‘วันนอร์’ ฟันธงโค้งสุดท้าย ฟาก ปชต.กวาด 300 ส.ส.

หมายเหตุ – นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” เพื่อประเมินสถานการณ์ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม


โค้งสุดท้ายพรรค ปช.มีหมัดเด็ดอะไรที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือก?

นโยบายที่เราใช้หาเสียงมาตลอด คือ เราอยู่ข้างประชาธิปไตย ต้องการคืนอำนาจให้ประชาชน และกระจายอำนาจให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการตัวเอง ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนควรจะมีอำนาจเป็นของตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน และการไปหาเสียงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ประชาชนทุกพื้นที่บ่นเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ ราคาสินค้า พืชผลทางการเกษตรขายไม่ได้ราคา ต่ำกว่าต้นทุน ดังนั้น พรรค ปช.จึงมีนโยบายที่จะทำให้ประชาชนกินอิ่ม และสามารถที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้ และแก้ระบบการผูกขาด ทำให้ราคาพืชผลขายแล้วได้กำไร รวมถึงเรื่องของการประมง ต้องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเรื่องการศึกษาเราต้องการให้ฟรีทั้งระบบ จนถึงมหาวิทยาลัย และสนับสนุนในระบบของอาชีวะ ที่เรียนจบแล้วมีงานทำมีตลาดรองรับโดยไม่ต้องจบปริญญาตรี คนที่จบออกมาต้องสัมพันธ์กับงานในอนาคต และเรื่องความปรองดอง พรรคไม่เห็นด้วยกับความขัดแย้งแต่จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเกิดความสามัคคี

พรรค ปช.เสนอนโยบายเมกะโปรเจ็กต์ คือ การขุดคลองไทย (คลองกระ) ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดีย มาสู่อ่าวไทย และไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ เพราะปัจจุบันการค้าขายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเรือขนาดใหญ่ก็มีจำนวนมาก ในขณะที่ประเทศอินเดียมีประชากรพันกว่าล้านคน ปัจจุบันชาวอินเดียไม่ได้ยากจนเหมือนในอดีต ปัจจุบันมีการเหมาเครื่องบินมาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และอินเดียยังต้องการสินค้านำเข้าอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทางตะวันตก และตะวันออกกลาง ก็ต้องการที่จะขายน้ำมันมาทางฝั่งตะวันออก ขณะที่ฝั่งเอเชียก็ต้องการส่งสินค้าไปขายทางยุโรปเช่นกัน แต่ต้องส่งเรือสินค้าวิ่งอ้อมไปทางมาเลเซีย อินโดนิเซีย ที่เรียกว่าช่องแคบมะละกา ทำให้การจราจรทางเรือค่อนข้างแออัดและเสียเวลา อีก 3-4 วัน

แต่ถ้าเราเจาะตรงนี้ได้ จะสามารถล่นระยะเวลาการเดินทางและต้นทุน ซึ่งจะทำให้มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น เช่นเดียวกับคลองสุเอซในอียิปต์ที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงประเทศได้ คลองปานามาก็เก็บเงินได้ปีละ 4-50,000 ล้านบาทต่อปี แล้วถ้าเราทำได้ จะเป็นการเปิดเส้นทางทะเลสายใหม่ เชื่อมตะวันออกกับซีกตะวันตก อย่างไรก็ตาม โครงการนี้อาจจะต้องลงทุนเยอะถึง 8 แสนล้านบาท แต่ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ที่จะได้รับประโยชน์ แต่ประเทศไทยทั้งประเทศจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ เราต้องเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศ เราจะอาศัยขายข้าว ขายยางอย่างเดียวมันไม่พอ ดูอย่างประเทศสิงคโปร์ไม่ได้ปลูกข้าว น้ำก็ต้องซื้อ แต่สิงคโปร์รวยกว่าเรา 10 เท่า เพราะอาศัยเส้นทางเรือผ่าน เรือจอด 1 ปี หลายแสนลำ ดังนั้น ถ้าเราทำตรงนี้เราจะร่ำรวยกว่าสิงคโปร์แน่นอน นี่จึงเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ที่เป็นจุดเด่นที่พรรค ปช.

