เตรียมสอบ ‘อังกฤษ’ ให้ปัง! แบบฉบับ ‘ครูพี่แนน’

ครูพี่แนน

เตรียมสอบ ‘อังกฤษ’ ให้ปัง! แบบฉบับ ‘ครูพี่แนน’

ครูพี่แนนหากเปรียบเปรยการสอบเข้าสถาบันการศึกษาสักแห่งในปัจจุบัน ว่า “สนามสอบ” นั้น ใกล้เคียงกับ “สนามรบ” ก็คงไม่ผิดมากนัก

เพราะนอกจากจะต้องวางแผนการสมัครสอบ เลือกสถานศึกษาที่ต้องการ ยื่นเอกสารสำคัญ ตลอดจนประเมินสถานการณ์ว่าคะแนนโดยรวมจะสามารถผ่านด่านเข้าไปเป็นตัวจริงได้หรือไม่

ก็ทำเอาเด็กนักเรียน “ปวดหัว” กันไม่น้อย

แต่กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “การเริ่มต้นที่ดี ก็เหมือนมีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง” การเก็บคะแนนตามพาร์ตต่างๆ ที่จะใช้ประกอบการสมัครเข้าเรียนจึงเป็น “เรื่องสำคัญ”

Advertisement

เช่นเดียวกับ การทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT : General Aptitude Test) ประจำปี 2562 ที่มีกำหนดการสอบในวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์นี้

โดยการทดสอบประกอบด้วย 2 พาร์ต ได้แก่ ความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้โจทย์ปัญหา และความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

เพื่อทดสอบว่านักเรียนคนหนึ่ง “มีความพร้อมในการจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย” มากน้อยแค่ไหน

Advertisement

และในพาร์ตของ “การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ” ก็สร้างความกังวลใจให้กับนักเรียนไทยไม่น้อย

อริสรา ธนาปกิจ หรือ “ครูพี่แนน”

ติวเตอร์ระดับกูรู อย่าง อริสรา ธนาปกิจ หรือ “ครูพี่แนน” ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ อี แอคเคเดมี่ (Enconcept E-Academy) จึงมีเคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ GAT มาฝากน้องๆ

เริ่มจาก “ทำความรู้จักข้อสอบ และจุดอ่อน-จุดแข็งของตัวเอง” โดยเฉพาะ “คำศัพท์” ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆ พาร์ตของข้อสอบ โดยปกติระดับ ม.ปลาย ควรจะรู้คำศัพท์ประมาณ 8,000 คำ และก่อนสอบควรทบทวนคำศัพท์ที่สามารถนำไปต่อยอดการทำโจทย์ประเภท “Reading Passage” และโจทย์ประเภทอื่นๆ ซึ่งมีหลายเทคนิคด้วยกัน อาทิ เชื่อมโยงกับประสบการณ์หรือภาษาเดิมของตัวเอง หรือใช้เพลง-กลอน แบบเข้าจังหวะ เพื่อช่วยสมองในการจดจำคำศัพท์ในปริมาณมากและติดเป็นความทรงจำระยะยาว

นอกจากนี้ “ไวยากรณ์” (Grammar) ก็มีสัดส่วนเยอะในข้อสอบทุกประเภท ทั้ง GAT, O-NET หรือ 9 วิชาสามัญ ซึ่งในพาร์ตของแกรมมาร์จะมีอยู่ประมาณ 5 หัวข้อที่ออกซ้ำอยู่เสมอ คือ 1.Finite และ Non-finite Verb 2.โครงสร้างประโยคแบบ Passive Voice 3.ความสอดคล้องของประธาน กริยา (Subject-Verb Agreement) 4.หลักการใช้ Verb อาทิ Present Participle (V-ing) และ Past Participle (V-ed กริยาช่องที่ 3) และ 5.คำเชื่อม (Conjunction)

การเข้าใจในส่วนนี้จะช่วยให้ทำ Cloze Test (การเลือกคำตอบที่ถูกต้องมาเติมในช่องว่าง) และหาจุดผิด ในข้อสอบ Error ได้ดีขึ้น

และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “บทสนทนา” (Conversation) ในจุดนี้แนะนำให้ดูซีรีส์ ดูหนังฟังเพลง ด้วยเสียงซาวน์แทรก จะฝึกฝนให้มีสัญชาตญาณในการตอบโต้ดีขึ้น

แต่ในช่วงระยะเวลาอันสั้น สำหรับหลายคนที่เริ่มเตรียมตัวช้า ให้เรียนรู้เรื่อง กริยาวลี (Phrasal Verbs) รวมไปถึงสำนวน (Idioms) ที่ใช้บ่อยๆ จะช่วยได้มาก!

ครูพี่แนน ยังเผยอีกว่า “ความพลาดอย่างหนึ่งของการเตรียมตัวสอบ คือ รอให้อ่านเนื้อหาจบก่อน แล้วจึงเริ่มทำข้อสอบ”

ในส่วนนี้ติวเตอร์ชื่อดังแนะนำว่าให้ทำควบคู่กันไป ทั้งการอ่านเนื้อหาและฝึกทำข้อสอบจากโจทย์จริง เพื่อเป็นการเช็กความเข้าใจของตัวเองไปด้วย โดยระหว่างที่ฝึกทำข้อสอบให้จับเวลาเสมือนจริงที่ใช้ในการสอบ เช่น ในการสอบ 9 วิชาสามัญ จะมีเวลาข้อละ 1 นาที 3 วินาที หากทำได้ตามเกณฑ์นี้ ก็สามารถประเมินได้ว่าในการสอบ GAT สามารถทำทันได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมเผื่อ 5 นาทีสุดท้ายไว้สำหรับตรวจทานข้อสอบใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง

ทั้งนี้ ต้องฝึกทำซ้ำๆ บ่อยๆ จนกว่าจะถูก 100% แล้วจึงค่อยผ่านโจทย์หัวข้อนั้น

ครูพี่แนนทิ้งท้ายว่า เคล็ดลับและหัวใจสำคัญของการเตรียมตัวสอบ คือ “ใจ” เพราะเด็กนักเรียนหลายคนทั้งกลัวและเครียดกับการสอบที่ใกล้เข้ามา จงเปลี่ยนความกลัวเหล่านี้ให้กลายเป็นการลงมือทำ เพราะทุกครั้งที่ลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ ฝึกทำโจทย์ จะช่วยลดความเครียดและความกลัวลงได้

แต่กระนั้น “ความกล้า” ไม่ได้แปลว่าไม่กลัวเลย แต่ความกล้าคือการลงมือทำ ทั้งที่ยังกลัว พอทำไปสักพักจะค้นพบถึงวิธีจัดการตัวเองได้ดีขึ้น

“ยิ่งฝึกฝน ยิ่งมั่นใจ”

และการกำหนดเป้าหมายก็สำคัญ อย่าคิดว่าถ้าสอบไม่ติดเท่ากับทุกอย่างจบสิ้นแล้ว ต้องเน้นในการสร้างเหตุ อาทิ อ่านหนังสือและทำเต็มที่แล้วหรือยัง หากทำให้ถึงที่สุดแล้วจะไม่มีคำว่าเสียดาย นอกจากนี้ เมื่อเน้นสร้างเหตุแล้วก็ปล่อยวางผล ผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร ถือว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว!

เคล็ด (ไม่) ลับ พิชิตข้อสอบ


ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image