ข้ามผ่านกาลเวลา ‘จาม-เวียด’ ไปดูของดีที่ เว้-ฮอยอัน

“เวียดนาม” หนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน กำลังเนื้อหอมในปัจจุบัน ไม่ว่าเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีการปรับตัวและปรับทิศทางการส่งออกของตนไปสู่ตลาดอาเซียน ทั้งเรื่องของการลงทุนจากนอกประเทศและการท่องเที่ยว บอกได้ว่าจากสภาพที่ประจักษ์ด้วยสายตา เวียดนามไม่ได้ทำเล่นๆ แต่ได้ตระเตรียมแผนงานอย่างจริงจังและตั้งความหวังไว้เต็มที่ ซึ่งหากมองย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของเวียดนามที่ผ่านมา บทเรียนในอดีตหล่อหลอมให้คนเวียดนามเป็นนักสู้ และเอาจริงเอาจังกับการทำงานต่างๆ

ก่อนการกำเนิดเป็นประเทศเช่นในปัจจุบัน เวียดนามมีชนเผ่าต่างๆ ถึง 15 ชนเผ่า แต่ละชนเผ่ามีที่ทำกินเฉพาะของตนเอง ส่วนใหญ่ทำนาในพื้นที่มีน้ำเจิ่ง ไม่ได้สะดวกสบายและยังมีสงครามระหว่างชนเผ่าเป็นระยะ กระทั่ง 258 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงสามารถตั้งเป็นอาณาจักรได้ โดยกษัตริย์ถุกฟ้าน (Thuc Phan) ของเต็ยเอิว ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธ์ไต่ (Tay) หนุ่ง (Nung) และจ้วง (Choang) ที่อาศัยอยู่บริเวณเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้ในเวลานี้

ต่อมาเวียดนามยังต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศจีน โดยจีนส่งขุนนางเข้ามาปกครอง และนำแนวคิดเข้ามาเผยแพร่ แต่เมื่อปลดแอกจากจีนได้สำเร็จ และสถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครอง มีกษัตริย์ของตนเองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ราชวงศ์แรกของเวียดนาม คือ ราชวงศ์ลี้ (Ly) มีเมืองหลวงอยู่ที่ “ทังลอง” หรือเมืองฮานอยในปัจจุบัน

ช่วงที่ตะวันตกเริ่มออกล่าอาณานิคม กองทัพฝรั่งเศสเข้าโจมตีเวียดนามที่เมืองดานังเป็นที่แรก จากนั้นรุกคืบไปเรื่อยจนยึดเมืองเว้ได้อีก เท่านั้นยังไม่พอ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939-1945) ญี่ปุ่นได้แผ่ขยายอิทธิพลในเวียดนามอีก กดขี่ชาวเวียดนามเพิ่มมากขึ้น เเต่หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสพยายามจะกลับมาปกครองเวียดนามอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ชาวเวียดนามร่วมกันต่อสู้แบบกองโจร ก่อตั้งกองทัพปลดปล่อย ตั้งคณะกรรมการเพื่อปลดปล่อยแห่งชาติ โดยมี “โฮจิมินห์” เป็นผู้นำ สามารถยึดเมืองต่างๆ ได้ จากนั้นยื่นข้อเสนอให้ จักรพรรดิเบ๋า ด่าย (Bao Dai) ซึ่งเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดของญี่ปุ่น สละราชสมบัติ ในวันที่ 23 สิงหาคม 1945 ล้มเลิกระบอบกษัตริย์ในเวียดนาม

Advertisement

โฮจิมินห์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน 1945 ณ จัตุรัสบ่าดิ่ญ กระนั้นการสู้รบของคนเวียดนามก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อเกิดสงครามตัวแทนเวียดนามเหนือกับสหรัฐ หลังเวียดนามใต้ล้มประชามติการรวมชาติเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นสงครามที่เจ็บปวดและทุกข์ทรมานที่สุดของคนทั้ง 2 ชาติ

