เด็กก้าวพลาด : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน-พจนา อาภานุรักษ์

จากรายงานสถิติการสำรวจการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2560 พบว่ามีการแจ้งดำเนินคดีในกลุ่มเด็กและเยาวชนประมาณ 23,397 คดี และจากข้อมูลปี พ.ศ.2557 เมื่อพิจารณาจำแนกตามเพศ พบว่าเป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 93.35 เมื่อพิจารณาจำแนกตามอายุ พบว่าคดีส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดมีอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี คือ มีจำนวน 25,761 คดี คิดเป็นร้อยละ 70.51 โดยคดีส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมากที่สุด คือ มีจำนวน 16,508 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.18 ของคดีทั้งหมด

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ทางศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจรูปแบบการดูแลเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ค้นพบหลักคิด วิธีการ และแนวทางการพัฒนาที่จะเป็นความหวังให้การคืนเยาวชนกลุ่มนี้กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน

บนพื้นที่ 78 ไร่ ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ ที่รายล้อมไปด้วยอาคารเรียน ลานกิจกรรม และแปลงเกษตร บรรยากาศภายในศูนย์ฝึกฯมีหน้าตาไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป จะต่างก็ตรงที่มีรั้วรอบขอบชิด มีประตูที่ถูกล็อกกุญแจอย่างแน่นหนาไว้ตลอดเวลา และการตรวจตราความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ก้าวแรกที่ย่างเข้าไปในศูนย์ฝึกฯเสียงกลองสะบัดชัยถูกตีขึ้น การแสดงฟ้อนรำแบบฉบับชาวเหนือ และการแสดงดนตรีที่เยาวชนได้ซักซ้อมเพื่อเปิดงานก็ถูกทำให้เกิดขึ้นอย่างมีพลัง แม้จะอึกทึกไปด้วยเสียงดนตรีแต่ในอีกสัมผัสหนึ่งก็รู้สึกได้ถึงความเงียบสงบและความกังวลในจิตใจที่มีต่อคนแปลกหน้าที่เข้ามาเยี่ยมเยือน

Advertisement

ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7 แห่งนี้ มีหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชนที่ถูกพิจารณาคดีแล้วจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และพะเยา เยาวชนส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 16-23 ปี เป็นเพศชายจำนวน 377 คน เป็นเพศหญิงจำนวน 45 คน ซึ่งถูกพิจารณาในคดียาเสพติดเป็นหลัก บ้างก็กระทำด้วยตนเอง บ้างก็ถูกจับเพราะเป็นร่างแห

เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมประจำวันของเด็กที่นี่จากเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฝึกฯเราจะพบว่าวิธีการที่ใช้ดูแลเยาวชนกลุ่มนี้ไม่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป ในช่วงเช้าเด็กๆ จะได้เรียนตามแนวทางการศึกษานอกระบบโรงเรียนในรายวิชาสามัญ

ส่วนในช่วงบ่ายจะเน้นการฝึกทักษะอาชีพ ทั้งการเกษตร งานไฟฟ้า งานช่าง การทำคอมพิวเตอร์กราฟิก การชงกาแฟ การนวดแผนไทย ตลอดจนงานศิลปะการแสดงต่างๆ โดยเฉพาะการแสดงคีตนาฏมวยไทยที่ได้รับรางวัลมาแล้วหลายเวที

Advertisement

สําหรับการลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานภายใต้โครงการ “คืนความสุขให้เยาวชน” ในครั้งนี้ นางฉอ้อน สวยรูป ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอหลักคิดสำคัญ คือ เด็กและเยาวชนมาด้วยบาดแผลทางด้านจิตใจ แข็งกร้าว และเป็นเหยื่อ ดังนั้น ต้องทำให้ศูนย์ฝึกฯเป็นเสมือนบ้านที่อยู่ร่วมกันได้ มีระเบียบกฎเกณฑ์ เจ้าหน้าที่ทุกคนเอาใจใส่ เน้นการมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมบนพื้นฐาน “เชื่อมั่น ปลอดภัย ให้ความรัก” โดยมีนายอัครชัย อรุณเหลือง หรือพี่หมอเอิร์ธ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เป็นผู้มองเห็นศักยภาพของเยาวชนกลุ่มนี้ที่สามารถพัฒนาและส่งเสริมให้พวกเขายืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เมื่อออกจากศูนย์ฝึกไปแล้ว

