อินฟราฟัน : รถไฟลุยพัฒนาเชิงพาณิชย์ : นายขันตี

สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะกลายเป็นสถานีกลางที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเดินหน้าก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการเพื่อผลักดันให้พื้นที่ย่านบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งอย่างแท้จริง

นั่นก็คือ โครงการพัฒนาศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธิน แปลง เอ ขนาดพื้นที่ 32 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างจัดทำเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะนำร่างทีโออาร์ขึ้นรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ได้เร็วที่สุดในเดือนมีนาคมนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนเมษายน ก่อนประกาศเชิญชวนนักลงทุนและจำหน่ายเอกสารประกวดราคาตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง เอ จะมีลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือ Mixed-use Real Estate ประกอบด้วย ร้านค้า โรงแรม ออฟฟิศ และการลงทุนอื่นๆ ที่เอกชนสนใจ

Advertisement

หลังจากเปิดประมูลในปีนี้และเริ่มต้นก่อสร้างแล้ว รฟท.ตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการพื้นที่แปลง เอ บางส่วน พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในวันที่ 1 มกราคม 2564

เบื้องต้น รฟท.กำหนดไว้ว่า การก่อสร้างโรงแรมในพื้นที่แปลง เอ จะเน้นรองรับผู้โดยสารที่ต้องการพักค้างคืน เพื่อเตรียมเดินทางต่อ โดยเป็นโรงแรมราคาประหยัด หรือ Budget Hotel ระดับ 3 ดาว

นอกจากนี้ รฟท.ยังได้รับฟังความคิดเห็นจากเอกชน หรือ Market Sounding ในโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีธนบุรีขนาด 21 ไร่ จากทั้งหมด 120 ไร่ ซึ่งเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยจะพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวในเชิงพาณิชย์และจะสร้างที่พักในแนวสูงเพื่อให้พนักงานอยู่แทนบ้านแนวราบ

Advertisement

กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาครั้งนี้มีอยู่ 2 ส่วน คือ พนักงานการรถไฟฯที่ต้องการที่อยู่อาศัย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ในบริเวณรอบๆ โดยเฉพาะญาติผู้ป่วยที่ต้องการห้องพักอาศัยชั่วคราวในราคาประหยัด เพราะที่พักในบริเวณดังกล่าวมีจำกัด ญาติผู้ป่วยบางส่วนต้องไปใช้บริการห้องพักหรือโรงแรมในย่านปิ่นเกล้า ซึ่งอยู่ถัดออกไป

ทั้งนี้ รฟท.วางแผนจะก่อสร้างบัดเจ็ทโฮเต็ล ระดับ 3 ดาวในโครงการนี้ด้วย ซึ่งจะคิดราคาห้องพักไม่เกิน 1,000 บาท/ห้อง/คืน ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

โครงการนี้วางแผนจะก่อสร้าง 4 อาคาร ได้แก่ บ้านพักพนักงานการรถไฟฯ โรงแรม ศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพ หรือ Wellness Center และห้องพักบุคลากรทางการแพทย์ มูลค่าการลงทุนรวม 3,000 ล้านบาท

รฟท.จะร่วมทุนกับเอกชน เป็นเวลา 34 ปี แบ่งเป็นเวลาก่อสร้าง 4 ปี และให้บริการอีก 30 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้ให้องค์กรประมาณ 900 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา

จะเดินหน้าผลักดันจนเปิดบริการได้ทั้ง 2 โครงการ จริงหรือไม่ ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด!!!

นายขันตี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image