5จี เพื่อการเกษตร ต่อยอด’เซ็นเซอร์’ž ตรวจ’อากาศ-นํ้าž’ (ชมคลิป)

การพัฒนาเข้าสู่ยุค 5จี ถือว่า เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในทุกที่ในโลก และจะสร้างประโยชน์อย่างมาก

เนื่องจากของ 5จี ที่สามารถตอบสนองความต้องการของการสื่อสารในโลกอนาคตที่เน้นการรับ-ส่งข้อมูล ด้วยความเร็วในระดับกิกะบิตต่อวินาที (Gbps) เกิดความผิดพลาดต่ำ สามารถเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน อาจมากถึงระดับล้านอุปกรณ์ต่อตารางกิโลเมตร และมีการส่งข้อมูลระหว่างกันในปริมาณน้อยๆ จึงไม่ต้องการความเร็วสูง อุปกรณ์โดยทั่วไปมีราคาถูก

รวมทั้งมีความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที ฉะนั้น หากประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5จี ได้ ก็จะสร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างมาก

จากสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ที่ปัจจุบันพบว่า มีค่าฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ โดยคุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และมีผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถนำเทคโนโลยี 5จี มาช่วยในการตรวจวัดที่มีความแม่นยำเพื่อเตือนภัยและป้องกันปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Advertisement

สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี จึงมีแนวคิดที่จะแก้ไข โดยเมื่อ 3 ปีก่อน ได้พัฒนาใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถอัพเดตข้อมูลได้ทุกๆ 10 นาที

เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ประสิทธิภาพในการประเมินสถานการณ์และระวังภัย ก็จะสามารถทำได้เต็มที่มากขึ้น โดยเบื้องต้น ได้ทำการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ ใน จ.น่าน จำนวน 95 สถานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

“เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ”Ž จะสามารถวัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และปริมาณฝุ่นละอองในอากาศได้ แม้ฝุ่นละอองจะมีขนาดเล็กมาก ทั้งขนาด 1 ไมครอน, 2.5 ไมครอน และขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ซึ่งหลังจากระบบตรวจรับข้อมูลแล้ว จะส่งข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ และสามารถทราบการวัดผลได้ที่แอพพลิเคชั่น และบนเว็บไซต์

Advertisement

ส่วนชาวบ้านทั่วไป ที่ยังไม่มีอุปกรณ์ ที่ตัวเซ็นเซอร์จะมีสัญญาณไฟสีเขียว เหลือง และแดง บอกปริมาณฝุ่นละอองที่ควรระวัง เช่น สีเหลือง หมายถึง เมื่อออกจากบ้านควรใส่หน้ากากป้องกัน ขณะที่สีแดง หมายถึง ค่าหมอกควัน หรือฝุ่นละออง เกินมาตรฐาน ห้ามออกจากบ้าน เป็นต้น

“ข้อดีของตัวเซ็นเซอร์ คือ น้ำหนักเบา ต้นทุนไม่แพง ฉะนั้น จึงสามารถผลิตได้ปริมาณมาก ทั้งนี้ หากในพื้นที่มีเซ็นเซอร์เป็นจำนวนมาก ในระบบ 4จี จะมีการตอบสนองที่ต่ำ แต่หากมี 5จี เกิดขึ้น จะมีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน โดยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งจะสามารถสอดรับกับตัวเซ็นเซอร์นี้ได้เป็นอย่างดี” อาจารย์สรรเพชญอธิบาย

อาจารย์สรรเพชญ ยังระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองที่รุนแรงเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลความรู้ต่างๆ ในเรื่องนี้ ยังไม่มีการเปิดเผย หลายคนจึงอาจยังไม่ทราบถึงข้อเท็จจริง แต่พอได้รับรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดผลกระทบต่อร่างกาย แม้จะไม่เกิดขึ้นในระยะเฉียบพลัน แต่จะค่อยๆ สะสมในร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดตีบ เป็นต้น จึงนำมาสู่การป้องกัน และดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่า ความผิดปกติของร่างกาย บางครั้งไม่ได้เกิดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกายที่เกิดจากการสะสมมาเป็นระยะเวลานาน

