‘กอปศ’ เมินกลุ่มค้าน ‘พ.ร.ก.การศึกษาฯ’ ชี้อาจไม่เข้าใจ ยันเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง

นพ.จรัส สุวรรณเวลา

‘กอปศ’ เมินกลุ่มค้าน ‘พ.ร.ก.การศึกษาฯ’ ชี้อาจไม่เข้าใจ ยันเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มครูออกมาคัดค้านการออกพ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ เพราะยังมีข้อบกพร่องและมีผลกระทบโดยตรงต่อบุคลากรทางการศึกษา ว่า กฎหมายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้มีการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว แม้จะออกมาคัดค้านกอปศ. ก็คง ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะกอปศ.ได้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา รวมถึงผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลไปแล้ว สำหรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ยินดีรับฟัง และคิดว่าอาจเกิดจากความไม่เข้าใจ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ให้ความสำคัญและยกย่องความเป็นครูไม่ใช่ยกย่องเรื่องการบริหาร ที่ผ่านมาสังคมมีความเปลี่ยนแปลงจากครู เป็นครูใหญ่ มาเป็นผู้อำนวยการ ให้ความสำคัญกับการบริหารสมัยใหม่เช่นเดียวกันสังคมภายนอกที่เน้นการบริหารเงิน บริหารคน โดยไม่ให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเพียงพอ การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จึงถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง อีกทั้งคำว่า ครูใหญ่ ไม่ได้เล็กกว่าผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่เป็นการกำหนดหน้าที่ของครูใหญ่ ว่าต้องทำให้นักเรียนมีความรู้ มีความสามารถ เป็นคนดี ตรงนี้คือวิธีคิด เช่นเดียวกันกรณีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจุดสำคัญคือ จิตวิญญาณความเป็นครู ไม่ใช่เห็นครูเป็นเพียงอาชีพหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการรับรองความเป็นครูจึงมีระดับที่สูงกว่า เรื่องของใบอนุญาตฯ

“กปอศ.เสนอได้เสนอปัญหาและวิธีการแก้ไข แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นด้วยว่า ต้องยกย่องความเป็นครู ดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นใบรับรองความเป็นครู ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง การปฏิรูปครั้งนี้ จะเป็นการคืนศรัทธา และยกย่องครูอย่างแท้จริง ไม่ใช่ครูเป็นลูกน้องผู้บริหาร เป็นการเปลี่ยนจากระบบบริหารไปเป็น ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญคือ โรงเรียน ที่เป็นจุดสำคัญไม่ใช่ระบบบริหาร”นพ.จรัสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มที่ออกมาคัดค้านมีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ นพ.จรัสกล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ถามกันคือ เงินวิทยฐานะจะหายไปหรือไม่ ซึ่งแม้จะเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นครูใหญ่ ทุกอย่างก็ยังอยู่เช่นเดิม เพียงผู้ที่จะได้วิทยฐานะใหม่ จะต้องได้ด้วยความดีและการทำงาน ไม่ใช่การทำเอกสาร ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้ในพ.ร.ก.การศึกษาแห่งชาติ แต่จะต้องไปออกเป็นระเบียบหรือกฎหมายลูกให้สอดคล้องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image