Advertisement

หลายรัฐบาลมีความพยายามที่จะทำเรื่องคลองกระ แต่สุดท้ายก็ต้องเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะมีผู้คัดค้านการตัดด้ามขวานและแบ่งแยกประเทศ?

คนที่พูดเรื่องนี้มีไม่มาก เดิมเราขุดคลองกระไม่ได้ เพราะมีสนธิสัญญาอันหนึ่งที่อังกฤษเคยทำไว้เมื่อครั้งที่เขาปกครองมาเลเซีย เหมือนเป็นสัญญาทาส เพราะต้องขออนุญาตเขาในยุคล่าอาณานิคม แต่ในปี 2497 อังกฤษยอมยกเลิกสัญญาทาส และกระทรวงการต่างประเทศได้มีการแก้ไขสัญญานี้แล้วเรียบร้อย ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะขุดได้เพียงแค่ขยายคลองกระ จะเป็นการแบ่งแยกประเทศได้อย่างไร ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นหมู่เกาะมีน้ำล้อมรอบ อินโดนีเซีย มี 100 เกาะ ก็ไม่เห็นมีปัญหาเรื่องความมั่นคง ในเรื่องความมั่นคง กองทัพเรือมีฐานทัพอยู่ที่สัตหีบ สงขลา ชุมพร หากมีปัญหาทางฝั่งอันดามัน สามารถน้ำเรือผ่านคลองเพื่อมาป้องกันประเทศได้ และเรือดำน้ำเองก็สามารถมาได้เช่นกัน ถ้าไม่มีคลองนี้หากต้องไปป้องกันพื้นที่ทางฝั่งอันดามันกองทัพเรือจะต้องอ้อมไปทางอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการสอบถามประชาชนนับแสนคน และยังมีผู้ใหญ่ในประเทศเห็นด้วยหลายคน คิดว่าเรื่องทุนไม่มีปัญหาเพราะเป็นประโยชน์ของคนทั้งโลกที่จะใช้ในการสัญจร เหมือนทางด่วน เหมือนมอเตอร์เวย์แล้วเก็บค่าผ่านทาง เชื่อว่าไม่เกิน 10 ปี ได้เงินคืนหมด เหมือนคลองสุเอซ เพียงแค่ 5 ปี ได้ทุนคืนหมดแล้ว และทุกวันนี้เงินที่ได้มาก็นำมาเลี้ยงคนทั้งประเทศ อาจจะมีคำถามว่า แล้วทำไมจึงขุดไม่ได้เสียที อันนี้ผมคิดว่าเราขาดอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช้เงินลงทุนคือ เราขาดผู้นำทางการเมืองที่มีวิสัยทัศน์กล้าหา และประชาชนเชื่อว่าเขาเป็นคนมือสะอาด

ผมมั่นใจว่าเรามีความบริสุทธิ์ใจสามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่น โครงการนี้จะสามารถพลิกฟื้นประเทศได้ เพราะไม่เพียงเรือขนส่งสินค้า แต่มีเรือท่องเที่ยวเข้ามาด้วย เชื่อว่าคลองกระจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยรองรับว่าหากมีการขุดคลองเกิดขึ้นจะมีการสร้างงานให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิที่คิดมานานมากแต่ก็ไม่สามารถทำได้ มีคนคัดค้านใช้งบประมาณเยอะ ลูกหลานเป็นหนี้ เอาหนองงูเห่ามาสร้างสนามบินน้ำจะท่วม แต่สุดท้ายเป็นไง หนองงูเห่าไม่ท่วม แต่ท่วมดอนเมือง ดังนั้นมันจึงอยู่ที่การบริหารจัดการ ตอนนี้สุวรรณภูมิได้ทุนคืนหมดแล้ว แล้วได้กำไร 1.7 หมื่นล้านบาท และกำลังมีการสร้างเฟส 2 ดังนั้นคลองกะก็เช่นกัน คิดมาเป็น 100 ปี แต่ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นต้องมีผู้นำที่จะสามารถทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง แล้วถ้าจะแบ่งแยกจริงไม่มีคลองมันก็แบ่งได้

Advertisement

การลงพื้นที่หาเสียงช่วงก่อนเข้าสู่สัปดาห์สุดท้าย?

