การสร้างคน-การสร้างชาติ! : โดย ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล

หลักการใน “การพัฒนามนุษย์” หรือคนนั้น ต้องเริ่มต้นด้วย “การศึกษา” ซึ่งแน่นอนต้องเริ่มด้วยขั้นพื้นฐานด้วย “การสร้างความรู้-ความเข้าใจ” ในการเป็นคนดีที่อยู่ในสังคมโดยเฉพาะภายในบ้านและชุมชนใกล้ตัว โดยอาจเรียกว่าเป็นการสร้าง “ต้นทุนขั้นพื้นฐาน (ELEMENTARY CAPITAL)” ทั้งนี้ คำว่า “ต้นทุน (CAPITAL)” มิได้เกี่ยวข้องกรณีเงินทุนใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นกรณีของ “ทุนที่อาจเกี่ยวข้องกับทุกกรณี” ดังนั้น “ทุน” หรือ “CAPITAL” ซึ่งมีนัยยะแปลว่า “ต้นทุน” จึงมีความสำคัญในการสร้างพื้นฐานแม้กระทั่ง “ทุนมนุษย์” (HUMAN CAPITAL)” ที่ต้องไต่ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงระดับผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ไฮสกูลหรือมัธยมศึกษา หรือระดับเทคนิค จนถึงระดับปริญญาตรี หรือแม้กระทั่งปริญญาเอก

เพราะฉะนั้น “ทรัพยากรมนุษย์” จึงเกี่ยวข้องและสำคัญมากที่ “ทรัพยากรมนุษย์” เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงอย่างหลีกหนีไม่พ้นกับการสร้าง “ทุนมนุษย์ หรือ HUMAN CAPITAL” ที่ต้องค่อยๆ ทั้งสะสมและสั่งสมจากสถาบันบ้าน สถาบันชุมชน และสังคมกับสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่ ทั้งนี้ “สภาพแวดล้อม” จะเป็น “ปัจจัย (FACTOR)” สำคัญในการมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดี ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของ “ภาคประชาสังคม” โดยเฉพาะ “ภาคประชาสังคม” โดยเฉพาะ “ภาคสื่อมวลชน” ที่จะมีบทบาทสำคัญ

การสร้างมนุษย์ที่ดีนั้นต้องค่อยๆ สร้างจากหลักการพื้นฐานด้วยการให้สร้าง “ต้นทุน” กับการสร้าง “ความอบอุ่น-ความรัก” และตามด้วย “ความมีระเบียบวินัย” พร้อมทั้ง “ความมีอุปนิสัยใจคอโอบอ้อมอารีให้อภัย” โดยเฉพาะ “บุพการี” หรือ “พ่อแม่-ผู้ปกครอง” จำต้องมีเวลาที่ต้องอบรมบ่มสั่งสอนลูกบ้างอย่างน้อย 20-30 นาทีต่อวัน ด้วยการนั่งสนทนาเป็นตัวอย่างที่ดี เพียงแต่ว่า “สังคมปัจจุบันที่มีแต่การแก่งแย่ง” และ “ตัวใครตัวมัน” จน “เด็กและเยาวชนต้องพึ่งเพื่อนฝูงและสังคมนอกบ้านในการเป็นเพื่อน” และ “ถ้าได้เพื่อนดีก็ดีไป แต่เพื่อนส่วนใหญ่มักมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน” ซึ่ง “นั่นละคือปัญหา!”

เพราะฉะนั้นการที่สร้าง “ทรัพยากรมนุษย์ : คน” นั้น สมควรจะมี “หลักการ 3 ไฮ (3 HIGH)” หลังจากที่มีพื้นฐานที่ดีมาก่อนแล้ว โดยในต่างประเทศนั้นจะใช้หลักการนี้ในการให้เด็กและเยาวชนไต่ระดับสู่ “ความมีวัฒนธรรม” ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ จะได้เป็นการเตรียมการของโรงเรียน หรือหลักสูตร หรือไม่อาจทราบได้ แต่เท่าที่สังคายนาดูนั้นน่าจะมี “หลักการ 1 ELEMENTARY AND 3 HIGH” เช่นนี้จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
หลักการ มีดังต่อไปนี้ แต่โดยเบื้องต้นนั้น ชั้นอนุบาลนั้นจะมีเฉพาะขั้นการศึกษา (EDUCATION) เบื้องต้นที่เรียกว่า “ELEMENTARY EDUCATION” ที่มุ่งเน้นให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ ตลอดจนบวกลบคูณหารได้เท่านั้น ตลอดจนรู้จัก “ระบบคุณธรรม-จริยธรรม-ศีลธรรม” หรือ “บาปบุญคุณโทษ” และ “ผิดชอบชั่วดี” กับ “การมีระเบียบวินัย” และ “น้ำใจนักกีฬา”

