คุมเหล้า ‘วันสงกรานต์’ คนดื่ม-ขายระวังติดคุก

หลังจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเสนอมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสงกรานต์ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เพื่อลดอุบัติเหตุจราจรจากการเมาแล้วขับ โดยจะเสนอคณะกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบเพื่อออกเป็นประกาศบังคับใช้

ปรากฏว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัยไม่ได้เข้าร่วมการประชุม แต่มอบให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมแทน

ทั้งนี้ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มีมติเลื่อนการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวออกไป ด้วยเหตุผลว่า ประธานตัวจริงไม่ได้เข้าร่วมประชุมŽ

จึงมีมติให้จัดประชุมเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกครั้งในเร็วๆ นี้ ระหว่างนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ หากมีการออกประกาศนี้ว่ามี ข้อดี หรือข้อเสียอย่างไร เช่น

Advertisement

หากไม่ให้จำหน่าย คนจะเจ็บตายน้อยลงขนาดไหน จากข้อมูลที่แล้วๆ มา หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไรบ้าง ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของใครหรือไม่ เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วนำเสนอกลับเข้าไปใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเสนอห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะยังไม่ชี้ขาด แต่ก็ใช่ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่วันจะไม่มีการควบคุมใดๆ

เพราะข้อเท็จจริงคือ ณ ปัจจุบันก็มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สามารถเอาผิดกับผู้ที่ดื่มและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันสงกรานต์ได้

Advertisement

ดังนั้น ในช่วงสงกรานต์ปีนี้ เราจะสามารถปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ที่ผ่านมา นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระบุว่า จะเน้นควบคุมทั้งผู้จำหน่ายและผู้ดื่ม โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ เจ้าหน้าที่สรรพสามิต และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั่วประเทศ ดังนี้

1.เรื่องการจำหน่ายนอกเวลาที่กำหนด ซึ่งใน 1 วัน กฎหมายกำหนดเวลาจำหน่าย 2 ช่วง คือ เวลา 11.00-14.00 น. และเวลา 17.00-24.00 น. หากตรวจพบว่ามีการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ห้ามจำหน่ายให้คนเมาและเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หากพบมีการกระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ห้ามดื่มบนยานพาหนะ เช่น ขับรถเล่นน้ำและดื่มไปด้วย หรือขับรถไปและแวะดื่มข้างทาง ฯลฯ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ห้ามโฆษณา หรือทำการตลาด และจัดทำโปรโมชั่นต่างๆ การกระทำเหล่านี้มักพบมากในช่วงเทศกาล หากพบว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.ห้ามจำหน่ายหรือดื่มในสถานที่ควบคุม เช่น สถานที่ราชการ หากพบเห็นจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกทั้งยังสามารถเอาผิดตามกฎหมายอื่นๆ ได้ด้วย เช่น พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 หากพบว่ามีการตั้งร้านจำหน่ายแบบชั่วคราวโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯด้วย

นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มี พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธาน ก็ได้กำชับถึงเรื่องของการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมสรรพสามิต ฯลฯ จะต้องร่วมกันลงพื้นที่ตรวจตราการกระทำผิดในสถานที่เสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น การจัดงานมิดไนต์สงกรานต์ มักจะพบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลา หรือการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามริมทาง ใกล้จุดเล่นน้ำต่างๆ พฤติกรรมเหล่านี้ถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน

“การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้างทางผิดกฎหมายชัดเจน เพราะกรมสรรพสามิตไม่มีการออกใบอนุญาตจำหน่ายชั่วคราว เนื่องจากการขออนุญาตจำหน่ายจะต้องเขียนชัดเจนว่า จำหน่ายโดยใคร จำหน่าย ณ สถานที่ใด เช่น จำหน่ายในร้าน ก็ต้องระบุเลขที่ร้านให้ชัดเจน เป็นร้านประเภทใด ร้านของชำ ร้านสะดวกซื้อ หรือเป็นสถานประกอบการ เป็นต้น หรือหากจำหน่ายตามตลาดนัด ก็ต้องระบุชื่อตลาดนัดให้ชัดเจน ขายล็อกเลขที่เท่าใด และการขออนุญาตให้เวลาในการจำหน่ายเป็นปี จึงไม่มีการอนุญาตให้จำหน่ายชั่วคราวตามข้างทาง หากพบรายใดมีพฤติกรรมเช่นนี้จึงผิดกฎหมายแน่นอน มีโทษปรับ 5,000 บาทŽ” นพ.นิพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ความเข้มข้นในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันสงกรานต์ปีนี้ จะดำเนินการอย่างทั่วถึงไปในระดับร้านค้าเล็กๆ ในชุมชนด้วย เพื่อเป็นมาตรการป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image