นอกจากนี้ ”เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ”Ž มีการนำมาต่อยอดความรู้ ในการทำเครื่องมือวัดสภาพอุตุนิยมวิทยาและระดับน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องใช้ข้อมูลปริมาณน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งน้ำที่เกิดจากปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำที่มีในพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ”อัลตราโซนิค”Ž ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ในการตรวจวัดสภาพลมฝน และค้นหาปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำอ่างเก็บน้ำ ที่ได้มีการเชื่อมโยงกับระบบอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์(ไอโอที) สามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง และรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ได้อย่างทันการณ์

นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าว จนเกิดเป็นการพัฒนา “ระบบควบคุมการบริหารจัดการแปลงเกษตรอัตโนมัติ”Ž หรือการเกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ทฟาร์ม) โดยระบบควบคุมการบริหารจัดการแปลงเกษตรอัตโนมัติ ประกอบด้วย เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นดิน อุณหภูมิ และความชื้นอากาศ รวมไปถึงตรวจวัดการนำไฟฟ้า ซึ่งจะแปรผันไปตามแร่ธาตุที่อยู่ในดิน

ผู้ใช้งานสามารถกำหนดการควบคุมเพื่อสั่งการอุปกรณ์ได้ 3 วิธี ได้แก่ 1.สั่งการโดยผู้ใช้ ซึ่งสั่งให้มีการเปิดหรือปิดการใช้งาน ผ่านแอพพลิเคชั่น

2.การตั้งเวลา โดยผู้ใช้งานสามารถตั้งเวลาสำหรับการเปิดหรือปิดอุปกรณ์นี้ในเวลาใดก็ได้ และ 3.ระบบอัตโนมัติ (ออโต้) ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ใช้งานตั้งค่าในระบบเซ็นเซอร์

ทั้งนี้ จะมีการนำร่องโครงการ โดยการนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จำนวน 30 ราย และในอนาคตจะขยายพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถแจ้งความจำนงไปยังหน่วยงานของจังหวัด เพื่อขอสนับสนุนอุปกรณ์ดังกล่าวต่อไป

“เทคโนโลยีที่เกิดขึ้น จะทำให้เกษตรกรสามารถรับทราบได้ถึงข้อมูลปริมาณน้ำที่มีอยู่ เพื่อนำไปวางแผนในการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากเดิมที่เกษตรกรจะบริหารจัดการน้ำโดยการคาดเดา เนื่องจากไม่มีข้อมูลในการวิเคราะห์ หรือบอกถึงปริมาณน้ำที่มีอยู่ให้รับทราบ ส่งผลให้ที่ผ่านมาพื้นที่การเกษตรที่มักจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง และปัญหาอุทกภัยอย่างต่อเนื่องŽ” อาจารย์สรรเพชญเผยถึงการต่อยอดการนำ “เซ็นเซอร์”Ž ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร

อาจารย์สรรเพชญเสริมข้อมูลอีกว่า การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับอาชีพเกษตรกรรม ที่เป็นหัวใจหลักของประเทศ จะทำให้กลไกการทำการเกษตรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ซึ่งเกษตรกรจำเป็นจะต้องปรับตัวให้สอดรับ และนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน แม้อาชีพเกษตรกรจะยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ขับเคลื่อนเป็นหลัก แต่เชื่อว่าในอนาคตหากมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น จะสามารถช่วยดึงดูดกลุ่มคนที่มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุที่ลดลง ให้หันมาสนใจการทำการเกษตรได้

“ประเทศไทยถือเป็นทำเลทองในการทำเกษตรกรรม ดังนั้น อุปกรณ์และเทคโนโลยีอย่าง เครื่องมือวัดสภาพอุตุนิยมวิทยาและระดับน้ำ และระบบควบคุมการบริหารจัดการแปลงเกษตรอัตโนมัติ โดยเชื่อมโยงผ่าน 5จี จะช่วยกระตุ้นให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นŽ”

อาจารย์สรรเพชญสรุป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image