ผู้อยู่เบื้องหลังความปรองดองระหว่างกรีซกับมาซิโดเนีย : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

มาซิโดเนียของกรีซ (เขียว) มาซิโดเนีย (ส้ม)

สาธารณรัฐมาซิโดเนีย หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “อดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาซิโดเนีย” เป็นรัฐอิสระบนคาบสมุทรบอลข่านในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศนี้แยกตัวออกจากประเทศยูโกสลาเวีย เมื่อ พ.ศ.2534 ตั้งแต่ตั้งประเทศขึ้นมาใหม่แล้ว สาธารณรัฐมาซิโดเนียได้เกิดกรณีพิพาทกับประเทศกรีซอย่างยาวนานเกี่ยวกับการใช้ชื่อ “สาธารณรัฐมาซิโดเนีย” เนื่องจากกรีซก็มีแคว้นมาซิโดเนียที่ใหญ่กว่าสาธารณรัฐมาซิโดเนียเสียด้วยซ้ำไป มิหนำซ้ำทางการมาซิโดเนียยังอ้างว่าตนเป็นประเทศของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และใช้ธงประจำพระองค์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นธงชาติอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้กรีซยอมไม่ได้ เนื่องจากชาวสาธารณรัฐมาซิโดเนียส่วนใหญ่เป็นชาวสลาฟที่อพยพมาอยู่ภายหลังที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชผู้เป็นชาวกรีกสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับชาวสลาฟเลยแม้แต่น้อย

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

ดังนั้นทางรัฐบาลกรีซได้ยื่นคำขาดให้สาธารณรัฐมาซิโดเนียเปลี่ยนชื่อประเทศเสียใหม่และห้ามแอบอ้างเอาพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชไปเป็นของตนอีกด้วย หลังจากชาวกรีกจำนวนมากในแคว้นมาซิโดเนียของกรีซออกมาเดินขบวนต่อต้านชื่อของประเทศใหม่นี้โดยอ้างว่าประเทศมาซิโดเนียมีความมุ่งหมายที่จะรวมเอาแคว้นมาซิโดเนียต่อไปและการเดินขบวนใหญ่ครั้งนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีของกรีซต้องลาออกเลยทีเดียว แต่ทางสาธารณรัฐมาซิโดเนียไม่ยินยอม ทำให้กรีซยื่นเรื่องคัดค้านการเป็นสมาชิกภาพของสาธารณรัฐมาซิโดเนียต่อองค์การระหว่างประเทศ อาทิ สหประชาชาติ องค์การนาโต และสหภาพยุโรป ทำให้องค์การสหประชาชาติยอมรับมาซิโดเนียเป็นสมาชิกภายใต้ชื่อว่า “อดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาซิโดเนีย” ส่วนองค์การนาโตและสหภาพยุโรปก็ปฏิเสธที่จะรับมาซิโดเนียเข้าเป็นสมาชิกจนกว่าปัญหากับกรีซจะได้รับการแก้ไขให้กระจ่างเสียก่อน พูดง่ายๆ คือต้องยอมเปลี่ยนชื่อและเลิกอ้างอิงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในมาซิโดเนียด้วย

การเป็นสมาชิกขององค์การนาโตเป็นความปรารถนาที่สุดยอดของบรรดาประเทศเล็กๆ ในโลกนี้เลยทีเดียว เนื่องจากสมาชิกองค์การนาโตมีถึง 29 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ ที่มีข้อผูกพันว่าหากประเทศสมาชิกใดถูกรุกรานจากประเทศอื่น ประเทศพันธมิตรทั้ง 29 ประเทศจะเข้าสู่สถานะสงครามกับประเทศที่รุกรานโดยอัตโนมัติ อย่างนี้เรื่องความมั่นคงของประเทศก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป อนึ่งการเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปก็จะทำให้เครดิตเรตติ้งของประเทศเล็กๆ ที่ยากจนดีขึ้น มีโอกาสกู้เงินได้คล่องขึ้นและดอกเบี้ยถูกอีกด้วย ดังนั้นมาซิโดเนียจึงต้องการที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโตและสหภาพยุโรปมากที่สุด แต่ด้วยความถือศักดิ์ศรีเกินไปจึงเป็นเรื่องรั้งรอไม่ยอมกันเป็นเวลาถึง 27 ปี

