สมรภูมิ การเมือง สมรภูมิ”ประชามติ” “เดิมพัน”มหึมา

ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “คสช.” ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ว่าจะมองจากด้านของ “พรรคประชาธิปัตย์”

“ประชามติ” มี “ความหมาย”

“ประชามติ” มี “ความสำคัญ”

อย่าได้แปลกใจ หากว่าไม่เพียงแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้นที่เชิญชวนประชาชนให้ไปลง “ประชามติ” อย่างพร้อมเพรียงกัน

Advertisement

ใช้ “กลไก” ทุกอย่างที่มีมาเป็น “เครื่องมือ”

ไม่ว่าจะเป็นกลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ไม่ว่าจะเป็นกลไกของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.)

หาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ประกาศก้องร้อง “เชิญชวน”

Advertisement

“ขอเรียกร้องคนไทยมุ่งหน้าสู่การใช้สิทธิออกเสียงประชามติให้มาก แสดงให้เมียนมาเห็นว่าประชาธิปไตยของไทยมีจิตวิญญาณไม่น้อยหน้าเช่นกัน

“อย่าได้ทำตัวเป็นอุปสรรคต่อ คสช. และ กกต.”

สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แห่ง คสช. ไม่ว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ แห่ง นปช.มี “เป้าหมาย” อย่างเดียวกัน

นั่นก็คือ “ประชามติ”

ความหมายของ “ประชามติ” คือ การแสดงมติว่าจะให้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน ความเห็นชอบมีความสำคัญเป็นอย่างสูง

1 สำคัญต่อ “สถานะ” ของ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

1 สำคัญต่อ “สถานะ” ของ “คสช.” เพราะว่า คสช.เป็นคนออกคำสั่งให้มีการจัดตั้ง “กรธ.” หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา

“ประชามติ” จึงเท่ากับเป็น “ความเห็น” โดยตรงต่อ “คสช.”

“ประชามติ” จึงเท่ากับเป็นการให้คุณค่า ให้ “ความหมาย” โดยตรงต่อ “คสช.” ว่าความรับผิดชอบในการบริหารบ้านเมืองนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงวันลง “ประชามติ” ในเดือนสิงหาคม 2559 เป็นอย่างไร

หาก “ผ่าน” ก็เท่ากับเป็น “การยอมรับ”

ขณะเดียวกัน หาก “ไม่ผ่าน” ก็เท่ากับเป็นการ “ไม่ยอมรับ” เท่ากับเป็นการแสดงความ “ไม่ไว้วางใจ” เมื่อมองผ่านกระบวนการของการจัดทำ “ร่างรัฐธรรมนูญ”

“ประชามติ” จึงเท่ากับเป็น “เดิมพัน”

ไม่เพียงแต่เป็นเดิมพันให้กับสถานะของ “คสช.” หากยังเป็นเดิมพันว่า “พรรคการเมือง” ให้การยอมรับต่อ “คสช.” หรือไม่

นี่จึงเป็น “มูลค่า” อันเป็นสินทรัพย์ในทาง “การเมือง”

ท่าทีของพรรคการเมืองต่อการทำ “ประชามติ” ไม่ว่าจะมองจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองจากพรรคประชาธิปัตย์

“ร่างรัฐธรรมนูญ” เสมอเป็นเพียงเครื่องมือ เสมอเป็นเพียง “สาร”

แต่เงาสะท้อนอย่างสำคัญและทรงความหมายก็คือ พรรคการเมืองกับ “มวลชน” ของพรรคมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและมั่นคงเพียงใด

กระบวนการ “รัฐประหาร” สามารถบดขยี้และทำลายได้หรือไม่

ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันนี้

“ประชามติ” จึงเป็นสนาม “ทดสอบ” ครั้งสำคัญ

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ จำเป็นต้องกลับไปทบทวนท่าทีและเสนอบทสรุปออกมาให้เด่นชัด

“สื่อสาร” ไปยัง “มวลชน” ของพรรค

คะแนนที่เคยได้รับความไว้วางใจกว่า 15 ล้าน คะแนนที่เคยได้รับความไว้วางใจกว่า 10 ล้าน ยังดำรงคงอยู่และรักษาไว้ได้หรือไม่

“ประชามติ” วันที่ 7 สิงหาคมจะเป็นเครื่อง “ตรวจสอบ”

ความเห็นที่ว่าจะมีการล้ม หรือทำให้กระบวนการ “ประชามติ” ไม่อาจเดินถึงวันที่ 7 สิงหาคมจึงลวงโลก

เพราะในเมื่อ คสช.โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล้วนมีความมั่นใจ เพราะในเมื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อันเป็นเสมือนตัวแทนของฝ่ายการเมือง ล้วนมีความมั่นใจ

แล้วกระบวนการ “ล้ม” ประชามติจะมาจากไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image