สนช.โหวตผ่าน 2 ใน 7 ว่าที่กสม. เห็นชอบแต่สายราชการ สายเอ็นจีโอ-วิชาการ ตกเรียบ


สนช.โหวตผ่านว่าที่ 2 ใน 7 กสม. “สมชาย” หวั่น ผู้สมัครหลายด้านได้เปรียบกว่าผู้สมัครด้านเดียว

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน พร้อมกับลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ด้วยวิธีการประชุมและลงคะแนนลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการลงคะแนนบุคคลที่ถูกเสนอชื่อดังกล่าว มีเพียง 2 คนที่สนช. ลงคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมสนช. ที่มี 240 คน คือต้องได้คะแนน 120 คะแนนขึ้นไป คือ 1.น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้คะแนนเห็นชอบ 146 เสียง, ไม่เห็นชอบ 20 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง, 2.น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้คะแนนเห็นชอบ 152 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง

ขณะที่ผู้ที่ถูกเสนอชื่ออีก 5 คนไม่ได้รับความเห็นชอบ ประกอบด้วย 1.นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ได้คะแนนเห็นชอบ 14 เสียง ไม่เห็นชอบ 141 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง, 2.นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการนโยบายองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ได้คะแนนเห็นชอบ 10 เสียง, ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 21 เสียง, 3.นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้คะแนนเห็นชอบ 13 เสียง, ไม่เห็นชอบ 141 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง

Advertisement

4,นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม ได้คะแนนเห็นชอบ 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 24 เสียง และ นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยฯ ไทยพีบีเอส ได้คะแนนเห็นชอบ 15 เสียง ไม่เห็นชอบ 135 เสียง และงดออกเสียง 26 เสียง

จากนั้นชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหา กรรมการ กสม. ที่เหลืออีก 5 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กสม. กำหนดว่าบุคคลที่ไม่ผ่านความเห็นชอบ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรสมัครเพื่อสรรหาใหม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าในการประชุมวาระดังกล่าว หลังจากที่ สนช. ลงคะแนนแล้ว นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายเพื่อตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสม. ตอนหนึ่งว่า จากเอกสารที่ กมธ.ฯ เสนอต่อที่ประชุมพบว่าได้ให้สิทธิผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกสมัครได้หลายด้าน ซึ่งพบว่าผู้สมัครบางราย ใช้สิทธิสมัครทั้ง 5 ด้าน ขณะที่บางรายใช้สิทธิสมัครเพียงด้านเดียว ดังนั้นอาจทำให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครได้ เช่น กรณีที่ นาย กอ ใช้สิทธิสมัครทั้ง 5 ด้าน สามารถได้รับการพิจารณาถึง 5 ครั้ง แม้ในด้านแรกจะไม่ได้รับเลือก ดังนั้นในกระบวนการสรรหา กสม. ครั้งต่อไป ขอให้คณะกรรมการสรรหากำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการเลือกกรรมการในองค์กรอิสระอื่น เช่น สมัครได้เพียงด้านเดียว หรือ จะกำหนดให้สมัครหลายด้าน แต่ต้องเรียงลำดับเป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้นายสมชาย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกครั้งว่า ในข้อสังเกตของตนไม่ถือว่าจะเป็นเหตุที่บุคคลจะนำไปฟ้องร้องหรือดำเนินการใดๆ เพราะตามกระบวนการสรรหาดังกล่าว เป็นสิทธิที่คณะกรรมการสรรหาสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ แต่ตนต้องการตั้งข้อสังเกตเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการประชุมลับของสนช. ต่อการพิจารณารายงานของผู้ถูกเสนอชื่อนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image