จนกระทั่งในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2561 รัฐบาลมาซิโดเนียและรัฐบาลกรีซได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อยุติข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “มาซิโดเนียเหนือ” นอกจากนี้ทางมาซิโดเนียยังเปลี่ยนชื่อสนามบินและถนนสายเหนือจรดใต้ที่ชื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชไปใช้ชื่ออื่น มิหนำซ้ำยังย้ายอนุสาวรีย์พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชออกจากหน้าสนามบินอีกด้วย แบบว่ามาซิโดเนียยอมทุกอย่างเพื่อที่จะได้เป็นสมาชิกองค์การนาโตและสหภาพยุโรป

Advertisement

ครับ ! ศักดิ์ศรีมันกินไม่ได้จริงๆ ความจริงความสำเร็จในการปรองดองของทั้ง 2 ประเทศนี้แม้ว่าจะยังไม่เต็ม 100% เลยก็ตาม มีส่วนสำคัญจากชายชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อนายแมทธิว นิมิตซ์ อายุ 79 ปี ที่พยายามทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้ทั้งกรีซและมาซิโดเนียปรองดองกัน ที่เขาเสียเวลาทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่างเป็นทางการอยู่ถึง 27 ปีทีเดียว

แมทธิว นิมิตซ์

นายแมทธิว นิมิตซ์ เรียนจบกฎหมายจากฮาร์วาร์ด ได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับการต่างประเทศตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ คือได้รับมอบหมายให้ทำงานเกี่ยวข้องกับประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรีซกับตุรกี จนกระทั่งหมดสมัยของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ เขาจึงกลับมาทำอาชีพทนายความ 19 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีบิล คลินตัน ให้เป็นทูตพิเศษไกล่เกลี่ยปัญหาเรื่องชื่อระหว่างกรีซกับมาซิโดเนียในช่วง พ.ศ.2537-2538 ซึ่งเขาสามารถให้กรีซและมาซิโดเนียตกลงใช้ชื่อ “อดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาซิโดเนีย” เพื่อที่ให้องค์การสหประชาชาติสามารถรับมาซิโดเนียเข้าเป็นสมาชิกได้โดยที่กรีซไม่คัดค้าน

ครั้นมาซิโดเนียได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแล้ว มาซิโดเนียก็ประกาศใช้ชื่อสาธารณรัฐมาซิโดเนียแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงการท้วงติงจากกรีซ มิหนำซ้ำยังลามปามขยายไปถึงประวัติศาสตร์โดยเอาธงของอเล็กซานเดอร์มหาราชมาเป็นธงชาติและสร้างอนุสาวรีย์อเล็กซานเดอร์มหาราชและพระเจ้าฟิลลิปพระบิดาของอเล็กซานเดอร์ไว้ตามที่ต่างๆ ในอาณาเขตของมาซิโดเนียอีกด้วย

Advertisement

ดังนั้นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติจึงทาบทามให้นายแมทธิว นิมิตซ์เป็นทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติเพื่อเจรจากับทั้งกรีซและมาซิโดเนียในฐานะคนกลางเพื่อแก้ปัญหาเรื่องชื่อประเทศให้ปรองดองกันเมื่อ พ.ศ.2542 โดยนายแมทธิว นิมิตซ์ขอรับเงินตอบแทนปีละ 1 ดอลลาร์สหรัฐตามธรรมเนียมเท่านั้น

นายแมทธิว นิมิตซ์เชื่อว่าในที่สุดทั้ง 2 ประเทศนี้จะต้องตกลงกันได้แต่ไม่คาดคิดว่าจะนานถึงขนาดนี้

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image