ได้รับการตอบรับจากประชาชนดีมาก เพราะเมื่อก่อนโดยเฉพาะทางใต้จะไม่ค่อยมีการปราศรัยใหญ่เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่วันนี้มีการปราศรัยใหญ่เช่นที่ จ.ยะลา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าฟังหลักหมื่นคน ทำให้ประชาชนเข้าใจการซื้อเสียงจะยากขึ้น ดังนั้น พรรค ปช.มีความมั่นใจในพื้นที่ภาคใต้มาก แต่ก็มีการปราศรัยใหญ่ทุกภาคเช่นเดียวกัน ผมมั่นใจว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมือง และผู้สมัคร ส.ส.เพราะการซื้อเสียงอย่างเดียวไม่สามารถชนะได้ หากพรรคใดคิดจะซื้อเสียงอย่างเดียวน่าจะผิดหวัง

ประเมินพรรค ปช.จะได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง?

ได้มากกว่า 20 ที่นั่งจากเขตและบัญชีรายชื่ออย่างละครึ่ง ประเมินจากการลงพื้นที่พูดคุยประชาชนแต่ไม่ใช้จากความรู้สึก ใช้โพลสองสำนักวิเคราะห์แบบละเอียด พรรค ปช.น่าจะได้ ส.ส.จากทุกภาค โดยภาคใต้ก็ได้มากหน่อย ประมาณ 10 เขต ขณะที่ภาคอีสาน น่าจะได้ ส.ส.เขต 6-7 เขต ประเมินจาก 116 เขต ส่วนภาคเหนือ พรรคน่าจะได้ 2-3 เขต ดังนั้น พรรค ปช.ได้ 20 ที่นั่งขึ้นไป จาก 500 ที่นั่ง ถือว่าไม่มากหากคิดเป็นเปอร์เซ็น ทั้งนี้ สภาผู้แทนหมายถึง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อรวมกัน จำนวน 500 คน ฝ่ายประชาธิปไตย คือ พรรคเพื่อไทย (พท.) อนาคตใหม่ (อนค.) ประชาชาติ (ปช.) เสรีรวมไทย (สร.) เพื่อชาติ (พช.) พรรคเพื่อธรรม (พธ.) และพรรคอื่นๆ แม้ไม่ได้คุยกันแต่ดูจากแนวนโยบายที่ตรงกัน ถ้าเสียงรวมกันน่าจะได้อย่างน้อย 300 เสียง หรือปริ่มๆ 300 ดังนั้นคะแนนที่เหลือจะไปอยู่ที่พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนหนึ่งที่ไม่มากเท่าใด อีกส่วนจะไปอยู่ที่พรรคกลางๆ ยังไม่แน่ไม่นอน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตอนนี้ก็ประกาศแล้วว่า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะมีพรรคทำนองนี้อีกไม่น่าจะเกิน 200 เสียง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีไม่ถึง 100 เสียงจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สนับสนุน

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลจึงมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ 1.เสียงข้างมาในสภาฯจัดตั้งรัฐบาล 2.เสียงข้างน้อยของสภาฯรวมกับ ส.ว.จัดตั้งรัฐบาล แต่ทั้ง 2 ฝ่ายจะจัดตั้งรัฐบาลด้วยความยุ่งยาก ถ้าฝ่ายเสียงข้างมาก เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แน่นอนว่าการประชุมสภาฯจะราบรื่น แต่เวลาประชุมร่วมหรือการผ่านกฎหมายที่ต้องผ่าน ส.ว.จะมีความยุ่งยากพอสมควร แต่ถ้าฝ่ายเสียงข้างน้อยรวมกับ ส.ว.กลายเป็นเสียงข้างมาในรัฐสภาจัดตั้งรัฐบาล จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ เพราะเวลาประชุมจะแยกประชุม โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ จะทำให้เสียงข้างน้อยแพ้ในการประชุม ถ้ารัฐบาลแพ้โหวตเรื่องงบประมาณก็ต้องลาออก หรือประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าเสียงรัฐบาลแพ้ก็ต้องลาออกเช่นเดียวกัน

ผมดูแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างเงื่อนไขให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ลำบากสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล แต่ผมไม่รู้ว่าเข้าสร้างทำไมเพื่อไม่ให้การเมืองเดินราบรื่น จะไปบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำขึ้นเพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ผมก็ไม่เห็นมีตรงไหนที่จะเกิดความปรองดองได้ แต่ที่ปรองดองตอนนี้เพราะเป็นการใช้อำนาจเผด็จการ มีมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) กดหัวประชาชนเอาไว้ไม่เป็นที่ยอมรับของคนในประเทศและต่างชาติ จึงคิดว่าหลังเลือกตั้งจะเกิดความยุ่งยากให้กับรัฐบาลหน้าอย่างชัดเจน

พรรคที่ประกาศไม่เอาสืบทอดอำนาจ ณ วันนี้ได้หารือแต่ละพรรคหรือไม่?

ยังไม่ได้คุยกันชัดเจน เพราะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ระหว่างหาเสียง รวมถึงส่งผู้สมัครแข่งกัน พรรค อนค.ส่งผู้สมัครครบทุกเขต พรรค สร.ส่งผู้สมัคร ส.ส.เกือบทุกเขต พรรค พท.ส่ง 250 เขต พรรค ปช.ส่งผู้สมัคร 212 เขต ทำให้ชนกันหลายพื้นที่ คงต้องรอหลังเลือกตั้งว่าแต่ละพรรคได้ ส.ส.เท่าไรจากนั้นจะมีการหารือกัน

หลังเลือกตั้งหากสถานการณ์ไม่เป็นอย่างที่หวัง จะทำอย่างไร?

ไม่มีปัญหา ประชาธิปไตยต้องดำเนินต่อ ถึงแม้พรรค ปช.จะเป็นฝ่ายค้าน หากทำหน้าที่ดีมีประโยชน์ในการตรวจสอบรัฐบาล ทั้งนี้ การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย อย่าไปหวังว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องเป็นรัฐบาล หรือหวังผลประโยชน์ ทั้งนี้ ประชาธิปไตยต้องมีความอดทน ไม่ใช่ว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วไปคว่ำการเลือกตั้ง ไม่สนับสนุนรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง เดี๋ยวทหารก็ออกมาอีก ดังนั้นหัวใจประชาธิปไตยคือ ความอดทน ต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยคือ 4 ปี ทำดีก็เป็นต่อทำไม่ดีก็เปลี่ยน ประชาธิปไตยทั่วโลกเกิดขึ้นจากความอดทนที่ยอมรับว่าเลือกตั้ง 4 ปี เปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ อย่าเปลี่ยนแปลงเพราะอารมณ์ตนเอง และไม่จัดตั้งม็อบเพื่อเรียกเผด็จการออกมา

มีอะไรแนะนำประชาชนก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งครั้งนี้?

ต้องคิดว่าอนาคตอยู่ในกำมือประชาชน ดูตัวอย่างสาธารณรัฐเมียนมา ทำไมมีการเปลี่ยนแปลงเอาประชาธิปไตยกลับคืนมาได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เอื้อ ทหารมีอำนาจยิ่งกว่าประเทศไทย แต่การเลือกตั้งประชาชนไปใช้สิทธิเลือกประชาธิปไตยมากกว่า 80% เผด็จการก็ทำอะไรไม่ได้ วันนี้เมียนมาดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อเมียนมาทำได้ทำไมไทยจะทำไม่ได้ในการเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ขณะที่มาเลเซีย พรรคอันโนปกครองมา 60 ปี มีอำนาจคุมทุกอย่าง แต่ไปใช้นโยบายประชานิยมก่อนเลือกตั้ง ให้ทุกอย่างเพื่อเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯ ทนไม่ได้ขอแก้ไขปัญหา ประกาศจะล้างกลุ่มคร์รัปชั่นให้เข้าคุก พลิกฟื้นให้มาเลเซียเป็นเสืออีกครั้ง ดังนั้น เชื่อว่าประเทศไทยหากประชาชนนำความรู้สึก 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องการเผด็จการที่มีอำนาจพิเศษมากดหัว ไม่ต้องการให้มีคอร์รัปชั่นเอาเงินภาษีให้พวกพ้องได้สบายๆ ประชาชนต้องมีความอดทนสร้างประชาธิปไตยของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image