พี่หมอเอิร์ธมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทยซึ่งมีภารกิจหลักในการส่งเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือ จึงนำแนวคิดการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนให้สามารถแสดงออกทางความคิดและสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ ผ่านเวทีที่มีชื่อว่า “ศาสตร์พระราชา ข่วงผญ๋าปัญญาละอ่อน” (คำว่าข่วง แปลว่า ลาน และคำว่าผญ๋า แปลว่า ความคิด) โดยพี่หมอเอิร์ธ มองเห็นการสร้างจุดเชื่อมโยงการทำงานของเด็กเยาวชนและเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ฝึกฯ ผ่านการนำศาสตร์พระราชาว่าด้วยเรื่องแนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีความลุ่มลึก รอบด้าน มองการณ์ไกล และเน้นความยั่งยืนยาวนาน มาใช้เป็นธีมหลักในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในครั้งนี้

“ผมมองว่าเด็กกลุ่มนี้ ไม่ได้แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป พวกเขาแค่ต้องการพื้นที่แสดงออกทางความคิด แสดงออกถึงความสามารถ และต้องการคนรับฟัง” เสียงจากพี่หมอเอิร์ธ เมื่อเราถามถึงสิ่งเขามองเห็นจากเยาวชนกลุ่มนี้ พี่หมอเอิร์ธยังเล่าให้เราฟังถึงภาพบรรยากาศการเตรียมงานในครั้งนี้ เยาวชนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้เกิดเวทีนี้ขึ้น พวกเขาใช้เวลาในการจัดเตรียมซุ้มแสดงผลงาน การประดับตกแต่งพื้นที่ลานความคิด ตลอดจนเตรียมการสาธิตทักษะอาชีพและการแสดงผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากฝีมือพวกเขาเอง

กิจกรรมถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจรดเย็นพร้อมกับรอยยิ้มที่เกิดขึ้นบนหน้าของเยาวชนและเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฝึกฯ นอกจากอารมณ์ความรู้สึกที่เราสังเกตได้จากงานนี้ กระบวนการที่ถูกออกแบบมาให้เยาวชนมีส่วนร่วมก็สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ทุกคนจะมีหน้าที่ มีกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบ มีกระบวนการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นภายในตนเองผ่านการร้องเพลง การแสดงฝีมือ การแสดงทักษะต่างๆ ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นว่าโอกาสนั้นมีอยู่รอบตัว อยู่ที่ว่าใครจะสามารถช่วงชิงโอกาสนั้นเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเมื่อก้าวพลาดแล้วจะไม่ก้าวซ้ำรอยเดิม

นอกเหนือจากการให้โอกาสและการให้ความสำคัญกับคุณค่าเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตในสังคมแล้วจะไม่กระทำความผิดซ้ำคือ

การออกแบบสภาพแวดล้อมรอบตัวพวกเขา แม้ว่าเราอาจจะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาได้ไม่ทั้งหม

แต่การสร้างระบบชุมชนที่เอื้อให้เยาวชนกลุ่มนี้มีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ สร้างระบบงานขนาดย่อมภายในชุมชนที่ช่วยให้เด็กสามารถนำทักษะอาชีพที่ได้จากในศูนย์ฝึกฯไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะไม่ทำให้พวกเขาพาชีวิตกลับไปสู่วังวนเดิมๆ ซึ่งสิ่งที่ศูนย์ฝึกฯต้องการ คือ ระบบหลักสูตรเฉพาะทางที่เน้นความสามารถ ความต้องการ และลงลึกมากขึ้น ดังเช่น การเป็นนักร้อง นักดนตรี นักกีฬา นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ เครือข่ายตลาดแรงงาน ภาคเอกชนรองรับ การส่งต่อเรื่องการมีงานทำมีรายได้เลี้ยงตนเองได้

และที่สำคัญ คือ ครอบครัว ชุมชนที่ยอมรับ ทัศนคติที่ไม่นำบุตรหลานกลับไปสู่วงจรชีวิตยาเสพติด ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการก้าวพลาดอีก การเปิดบ้านเล็กๆ เพื่อเตรียมความพร้อมกับเด็กบางคนที่ยังไม่เข้มแข็งพอกับโลกภายนอก