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้ประชากรเวียดนามกลายเป็นผู้มีน้ำอดน้ำทน ขยันขันแข็งและเป็นนักสู้ ล่าสุดที่ปรากฏสู่สาธารณะว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เลือกเวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด นัดที่ 2 กับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2562 ยิ่งทำให้มุมมองของเวียดนามเด่นชัดในสายตาชาวโลก การประชุมนัดนี้นับเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติให้หลั่งไหลเข้าไปในเวียดนามมากยิ่งขึ้น ภาพเวียดนามในเวลานี้จึงเป็น “บ่อทอง” ที่ใครต่อใครต่างจ้องเข้าไปขุด โดยเฉพาะจีดีพีปีนี้ที่เติบโตถึง 7.4% สูงสุดในรอบ 10 ปี

อย่างไรก็ตามอีกมุมของเวียดนาม ต้องบอกว่าเป็นประเทศที่มี “ประวัติศาสตร์” น่าศึกษาไม่น้อย หากหมุนย้อนผ่านกาลเวลากลับไปยัง 2 เมืองที่เกี่ยวพันกับความเป็นเวียดนามในปัจจุบัน คือ “เมืองเว้” และ “ฮอยอัน” ในเวียดนามกลาง

Advertisement
พระราชวังเว้ด้านหน้า บริเวณขั้น 2 คือจุดที่กษัตริย์เบ๋า ด่าย ประกาศสละราชสมบัติ
พระราชินีและบรรดาสนมจองจักรพรรดิเบ๋า ด่าย
ศิวนาฏราช

“เว้” เมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ เมื่อหลายร้อยปีก่อนเคยอยู่ในความปกครองของขุนนางเหวียนฮวาง (Nguyen Hoang) ราชวงศ์เล แต่ปกครองได้ไม่นานก็เกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนขึ้น เหวียน ฮวาง หรือ “องเชียงสือ” ได้ปราบกบฏลงและรวบรวมดินแดนทางตอนเหนือและใต้เข้าด้วยกัน พร้อมกับสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “จักรพรรดิยาลอง” แห่งราชวงศ์เหวียน มีเมืองหลวงอยู่ที่เว้ แต่หลังปกครองได้เพียง 33 ปี ฝรั่งเศสก็บุกเข้าโจมตี เกิดสงครามหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งจักรพรรดิเบ๋า ด่าย สละราชสมบัติ เมืองเว้จึงเป็นจุดต้นเริ่มต้นของราชวงค์เหวียน และเป็นราชธานีสุดท้ายของราชวงศ์เหวียนเช่นกัน

ปัจจุบัน “เว้” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอม ไม่ไกลจากทะเลจีนใต้ ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ประมาณ 540 กม. พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้สำคัญที่สุดของเวียดนาม แม้ว่าเมืองเว้จะได้รับความเสียหายจากภัยสงคราม แต่ก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองของนครจักรพรรดิอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่พระราชวัง สุสานจักรพรรดิ โบราณสถานอันทรงคุณค่า และวัฒนธรรมที่มีแบบฉบับเป็นของตนเอง ดังนั้น เว้ จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็น “เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม” ใน พ.ศ.2536

ทางเดินในพระราชวังโอ่อ่าอลังการ

ที่เว้มีของดีสถานที่สำคัญ ยิ่งใหญ่อลังการ คือ “พระราชวังเมืองเว้” หรือ “พระราชวังด่าย นอย” (Dai Noi ) สร้างโดยปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เหวียน มีพื้นที่ถึง 52 ตารางกิโลเมตร วังแห่งนี้ยึดแบบอย่างและคติความเชื่อจาก “พระราชวังกู้กง” หรือ “พระราชวังต้องห้าม” ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทุกประการ ดังนั้น พระราชวังด่าย นอย จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “พระราชวังต้องห้าม” แห่งเวียดนาม