Advertisement

เพียงเด็กอายุประมาณ 3 หรือ 4 ขวบ ในชั้นอนุบาลจนถึงอายุ 6-7 ปี ที่มีครบหลักการข้างต้น ก็นับว่าน่าจะเป็นเด็กที่มีพื้นฐานที่ดีมากพอแล้ว และเป็น “คนดีศรีสังคม” ได้ แต่ก็คงจะไม่สามารถเรียกได้ว่าครบร้อยละ 100 ได้ เพียงแค่ร้อยละ 80-85 ก็นับว่า “ยอดเยี่ยมแล้ว” ต่อสังคมนั้นๆ

นั่นเป็นกรณีของ “ขั้นพื้นฐานของระบบการศึกษา” แต่พอสู่ระบบที่สูงขึ้น (HIGH) นั้น เราจะเริ่มต้นด้วยการนำสู่การศึกษาที่พัฒนาสู่ “การศึกษาที่สูงขึ้น” หรือ “HIGH EDUCATION” ที่พัฒนาสู่แนวคิดด้านการศึกษาที่มุ่งสู่การพัฒนาของโลกที่กำลังเดินหน้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ที่โลกเชื่อมโยงแบบไร้พรมแดนในเชิงนวัตกรรมแบบโซเชียลมีเดีย และการวิจัยกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือกล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงสู่ “โลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เรียบร้อยแล้ว ที่แม้กระทั่งเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องเข้าใจแล้ว

ตลอดจน “ความสัมพันธ์ระหว่างประทศ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาบาฮาซา (หรือภาษามาเลเซีย ภาษาอินโดนีเซีย ที่เป็นภาษาของชาวมุสลิม) ตลอดจนสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป” นอกเหนือจากนั้น เศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ต้องเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ส่งผลกระทบต่อกัน พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับการเมืองกับด้านสังคมที่เป็น “อุตสาหกรรมการส่งออก-การบริโภค-การผลิต” และแน่นอน “ตลาดหุ้น ตลาดทุน” และท้ายสุด “ราคาน้ำมัน” ซึ่งปัจจัยเหล่านี้นับเป็น “การศึกษาระดับสูง (HIGH EDUCATION)” ที่จะกลายเป็นกรณีศึกษาขั้นพื้นฐานไปแล้ว และขอย้ำกรณี “นวัตกรรม-การสร้างสรรค์ (CREATIVITY)”

Advertisement

เมื่อคนเรามีการศึกษาที่สูงขึ้นก็จะมี “ระดับภูมิปัญญาที่สูงขึ้น” หรือ “HIGH MENTALITY” ที่จะสร้างหรือก่อให้เกิดปัญญาในการต่อยอดทางความคิดในเชิงความคิดที่อาจก่อให้เกิด “ความแตกฉาน” หรือ “นวัตกรรม” ที่ “แตกแขนงสู่แนวคิดใหม่” ที่อาจนำไปสู่ภูมิปัญญาใหม่หรือเกิด “ทฤษฎีใหม่” ก็อาจเป็นไป ดังนั้น การเกิดภูมิปัญญาที่สูงขึ้นที่ค่อยๆ ฟูมฟักจากการเกิดจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้นและไต่ระดับสู่ภูมิปัญญาที่สูงขึ้น หรือระดับการศึกษาที่สูงขึ้น หรือถ้าจะเปรียบเทียบอาจแปลนัยยะสู่ระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกก็เป็นได้ ทั้งนี้ มนุษย์เราอาจไม่จำเป็นต้องเข้าหลักสูตรเช่นนั้นก็ได้ เพียงแต่ “คิดต่อยอดในเชิงสมาธิ” หรือ “ใช้หลักธรรมะเพื่อสร้างหรือก่อภูมิปัญญา” ก็เป็นได้ เพื่อสร้าง “ภูมิปัญญาให้สูงขึ้น”

การสร้างภูมิปัญญานั้นมีหลายระดับทั้งระดับล่างสู่ระดับสูงที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานอยู่ที่ระดับปัญญาของแต่ละคนที่ถูกสร้างมาจากพื้นฐานที่ต่างกัน พร้อมทั้งระดับการเรียนรู้ที่บางคนเรียนรู้เร็วเรียนรู้ช้าเพราะฉะนั้น “ภูมิปัญญา” ของแต่ละคนกว่าจะเท่าเทียมกันต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควรที่จะอยู่ใน “ระดับมาตรฐานเดียวกัน!” เนื่องด้วย “ความเรียนรู้” และ “มันสมอง” ของมนุษย์นั้นแตกต่างกัน

