รัฐประหารวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ภาพสัญลักษณ์ที่นายกฯชาติชายชอบขี่มอเตอร์ไซค์ถูกยึดจากรถถังจาก 2 นายพลหัวหน้ารัฐประหาร

ในประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ได้สอนกันในโรงเรียนปรากฏว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมารวมเวลา 87 ปี ในปีนี้ (พ.ศ.2562) ประเทศไทยมีการรัฐประหาร 13 ครั้ง และมีการกบฏ 12 ครั้ง (รัฐประหาร คือการยึดอำนาจรัฐโดยทหารได้สำเร็จ ส่วนกบฏ คือการพยายามยึดอำนาจรัฐที่ถูกปราบปรามลงได้) ดังนั้น การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐที่ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งมีระวางโทษถึงประหารชีวิตนั้น เฉลี่ยทั้งการทำรัฐประหารและกบฏสำหรับประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรานี้เกิดขึ้นทุกๆ 3 ปีครึ่ง ในระยะเวลา 87 ปี ก็ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน คิดแล้วก็ละเหี่ยใจ

ตั้งแต่ผู้เขียนเกิดมาร่วม 70 ปีแล้วนั้น มีการรัฐประหารมาแล้ว 9 ครั้ง ซึ่งเป็นรัฐประหารแบบตลกจี้เส้นแบบขายหัวเราะเสีย 4 ครั้ง คือ

1) รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

2) รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้แบบว่าฮั้วกันนั่นแหละครับ)

Advertisement

3) รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

4) รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าได้แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีเองหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทำการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

แต่การรัฐประหารที่ผู้เขียนจำฝังใจที่สุดคือรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เนื่องจากวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 เมื่อ 28 ปีมาแล้ว เป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณแม่ของผู้เขียน บรรดาพี่น้องบุตรหลานจึงพาคุณแม่ไปฉลองวันเกิดแบบกินเลี้ยงในที่ชนบทอันรโหฐานกันก่อนแล้วจึงค่อยพากันไปทำบุญที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์กับหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ โดยบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อสร้างโรงพยาบาลกับท่าน จึงทราบว่าเกิดมีการรัฐประหารเกิดขึ้น (อีกแล้ว) โดยท่านปัญญา บ่นว่ายึดอำนาจกันเรื่อยเมื่อไรบ้านเมืองจะเจริญได้สักที

Advertisement

ครับ ! การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 นั้นคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council – NPKC) เป็นคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ โดยคณะ รสช.ให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่า

1) มีพฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง รัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาลบุฟเฟต์คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ

2) ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต

3) รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา

4) มีการพยายามทำลายสถาบันทางทหาร

5) มีการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลละเลยคดีลอบสังหารเชื้อพระวงศ์ โดยอ้างอิงคำสารภาพของพันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ ส.ส.พรรคพลังธรรม จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งให้การซัดทอดพลตรีมนูญ รูปขจร (พลตรีมนูญกฤต รูปขจร)

สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดของการทำรัฐประหาร พ.ศ.2534 นี้ คือไม่มีการอ้างถึงภัยคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมักจะอ้างถึงอยู่เสมอในการทำรัฐประหารหนก่อนๆ และนอกเหนือจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง (คอร์รัปชั่น) กับการทำลายสถาบันแล้ว ก็มีการอ้างถึง “เผด็จการรัฐสภา” ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ตลกที่สุดเพราะในระบอบประชาธิปไตยก็ย่อมตัดสินใจในการบริหารบ้านเมืองด้วยคะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นปกติอยู่แล้ว

แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) กลับเอามาอ้างเพื่อลากดึงเผด็จการเต็มรูปแบบเข้ามาปกครองประเทศทั้งๆ ที่การรัฐประหารนั่นเองเป็นการเผด็จการดิบอย่างเปิดเผยที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image