ตำหนักสำคัญที่สุด คือ “ตำหนักไทฮวา” (Thai Hoa) เพราะเป็นตำหนักสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์เหวียน และยังเป็นท้องพระโรงขนาดใหญ่ ใช้ออกว่าราชการ ซึ่งในสมัยนั้นการเข้าเฝ้าจะเป็นเวลากลางคืนเท่านั้น คือช่วงตี 2-ตี 4 คำว่า “ไทฮวา” มาจากคำว่า “ไทเหอ” ภาษาจีนกลางแปลว่า “การรวมเป็นหนึ่ง” ชื่อนี้ยังเป็นชื่อตำหนักสำคัญที่สุดในพระราชวังต้องห้ามของกรุงปักกิ่งด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับอิทธิพลจากพระราชวังต้องห้ามของจีน แต่งานสถาปัตยกรรมรวมถึงรูปทรงอาคารบางอย่าง ไม่พบมาก่อนในปักกิ่ง แต่พบในจีนตอนใต้ ที่สังเกตได้ชัด คือ การใช้กระเบื้องตัดมาประดับเป็นรูปต่างๆ บนหลังคา รวมถึงลักษณะหลังคาที่โค้งงอนอย่างมาก เหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับการอพยพของคนจีนที่มาจากมณฑลฝูเจี้ยนและกว่างตงก็เป็นได้

บันไดขึ้นไปสุสานจักรพรรดิไคดิงห์
ทางเข้าสุสานพระเจ้ามิน หมาง

นอกจากนี้ยังมี “สุสานจักรพรรดิไคดิงห์” ที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกและตะวันตก หรืออาจมองได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมสุดแปลก ที่ผสมผสานกันอย่างสุดขั้วระหว่างจีนและยุโรป ตอนแรกจักรพรรดิไคดิงห์ทรงสร้างเพื่อใช้เป็นสุสานของพระองค์เอง แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อน จักรพรรดิเบ๋า ด่าย พระราชโอรสจึงสร้างต่อจนเสร็จ ใช้เวลานานถึง 11 ปี ทางเดินขึ้นสุสานเป็นบันไดมังกรอันโอ่อ่าต่อไปยังลานชั้นสอง ที่เรียงรายด้วยรูปปั้นหินของช้าง ม้า ข้าราชการทหารและพลเรือน

กลางลานมีแผ่นจารึกเขียนด้วยอักษรจีน นิพนธ์โดยพระเจ้าเบ๋า ด่าย เพื่อรำลึกถึงพระบิดาของพระองค์ ส่วนด้านบนสุดเป็นพระราชวังเทียนดิงห์ ภายในมีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยกระเบื้องสี และจิตรกรรมฝาผนังภาพมังกรในม่านเมฆขนาดใหญ่ ที่ศิลปินใช้เท้าคีบพู่กันวาด ด้านหน้าชั้นบนสุดของสุสานมีรูปปั้นสำริดขนาดเท่าองค์จริงของพระเจ้าไคดิงห์ สร้างจากฝรั่งเศส แค่ 2 แห่งนี้ในเมืองเว้เท่าที่ได้ไปเห็นก็ถือว่าเป็นสุดยอดของการเดินทางแล้ว

จากเว้ในระยะทางไม่ไกลกันนัก เป็นที่ตั้งของเมือง “ฮอยอัน” ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดก๋วงนัม ตอนกลางของประเทศเวียดนามเช่นกัน มีแม่น้ำ “ทูโบน” (Thu Bon) ไหลผ่านและเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เชื่อมต่อเมืองอื่นๆ ทางตอนในเข้าไป “ฮอยอัน” มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เวียดนาม ในฐานะเป็นเมืองท่าตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 และด้วยความเป็นเมืองท่าจึงทำให้ฮอยอันคลาคล่ำด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวจีน ญี่ปุ่นและยุโรป ผู้คนเหล่านี้เข้ามาตั้งหลักปักฐาน ตั้งห้างร้านเพื่อทำการค้า

ชนชาติแรกที่เข้ามาค้าขายแถบนี้ คือ จีน แต่เป็นเพียงนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกับคนพื้นถิ่น เมื่อเสร็จแล้วก็เดินทางกลับ จนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 ปรากฏหลักฐานว่าชาวจีนและญี่ปุ่นนอกจากเข้ามาค้าขายแล้ว ยังตั้งหลักแหล่งในเมืองฮอยอันด้วย ทั้ง 2 กลุ่มตั้งชุมชนแบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจนโดยมีคลองคั่น แต่มีสะพานเชื่อม เรียก “สะพานญี่ปุ่น”