พอ “ระดับภูมิปัญญาที่สูง” ที่ขอย้ำว่าต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะทั้งสะสมและสั่งสม บางคนอาจใช้ระยะเวลายาวนานถึง 10 กว่าปี ถึงจะมี “ปัญญาที่นิ่ง” มากจนไม่สามารถสะทกสะท้านหรือ “ยินดียินร้าย” กับ “ข่าวดี-ข่าวร้าย” เนื่องด้วย “เมื่อมีข่าวดี-เดี๋ยวก็มีข่าวร้าย” จนกลายเป็น “สัจธรรมของชีวิต (FACTS OF LIFE)” ซึ่งนั่นก็คือ “หลักธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นั่นเอง จนบางคนอาจถึงขั้นที่มี “ภูมิปัญญาสูง” จนกลายเป็น “ผู้มีสมาธิสูง” และอาจบวชเป็น “พระ” ไปเลย!

กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มี “ปัญญาสูง” จนกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มี “วัฒนธรรมสูง” ที่อาจจะเรียกว่า “กลุ่มผู้ดี” หรือ “กลุ่มที่มีพฤติกรรมเรียบร้อย” มักมีอุปนิสัยใจคอเรียบเย็นง่ายไม่ใจร้อน และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ไม่กล่าวคำ “หยาบคาย” และมักสงวนท่าทีและวาจา พร้อมทั้งอากัปกิริยาแม้กระทั่งการเดินเหินจะนั่งเรียบร้อยไม่ร้อนรนเสมือน ผู้ดีที่ได้รับการอบรมบ่มสั่งสอนมาเป็นอย่างดีหรือถูกอบรมด้วย “การศึกษา” และตามด้วย “ภูมิปัญญา” จากสถาบันทั้งครอบครัวและสภาพแวดล้อมมาเป็นอย่างดี

กลุ่มคนเหล่านี้จะมี “วัฒนธรรมที่สูง (HIGH CULTURE)” แต่มิใช่กลุ่มบุคคลที่ดูหมิ่นดูถูกดูแคลนคน แต่จะเป็นกลุ่มคนที่มีแต่เมตตากรุณาคน หรือ “พรหมวิหาร 4 กล่าวคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา” ทั้งนี้ ก็จะเข้ากับหลักศาสนาพุทธแบบทั้งสิ้น โดยกลุ่มคนระดับล่างอาจไม่เข้าใจเลยก็เป็นได้

“วัฒนธรรมสูง (HIGH CULTURE)” มักจะเป็น “กลุ่มผู้ดี” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่อาจเป็นวัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย หรืออาจจะไม่มีฐานะที่ร่ำรวยนัก แต่อาจเคยรับใช้เจ้านายระดับสูงมาก่อนจนได้เรียนรู้วัฒนธรรม แต่จะสอนลูกหลานให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีให้ “รักนวลสงวนตัว” ส่วนลูกผู้ชายนั้นมักจะให้เรียนหนังสือสูงๆ และจะให้รับราชการ เพราะฉะนั้น กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะเป็น “วัฒนธรรม” ที่คนไทยในยุคสังคมบริบทยุคใหม่อาจไต่ไปไม่ถึง เนื่องด้วยขาดการอบรมบ่มสั่งสอนที่เริ่มต้นด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามด้วยการสร้างภูมิปัญญาระดับล่างสู่ระดับสูง ซึ่งแน่นอนต้องเรียนรู้อบรมสั่งสอนอย่างยาวนานจนกว่าจะไต่ถึง “วัฒนธรรมสูง” คำว่ายาวนานนั้น หมายถึงนับสิบๆ ปีทีเดียว

ถามว่า ในสังคมยุคปัจจุบันสังคมจะมีเวลาเพียงพอหรือที่จะเริ่มบ่มเด็กและเยาวชนด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐานดังกล่าวไว้ข้างต้นจนถึงภูมิปัญญา เอาเพียงแค่นั้นก็พอแล้ว เนื่องด้วยเป็นกรณีที่น่าเสียดายที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังอาจไม่รู้จักเลยว่า “การศึกษา” และ “การอบรมบ่มสั่งสอนระดับดี” นั้นเป็นเช่นไร

ส่วน “การสร้างระดับภูมิปัญญา” นั้น คงต้องอาศัยผู้มีปัญญาที่สูงหรือระดับเกจิอาจารย์หรือพระที่มีปัญญาอย่างแท้จริง ซึ่งคงจะหาได้ยากมากในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น “สังคมวัฒนธรรมสูง” นั้นคงจะต้องควานหาได้อย่างยากมากกับสังคมยุคใหม่ แต่ถามว่า ถ้าเราเริ่มสร้างและเริ่มหาเราอาจจะเจอก็ได้ แต่คงต้อง “อดทนและใช้ระยะเวลาที่ยาวนานได้!”

ศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image