หากหยิบยกทฤษฎีทางจิตวิทยามาใช้ในการอธิบายเรื่องการพัฒนาเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ตามทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของอับราฮัม มาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) ว่าด้วยการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตามลำดับขั้น มาสโลว์กล่าวว่า ความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์คือด้านกายภาพ คือ การทำให้พวกเขานี้ได้รับการตอบสนองตามปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ให้ได้กินอิ่ม นอนหลับ เมื่อยามเจ็บป่วยก็ได้รับการรักษา

ความต้องการขั้นต่อมา คือ ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกทำร้ายทั้งทางกาย วาจา ใจ ซึ่งในขั้นนี้ผู้ใหญ่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการไม่เพิ่มความเปราะบางโดยการใช้ความรุนแรงกับเยาวชนกลุ่มนี้และต้องทำให้เขาเห็นเป็นต้นแบบว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหาแต่เป็นทางสร้างปัญหาให้เพิ่มมากขึ้น

ขั้นที่ 3 ที่ว่าด้วยความต้องการความรักและการมีสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น จากเวที “ศาสตร์พระราชา ข่วงผญ๋าปัญญาละอ่อน” ในครั้งนี้ เราจะมองเห็นมิติการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ได้อย่างชัดเจน ผ่านการลงมือออกแบบกิจกรรมร่วมกัน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับเยาวชนด้วยกัน และความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่

และขั้นที่ 4 การได้รับการยอมรับรับถือ พูดง่ายๆ คือ การไม่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในเยาวชนกลุ่มนี้ถูกลดทอนไปด้วยกระบวนการต่างๆ ลำพังแค่ต้องก้าวเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ พื้นฐานความรู้สึกของเยาวชนที่ก้าวพลาดเหล่านี้ก็แย่เพียงพอแล้ว ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันคิดว่าจะนำพาพวกเขาไปสู่ทางออกของชีวิตและเห็นคุณค่าภายในตนเองได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ที่ท้าทาย และขั้นสุดท้ายคือความต้องการได้รับการพัฒนาตนเองไปสู่ศักภาพสูงสุดซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคน เมื่อปัจจัยความต้องการพื้นฐานถูกเติมเต็มแล้ว สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไปคือกระบวนการคิดและศักยภาพตนเองให้เติบโตขึ้นเพื่อการมีชีวิตที่ดีกว่า

หากเรายังเชื่อมั่นว่าเยาวชนทุกคนควรจะได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างเท่าเทียม อาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ความสำคัญกับเยาวชนเหล่านี้ให้มากขึ้น มองเห็นพวกเขาในฐานะเยาวชนที่จะสามารถเป็นกำลังในการพัฒนาชาติ ไม่ตอกย้ำความผิด ทำให้เขาเชื่อมั่นว่าสังคมนี้ยังมีความยุติธรรมและยังมีพื้นที่สำหรับคนที่ก้าวพลาดได้เสมอ เพราะท้ายที่สุดแล้วเยาวชนกลุ่มนี้ต้องกลับมาใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับเราทุกคนในสังคม

หากไม่มีการสร้างกลไกร่วมกันดูแลพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเป็นระบบ ทอดทิ้งพวกเขาให้เป็นคนชายขอบ เราก็จะสูญเสียโอกาสในหลายๆ ด้านตามมา นี่คือการคืนกลับสู่ชุมชนอย่างประณีตและเท่าเทียมกัน

เด็กก้าวพลาดมีจำนวนมากมาย ความซับซ้อนของปัญหาวิกฤตยิ่ง ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 7 แห่งนี้ มีเยาวชนมากถึง 422 คน แต่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพียงปีละ 2 แสนบาทเศษ ย่อมไม่เพียงพอต่อการพัฒนาองค์รวมคุณภาพที่พึงประสงค์ ผู้เขียนผ่าน สสส. สนับสนุนเงินโครงการนี้ไม่มากนัก แต่ผลที่เกิดขึ้นมากมายจนยากจะบรรยาย

ขอหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น พ่อแม้ผู้ปกครอง สื่อมวลชนปรับกระบวนการคิด ยึดหลักสิทธิเด็ก ให้โอกาส เปิดพื้นที่ ยอมรับการคืนกลับสู่สังคม จัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ เด็กและเยาวชน 422 คน จะไม่ก้าวพลาดอย่างแน่นอน

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
พจนา อาภานุรักษ์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image