สะพานญี่ปุ่นตอนกลางคืน
โคม สัญลักษณ์ฮอยอัน

ในตัวเมืองฮอยอัน ได้รับการบูรณะและทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวในบรรยากาศสบายๆ ร้านรวงจัดอย่างมีสไตล์สวยงาม ทั้งร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก ไปจนถึงผับ ด้วยความที่เป็นแหล่งคนจีนอยู่อาศัยมาแต่เดิม ชุมชนย่านนี้จึงมีวัฒนธรรมของจีนปรากฏให้เห็น เช่น ศาลเจ้าเฝือกเกี๋ยน สร้างขึ้นโดยชาวจีนฝูเจี้ยน เพื่อประดิษฐาน “เจ้าแม่เทียนโหว” หรือ มาจู่ (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เทพเจ้าของชาวเดินเรือ

ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวฝูเจี้ยน ดังนั้น จึงมีเอกลักษณ์บางอย่างเป็นของท้องถิ่นดั้งเดิมด้วย อาทิ ปลายสันหลังคาอาคารศาลเจ้าแต่ละด้านที่แยกออกเหมือนหางนกนางแอ่น ลักษณะนี้ปรากฏในภาคใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน นอกจากนี้มีการตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็กๆ และประดับเป็นลวดลายต่างๆ เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกแห่งหนึ่ง “หอบรรพชนมิงเฮือง” สร้างขึ้นโดยลูกหลานชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในเมืองฮอยอัน เป็นที่สำหรับกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาในช่วงแรกๆ และก่อตั้งหมู่บ้านมิงเฮืองในฮอยอัน ในอดีตศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ทำการของหมู่บ้านด้วย

ที่นี่ยังมีกลุ่มศาสนสถาน “ปราสาทหมี่เซิน” หรือ “หุบเขาศักดิ์สิทธิ์หมี่เซิน” เป็นศาสนสถานที่ใหญ่โตมโหฬารมากทีเดียว ใครไปเห็นต้องตะลึงในความงาม ความแปลกตาไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งทั้งหมดนั้นแสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตของเวียดนาม

“หมี่เซิน-My Son” จัดเป็นโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมแบบฮินดูที่สมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดในอินโดจีน ที่แห่งนี้ในอดีตเคยเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรจาม หรือจามปา คำว่า “My Son-หมี่เซิน” มีความหมายว่า “ภูเขาอันสวยงาม” ถ้าพูดถึงการสร้างแล้วเป็นหลายยุคหลายสมัย แต่หากจากศิลาจารึกพบว่าสรางขึ้นครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ 10-11 สมัยพระเจ้าภัทรวรมัน ดูๆ ไปแล้วปราสาทแต่ละกลุ่มมีองค์ประกอบคล้ายกัน คืออาคารภายในกำแพงประกอบด้วยโคปุระ ปราสาทประธาน อาคารเก็บจารึก และอาคารประกอบพิธีกรรม แต่ยังมีความอัศจรรย์ในการก่อสร้างแบบโบราณและรูปแบบของศิลปะ

ศาสนสถานแห่งนี้ ใช้ประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้บันดาลพรและคุ้มครองราชวงศ์จาม รวมถึงเป็นสถานที่ฝังพระศพของกษัตริย์ ในยุครุ่งเรืองของอาณาจักรจาม ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของฮานอย ไปถึงเวียดนามใต้ และจรดภาคตะวันออกของกัมพูชา ราชวงศ์ที่ครองราชย์มีด้วยกัน 14 ราชวงศ์ 78 พระองค์ ก่อนจะล่มสลายช่วงศตวรรษที่ 15

ที่บรรยายมาทั้งหมด พอจะเห็นภาพความสำคัญคร่าวๆ ในเมืองเว้และฮอยอันกันบ้าง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สู้เดินทางไปดูของจริงด้วยตัวเอง ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรียกว่าเป็นความอิ่มเอมที่เกินจะบรรยาย

หากอยากจะเดินทางไปชมลองติดต่อสอบถาม “มติชนอคาเดมี” เดือนมีนาคม 2562 มีรายการทัวร์แบ่งปันความรู้ “ข้ามผ่านการเวลา จาม-เวียด ท่องฮอยอัน-เว้-ดานัง” โทร 08-2993-9097 และ 08-2993-9105 หรือดูที่ Line:@matichonacademy

สีสันเมืองฮอยอันยามพลบค่ำ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image