งจะมีผลบังคับใช้สิ้นเดือนธันวาคมนี้ และจะมีการจัดประชุมสมาชิก ประเทศแรก ในเดือนมกราคม 2562 ต้องว่าจะมีการเปิดรับสมาชิกใหม่อย่างไรและไทยต้องมีการพิจารณาเรื่องการเตรียมตัวเข้าร่วม เพราะอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น 

“แม้การเจรจาทั้งสองจะไม่แล้วเสร็จในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไทยกำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่การดำเนินงานของคณะทำงานจะยังต่อเนื่อง และมองว่าทุกรัฐบาลไม่มว่ารัฐบาลใดที่จะเข้ามามองเห็นโอกาสและความความสำคัญของการเจรจาเหล่านี้เหมือนกันเพราะเป็นประโยชน์ของชาติ โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัวได้ 8% ในปี 2562 หรือมูลค่า 2.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการเจรจาการค้าจะเป็นโอกาสและทางเลือกให้กับประเทศสมาชิกที่จะขยายตลาดระหว่างกันได้ หากสามารถบรรลุความตกลงได้สำเร็จ” นางอรมน กล่าว

นางอรมน กล่าวว่า ปีหน้าไทยเป็นประธานอาเซียน อาเซียนจะมีการประชุมร่วมกันทั้งสิ้น 180 ครั้ง เป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจสำคัญ 9 ครั้งที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ ระดับรัฐมนตรี และระดับรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งการประชุมอาเซียนมีทุกอาเซียนประเทศเข้าร่วม ซึ่งไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาร์เซ็ปเพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการเจรจาให้ได้ผลสรุป โดยปัจจุบันบรรลุข้อตกลลงไปแล้ว 7 ข้อ จากทั้งสิ้น 13 ข้อ โดยอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) รวมกันถึง 25.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 28% ของจีดีพีโลก มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคนเป็นครึ่งหนึ่งของโลก มีมูลค่าการค้ารวมกัน ถึง 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสัดส่วน 29% ของการค้าโลก และการส่งออกไทยกว่า 60% ส่งออกไปอาร์เซ็ป ขณะที่การค้าระหว่างไทยและอาเซียนปัจจุบันมีมูลค่า 1.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 5.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 4.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดสำคัญของไทย คือ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และการส่งออกไทยไปอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 25%

นายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานอาร์เซ็ป เวิร์คกิ้งกรุ๊ป สภาธุรกิจเอเชียตะวันออก กล่าวว่า ฝ่ายทำงานเอกชนได้พยายามผลักดันและเจรจาเพื่อให้ทุกประเทศในอาร์เซ็ปบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ โดยวางแผนไว้ว่าจะเจราจาได้จบในเดือนพฤศจิกายน 2562 ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน อาทิ เช่น รายการสินค้าต่างๆ ต้องเจรจากันได้ 85%  ของรายการสินค้าทั้งหมด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้ง ความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ที่อาจจะสร้างความกังวลและหลายประเทศกลัวจะเสียประโยชน์ อย่างเอกชนอินเดียที่ยืนการจะไม่เข้าร่วม ซึ่งในส่วนคณะทำงานก็จะต้องพยายามหาแนวทางจูงใจให้เข้าร่วม เพราะอินเดียถือเป็นประเทศสำคัญ มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และอะตราการขยายตัวสูง  ซึ่งมองว่าท้ายที่สุดอาจจะต้องให้ระดับผู้นำตัดสินใจชี้ขาด 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image